องค์การอนามัยโลก เผยความจำเป็นที่เด็ก 5-11 ปี ควรได้รับวัคซีน หลังมีข้อมูลติดเชื้อเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง และแพร่เชื้อได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก เผยข้อมูลเรื่องความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของเด็กวัย 5-11 ปี ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ World Health Organization Thailand โดยระบุข้อความว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ และล่าสุดรวมถึงเด็กอายุ 11 ปีขึ้นไป เมื่อประชากรในกลุ่มอายุนี้ได้รับวัคซีนมากขึ้น ประเด็นที่เรากำลังสนใจในตอนนี้ก็คือการฉีดวัคซีนให้กลุ่มประชากรที่อายุน้อยลง คือเด็กวัย 5-11 ปี เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับวัคซีนหรือไม่ และจะปลอดภัยไหม

ทั้งนี้ ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ติดเชื้อคนหนึ่งจะแพร่เชื้อและทำให้อีกผู้หนึ่งติดเชื้อ (หรือที่เรียกว่า serial interval) ของสายพันธุ์โอมิครอนนั้น สั้นกว่าสายพันธุ์เดลตาร้อยละ 33 และความเป็นไปได้ของการติดเชื้อ (secondary attack rate) ก็สูงกว่าเดลตา 2 เท่า เรายังพบว่า สายพันธุ์โอมิครอนสามารถหลบกลไกภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนแล้ว (สูงกว่าเดลตา 5.4 เท่า) และทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ที่รับวัคซีนแล้ว (breakthrough infection) ซึ่งหมายความว่าโอมิครอนแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น กระทบคนจำนวนมากกว่า และเร็วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่ปิดและไม่มีการระบายอากาศ เช่น ในบ้าน (โอมิครอนมีอัตราการแพร่เชื้อในบ้านสูงกว่าเดลตา 2.9 เท่า) ด้วยความเร็วของการแพร่ระบาดนี้ มีการทำนายว่าร้อยละ 40 ของประชากรบางกลุ่มจะติดเชื้อด้วยสายพันธุ์โอมิครอนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รวมถึงเด็กๆ ด้วย

...


เด็กอายุ 5-11 ปี กำลังติดเชื้อโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักในสหราชอาณาจักร พบว่า อัตราการเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มเด็กอายุ 5 ปี ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย แม้ว่าร้อยละ 12.7 จะต้องให้ออกซิเจน

ในนิวยอร์ก ช่วงต้นเดือนมกราคม กลุ่มประชากรที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ เด็กวัย 5-11 ปีที่ร้อยละ 465 และอันดับ 1 คือ เด็กอายุ 12-18 ปี ที่ร้อยละ 940 ในช่วงเวลาเดียวกัน กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเด็ก (ร้อยละ 54) ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในนิวยอร์ก ไม่ได้มีโรคประจำตัว โดยที่ 2 ใน 3 (ร้อยละ 64) แสดงอาการของโควิด เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โควิด

ในประเทศแอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รายงานว่า ในผู้ติดเชื้อที่เข้าโรงพยาบาลรวมถึงกลุ่มที่อายุน้อยนั้น การติดเชื้อโควิดเป็นเพียงอาการร่วม หมายความว่า ผู้ป่วยปรากฏอาการของโควิด-19 แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของการเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาล นี่แสดงให้เห็นว่า เด็กก็มีความเสี่ยงจากโควิด-19 และมีโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะร้ายแรง อาจต้องใช้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ และโควิด-19 อาจกระตุ้นให้อาการป่วยเรื้อรังที่มีอยู่เดิมนั้นแย่ลง หรือก่อให้เกิดอาการป่วยเฉียบพลัน

ในประเทศไทย เราพบสายพันธุ์โอมิครอนแล้วใน 77 จังหวัด และแม้ว่าประชากรวัยผู้ใหญ่และเด็กวัย 11-17 ปีจะได้รับวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับประเทศ แม้คนที่ยังไม่ได้วัคซีนเป็นประชากรส่วนน้อย แต่ก็มีมากถึง 31% ของประชากรที่ยังไม่ได้วัคซีนเข็มที่สอง และความเหลื่อมล้ำของการฉีดวัคซีนในจังหวัดต่างๆ ยังคงมีอยู่สูง ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีเสียอีก

เนื่องจากการติดเชื้อโอมิครอนมักไม่แสดงอาการ เราจึงมักไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ซึ่งหมายความว่า โควิด-19 จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวในทุกกลุ่มอายุต่อไป และสถานการณ์ก็แย่ลงไปอีก เนื่องจากโอมิครอนแพร่ระบาดได้ง่าย และลักษณะครัวเรือนของไทยที่คนหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ด้วยกัน

ดังนั้นแม้เด็กส่วนใหญ่จะไม่มีอาการป่วยแม้ติดเชื้อ แต่พวกเขาก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่บุคคลกลุ่มเสี่ยง หรือสมาชิกครอบครัวได้ เด็กบางคนก็อาจป่วยหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากติดโควิด-19 โดยตรง หรือเนื่องจากอาการป่วยจากโรคที่มีอยู่เดิมถูกกระตุ้นให้แรงขึ้น เช่นเดียวกับผู้ใหญ่และวัยรุ่น เด็กก็มีความเสี่ยงจากโควิด-19 ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น.


ขอบคุณ เฟซบุ๊ก World Health Organization Thailand