แพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร พบผู้ป่วย "โรคพยาธิปอดหนู" ขึ้นตา เหตุจากการรับประทานอาหารดิบเป็นประจำ รุนแรงขั้นทำคนไข้ตาบอด พร้อมแนะให้ทานอาหารที่ปรุงสุก-สดสะอาดเท่านั้น


วันที่ 2 ก.พ. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร หมู่ 9 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย อาจารย์นายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา และ ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันแถลงข่าวหลังพบผู้ป่วย โรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา เป็นสาเหตุทำให้ตาขวาบอด 1 ข้าง เผยเป็นผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลก

ผศ.พญ.สิรินันท์ จักษุแพทย์เจ้าของไข้ เผยว่า คนไข้เป็นหญิงอายุ 40 ปี ทำอาชีพข้าราชการ ได้เข้าพบหมอด้วยอาการตาพร่ามัวข้างเดียวมาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยไม่พบสาเหตุ จึงได้นัดทำการตรวจตาอย่างละเอียดอีก 3 สัปดาห์ต่อมาด้วยวิธีการขยายม่านตาและพบว่าตามีการอักเสบและพบพยาธิในวุ้นตา ถือเป็นรายแรกของจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจากรายงานสถิติเคยพบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลก ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2505 โดยทั่วโลกมีการรายงานพบผู้ป่วยไม่เกิน 50 ราย และพบมากที่สุดในไทยเป็นผู้ป่วยจากภาคอีสาน ซึ่งรายงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 18 ราย จึงต้องส่งตัวผู้ป่วยรักษาร่วมกับจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา

ทางด้าน นายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา เผยว่า หลังจากได้รับเคสผู้ป่วยมาพบว่าตาคนไข้มีการอักเสบและพบพยาธิในน้ำวุ้นตา จึงทำการรักษาด้วยการให้ยาฆ่าพยาธิและยาลดอักเสบ จากนั้นได้ทำการผ่าตัดโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงสามารถนำตัวพยาธิออกมาจากตาได้ จึงได้นำส่งตรวจพบว่าพยาธิที่พบเป็น "พยาธิปอดหนู" ความยาวประมาณ 0.5 ซม.

...

สำหรับสาเหตุที่เรียกว่าพยาธิปอดหนู เพราะพยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศ จะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู เมื่อตัวอ่อนไชเข้าหอยทากหรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง, หอยขม, หอยเชอรี่, กุ้งน้ำจืด, ปลาน้ำจืด แล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ในระยะนี้หากคนรับประทานอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง, ไขสันหลัง หรือ ดวงตา เป็นต้น

ขณะที่อาการเจ็บป่วย จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่ เช่น เคสของคนไข้รายนี้ที่ตัวพยาธิขึ้นตา จึงทำให้เกิดอาการที่พบบ่อยคือตามัวลงแบบเฉียบพลัน ไม่มีอาการปวด หรือเคืองตาแต่อย่างใด จากการซักประวัติของผู้ป่วยพบว่าชอบทานอาหารสุกๆ ดิบๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกุ้งน้ำจืดที่ทำเป็นเมนู "กุ้งแช่น้ำปลา" และจากการผ่าตัดนำพยาธิออกจากตาเรียบร้อยแล้ว ก็พบว่าตาข้างขวาของผู้ป่วยไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ เนื่องจากตัวพยาธิได้ชอนไชไปยังจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาอักเสบเป็นหนอง ได้รับความเสียหายจึงบอดสนิท ซึ่งหลังจากนี้ได้ทำการนัดรักษาต่อเนื่องเพื่อเช็กอย่างละเอียดว่าพยาธิมีเพิ่มเติมในตำแหน่งอื่นของร่างกายอีกหรือไม่

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศิริเกษม ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนในเรื่องของการรับประทานอาหาร ว่าควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร หยุดทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ให้ทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกและสดสะอาดเท่านั้น เพราะพยาธิในที่อาศัยอยู่ตามสัตว์น้ำจืด เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นอันตราย เหมือนผู้ป่วยเคสนี้ที่ต้องสูญเสียการมองเห็นจากดวงตาข้างขวาไป 1 ข้าง เพียงเพราะชอบทานอาหารสุกๆ ดิบๆ และหากพยาธิเข้าไปอยู่ตามจุดสำคัญในร่างกาย เช่น ระบบประสาท, สมอง, ไขสันหลัง อาจจะถึงขั้นรุนแรงถึงเสียชีวิตได้.