"กรมการแพทย์" ชี้อาการอ่อนเพลียหลังติดเชื้อ "โควิด-19" มักมีอาการตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันตรวจพบเชื้อ เป็นต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน พร้อมเผยคำแนะนำ
วันที่ 27 ม.ค. 2565 กรมการแพทย์ เปิดเผยอาการ อ่อนเพลียหลังติดเชื้อ "โควิด-19" โดยระบุว่า อาการอ่อนเพลีย เป็นอาการที่บ่งบอกถึงการลดลงของสมรรถภาพทางร่างกาย และ/หรือจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิด มักพบอาการเหนื่อยล้าในผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยปัจจัยเสี่ยง มีดังนี้
- เพศหญิง
- มีประวัติโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า
- มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง
- มีความรุนแรงในระยะติดเชื้อเฉียบพลันมาก
อาการอ่อนเพลีย อาจเกิดร่วมกับอาการเหล่านี้
- มีปัญหาด้านความจำและสมาธิ
- มีอาการเจ็บขณะกลืน
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือรักแร้โต กดเจ็บ
- ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยเกิน 1 วัน
- ปวดศีรษะ
- นอนหลับไม่สนิท
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดตามข้อโดยไม่มีการอักเสบ
ทั้งนี้ หากมีอาการอ่อนเพลียร่วมกับอาการข้างต้นนานกว่า 7 วันควรพบแพทย์ ส่วนคำแนะนำสำหรับอาการอ่อนเพลีย อาทิ เพิ่มกิจกรรมประจำวันทีละน้อยไม่ถึงจุดอ่อนเพลีย, มีช่วงเวลาพักสม่ำเสมอ, ถ้ามีอาการอ่อนเพลียหรือล้าให้หยุดพัก
สำหรับ คำแนะนำสำหรับการเริ่มออกกำลังกาย คือควรเริ่มระดับเบาก่อน แล้วสังเกตระดับความเหนื่อยหรือชีพจร พร้อมปรับเพิ่มความหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ 02-965-9186.
...