หมอธีระ คาดแนวโน้มการระบาด BA.5 คนติดเชื้อแต่ไม่แจ้งอาจเพิ่มขึ้น
3 ก.ค. 2565 15:49 น.
หมอธีระ คาดการณ์การระบาดของ BA.5 ของไทย คนติดเชื้อ แต่ไม่แจ้ง ไม่รักษา ไม่แยกกักตัว อาจเพิ่มขึ้น พร้อมแนะแนวทางรับมือ
วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 3 กรกฎาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 374,474 คน ตายเพิ่ม 616 ศพ รวมแล้วติดไป 553,975,532 คน เสียชีวิตรวม 6,360,613 ศพ 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อิตาลี บราซิล ไต้หวัน ออสเตรเลีย และเม็กซิโก
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 63.01 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 52.92
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
มองสถานการณ์ครึ่งหลังของปี 2565: BA.5 การระบาดระลอกที่ 5 ของไทย
ลักษณะการระบาดของ BA.5: เท่าที่ติดตามข้อมูลมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มี BA.5 ระบาดมาก่อนเรานั้น ตอนนี้มีราว 20% ที่มี peak สูงกว่าระลอกก่อนหน้า โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เสรีใช้ชีวิตโดยไม่ป้องกันตัว กิจกรรมเสี่ยง ความแออัด รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตัวจากหน่วยงานรัฐ
สมรรถนะของประชาชนในการติดตามสถานการณ์: ระบบรายงานสถานการณ์ในปัจจุบันของไทย ไม่สะท้อนสถานการณ์จริง เพราะเลือกรายงานเฉพาะเคสที่ป่วยและเดินทางมารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงจำนวนเสียชีวิตที่ไม่มีโรคร่วม
ดังนั้นประชาชนจึงไม่สามารถใช้ข้อมูลเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ เพื่อตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างทันเวลา ต้องรอแถลงจากหน่วยงาน ซึ่งก็จะไม่รู้ว่าอยากจะแถลงอะไร เมื่อไหร่ และเป็นเศษส่วนเท่าไหร่ของข้อมูลทั้งหมดที่ควรจะรู้ ทำให้ตกอยู่ในสภาพตาบอดคลำช้างได้
การเปลี่ยนแปลงของระบบบริการดูแลรักษา: หลัง 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา สธ.และ สปสช. ยกเลิกบริการระบบ home isolation และให้ประชาชนที่มีสิทธิรักษาพยาบาลไปรับการดูแลรักษาตามสิทธิ นั่นแปลว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีสิทธิบัตรทอง หากตรวจ ATK พบว่าติดเชื้อ หรือมีอาการไม่สบายที่สงสัยว่าเป็นโควิด-19 ก็จะต้องเดินทางไปสถานพยาบาลเอง เพื่อขอรับบริการเจอแจกจบที่สถานพยาบาล ความเสี่ยงและผลกระทบย่อมเกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น
1. คนเบี้ยน้อยหอยน้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาลเพื่อรับการดูแลรักษาเจอแจกจบ
2. คนจำนวนไม่น้อย จะชั่งใจคิดว่าจะคุ้มไหม ที่ต้องเสียเวลารอที่โรงพยาบาล และเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปกลับ เพื่อรับยาที่มีประสบการณ์และทัศนคติในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่ใช่ยาต้านไวรัสรักษาเฉพาะโรค ดังนั้นจึงเลือกที่จะไม่ไป ไม่มีรายงานสถานะการติดเชื้อเข้าระบบ ทำให้ระบบเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ที่มีของหน่วยงานรัฐมีตัวเลขเรื่องการระบาดน้อยกว่าสถานการณ์จริง หากโรคระบาดนี้รุนแรงภายหลัง หรือก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว เช่น ปัญหา Long COVID ตามมา กว่าจะรู้ตัว ก็จะเป็น big wave ของผลกระทบ ยากที่จะรับมือได้ทัน เพราะความไวของระบบไม่มากพอที่จะตามสถานการณ์ได้
3. ปรากฏการณ์ตรวจเองพบว่าติดเชื้อ แต่ไม่แจ้ง ไม่รักษา ไม่แยกกักตัว อาจเพิ่มขึ้น เพราะระบบช่วยเหลือสนับสนุนทางสังคมไม่มี หรือระบบมีแต่เป็นแบบ Risks beyond benefits ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาการระบาดที่แพร่กระจายต่อเนื่องในสังคมได้
4. หลังปรับมาให้มารับบริการเจอแจกจบ การเดินทางมาสถานพยาบาลของผู้ติดเชื้อย่อมมีโอกาสเกิดผลกระทบตั้งแต่การแพร่เชื้อระหว่างการเดินทางในขนส่งสาธารณะ และโอกาสแพร่เชื้อติดเชื้อกันมากขึ้นในสถานพยาบาล เพราะจำนวนผู้รับบริการในสถานพยาบาลที่แออัดอยู่เดิมจากโรคต่างๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19
ภาพรวมจะเห็นได้ว่า จะเป็นลักษณะที่คนในสังคมจะตามสถานการณ์ได้ยาก ความเสี่ยงในสังคมระหว่างการใช้ชีวิตจะสูง และต้องพึ่งพาตนเอง
แนวทางที่เราควรทำ
1. สังเกตสถานการณ์ระบาดรอบตัวเราด้วยตนเอง และปรับวิถีการใช้ชีวิตให้เหมาะสมตามสถานการณ์นั้น
2. การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ ใส่หน้ากากเสมอ จนเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายให้คุ้นชิน จะช่วยลดความเสี่ยงตลอดครึ่งปีหลังนี้ไปได้มาก
3. ที่ทำงานต่างๆ หากมีการกำหนดนโยบายของตนเอง เพื่อตรวจคัดกรองโรคเป็นระยะ และมีนโยบายและระบบดูแลบุคลากรของตนยามที่ติดเชื้อหรือป่วย ก็จะช่วยทำให้ลดโอกาสแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงที่บุคลากรจะเกิดปัญหาระยะยาวจาก Long COVID จนส่งผลกระทบต่อการทำงานที่รับผิดชอบได้
4. โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานรับเลี้ยงเด็กและผู้สูงอายุ ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติระยะยาวที่เน้นการปลอดภัยสำหรับบุคลากรและผู้มารับบริการดูแล นักเรียน นิสิตนักศึกษา เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ การระบายอากาศ การลดความแออัดด้วยการผสมผสานกิจกรรมออนไลน์และออนไซต์ และการใส่หน้ากาก เป็นเรื่องสำคัญมาก
จนถึงปัจจุบัน ที่ทั่วโลกกังวล ไม่ใช่เรื่องการติดเชื้อ เพราะโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลดลงจากการได้วัคซีน แต่ปัญหาความผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID นั้นเป็นเรื่องสำคัญ "การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด"