• เช็ก 4 โรคเกี่ยวกับ "หู" ที่พบได้บ่อย
  • ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ทำให้ประสาทหูเสื่อม คือการสัมผัสเสียงที่ดังมากๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน
  • แนวทางการรักษาโรคเกี่ยวกับหู จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วย โดยจะเริ่มจากการสอบถามลักษณะอาการและซักประวัติโดยละเอียด ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค

หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า "หู" เป็นอวัยวะสำคัญ มีหน้าที่หลักในการได้ยินเสียง และการทรงตัวของร่างกาย แต่ถ้าหากการทำงานของหูผิดปกติ ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บั่นทอนคุณภาพชีวิตทำให้เกิดความเครียด, วิตกกังวล, จิตตก และท้อแท้ ซึ่งมีคนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังประสบปัญหาด้วยโรคเกี่ยวกับหู บางส่วนไม่ทราบสาเหตุ และบางส่วนเกิดจากการสัมผัสเสียงดังต่อเนื่อง หรือแม้แต่ ความเครียด อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเสียงรบกวนในหูได้เช่นกัน

จากข้อมูลของ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อ 31 ธ.ค. 2563 ประเทศไทยมีผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมากถึง 391,785 คน สูงเป็นอันดับ 2 รองจากผู้มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ซึ่งหลายโรคที่เกี่ยวกับหูนั้น เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุและยังไม่มีหนทางรักษาให้หายขาด โดยหลายโรคมีสาเหตุจากพฤติกรรม อารมณ์ และสภาพแวดล้อมที่อาจหลีกเลี่ยงและป้องกันได้

...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคทางหู ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับส่วนประกอบของหูว่ามี 3 ส่วน ดังนี้

  • หูชั้นนอก ได้แก่ ส่วนของใบหู, รูหู และเยื่อแก้วหู
  • หูชั้นกลาง เป็นเหมือนห้องสี่เหลี่ยม มีกระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกค้อน ทั่ง และโกลน ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับการได้ยิน
  • หูชั้นใน อยู่ลึกสุด ไม่สามารถมองเห็นได้จากการส่องตรวจหู ประกอบด้วยส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินและการทรงตัว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ทำให้ประสาทหูเสื่อม คือ การสัมผัสเสียงที่ดังมากๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน นอกจากนี้ ยังเกิดจากศีรษะได้รับการกระแทกบ่อยๆ รวมถึงการรับประทานยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการได้ยินและการทรงตัว 4 โรคเกี่ยวกับหูที่พบบ่อย ผู้ป่วยโรคทางหูที่มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีอาการที่แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ

1. ผู้ที่มีปัญหาทางด้านการได้ยินที่ลดลง เช่น รูหูตีบ แก้วหูทะลุ การอักเสบติดเชื้อในหู ระบบประสาทหูชั้นในเสื่อม ฯลฯ ทำให้หูอื้อ หูตึง จนถึงขั้นหูดับเฉียบพลัน

2. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว เช่น มีอาการเวียนหัว บ้านหมุน เดินโคลงเคลง ฯลฯ

โรคทางหูที่พบได้บ่อย มีดังนี้

1. น้ำในหูไม่เท่ากัน

เกิดจากการที่ร่างกายสร้างน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ หรือมีการระบายน้ำในหูได้น้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนเป็นเวลา 20 นาทีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง และมีอาการบ้านหมุนมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป มีระดับการได้ยินลดลงในหูข้างที่เป็นโรค โดยจะสูญเสียการได้ยินเสียงที่ความถี่ต่ำ (เสียงทุ้ม) มีเสียงรบกวนในหูในลักษณะต่างๆ เสียงรบกวนในหูอาจจะดังบ้างเบาบ้าง มีอาการแน่นหู หูอื้อ ระดับการได้ยินขึ้นๆ ลงๆ

2. ตะกอนหินปูนในหูหลุด

พบมากกว่าอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากผลึกหินปูนในหูชั้นใน ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาการทรงตัวของร่างกาย มีการเคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้เวลาที่เราเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่างๆ หินปูนที่หลุดออกมาจะกลิ้งไปตามการขยับของศีรษะ ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุนสัมพันธ์กับการขยับศีรษะระยะเวลาในการเกิดอาการบ้านหมุนส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 นาที

3. การสูญเสียการได้ยินแบบประสาทหูเสื่อม

เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับการได้ยินลดลง ส่วนหนึ่งเป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัยและยากที่จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งเกิดจากความเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทหูชั้นใน ทำให้การได้ยินลดลง และบางรายอาจมีอาการเสียงรบกวนในหู (Tinnitus) ซึ่งมีกลไกการเกิดที่ค่อนข้างซับซ้อน สำหรับคนไข้ที่ได้ยินเสียงรบกวนในหู ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น เสียงวี้ด, เสียงซ่า, เสียงคล้ายจิ้งหรีด ฯลฯ กลไกการได้ยินปกติเกิดจากเมื่อเสียงภายนอกเข้ามาในหู หูชั้นในจะเปลี่ยนพลังงานเสียง ให้เป็นกระแสประสาทส่งไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยิน สมองจะรับรู้และแปลความหมายเสียงนั้น

แต่ถ้าหูชั้นในมีการเสื่อมสภาพ จะไม่สามารถเปลี่ยนพลังงานเสียงให้เป็นกระแสประสาทที่ดีได้ ทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยิน ได้รับกระแสประสาทที่มีผิดเพี้ยนหรือไม่ครบถ้วนไป เมื่อสมองรับรู้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้นสมองจะทำงานเพิ่มขึ้น (Hyperactivity) เพื่อแก้ปัญหา ส่งผลให้เกิดการสร้างเสียงรบกวนสะท้อนกลับมาให้ได้ยิน ซึ่งบางคนได้ยินเสียงรบกวนดังในหูตลอดเวลา บางคนได้ยินเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในเวลาที่มีความเครียด, เหนื่อย, พักผ่อนน้อย หรืออยู่ในที่เงียบๆ เช่น เวลานอน อาจจะทำให้เสียงรบกวนในหูดังเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเสียงดังในหูอีกแบบหนึ่งซึ่งดังเป็นจังหวะและบุคคลรอบข้างอาจได้ยิน หรือตรวจพบเสียงรบกวนด้วย ได้แก่ เสียงดังในหูตามจังหวะชีพจรซึ่งเกิดจากโรค ที่เกี่ยวกับเส้นเลือดหรือเสียงที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหูมีการกระตุก ซึ่งผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจรักษา

4. ประสาทหูดับฉับพลัน

เป็นอีกหนึ่งโรคทางหูที่สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วยอย่างมาก มักจะเกิดกับหูข้างใดข้างหนึ่ง ที่ได้ยินเสียงเบาลงทันทีในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดเส้นเล็กๆ ที่ไปเลี้ยงที่หูหรือเกิดจากไวรัสโจมตีเส้นประสาทเกี่ยวกับการได้ยิน ถ้ามีประวัติศีรษะกระแทกพื้นอาจเกิดการฉีกขาดของโครงสร้างในหูชั้นใน ผู้ป่วยไม่ถึง 10% เกิดจากเนื้องอกในหูส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ผู้ที่ประสาทหูดับฉับพลันมีโอกาสหายได้ ถ้ามาพบแพทย์โรคหูและได้รับการรักษาในเวลาที่รวดเร็ว การวินิจฉัยและแนวทางการรักษาโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในหู

ขั้นตอนการรักษาโรคเกี่ยวกับ "หู"

สำหรับแนวทางการรักษานั้น จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วย โดยจะเริ่มจากการสอบถามลักษณะอาการและซักประวัติโดยละเอียดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค หากพบมีปัญหาการได้ยิน แพทย์จะตรวจดูการทำงานของหูชั้นกลาง ถ้าคนไข้มีอาการเวียนศีรษะ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว ก็จะต้องมีการตรวจระบบประสาทและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ส่วนการรักษาผู้ป่วยประสาทหูดับฉับพลัน คือ การให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยากิน, การฉีดยาเข้าเส้นเลือด หรือฉีดเข้าไปในหู จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้ยินให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียง โดยการรักษาทางเลือกเสริมซึ่งมีให้บริการในโรงพยาบาลบางแห่งคือการใช้ตู้อัดแรงดันออกซิเจน 100% (Hyperbaric Oxygen Therapy) ดังนั้นถ้าเริ่มรู้ตัวว่ามีปัญหาการได้ยินลดลงหรือมีเสียงรบกวนในหูควรรีบมาพบแพทย์

ผู้ที่ประสาทหูเสื่อม มีความสามารถได้ยินเสียงลดลง แต่ยังไม่ถึงขั้นหูหนวก สิ่งที่ช่วยได้คือเครื่องช่วยฟัง ซึ่งทำหน้าที่เหมือนลำโพงที่รับเสียงเข้ามาแล้วขยายพลังงานเสียงเข้าไปในหูชั้นในได้มากขึ้น ถ้าประสาทหูเสื่อมและมีเสียงรบกวนในหูด้วยการใส่เครื่องช่วยฟังจะทำให้เสียงรบกวนลดลงได้ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องช่วยฟังที่ฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ และการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมสำหรับผู้ที่หูหนวก 2 ข้าง ทำให้สามารถกลับมาได้ยินเสียงได้อีกครั้ง ซึ่งผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยินจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย ผศ.พญ.ภาณินี กล่าวเสริมว่า การดูแลคนไข้ไม่ใช่แค่การตรวจรักษาและสั่งยาเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการอธิบายให้คนไข้รู้ถึงอาการป่วย การดำเนินของโรค และแนวทางการรักษา เพื่อให้คนไข้มีความเข้าใจ ดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun