บ่ายวันที่ 29 พ.ย.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย และความน่ากังวลโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน”

ย้ำว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยยังไม่พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

การติดเชื้อ “ทั่วโลก” ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา ส่วนสายพันธุ์ที่น่าสนใจอย่าง...“แลมบ์ดา” และ “มิว” ลดบทบาทลงไปแล้ว ขณะที่ “โอมิครอน” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายได้ตรวจรหัสพันธุกรรม ทั้งประเภทตรวจเบื้องต้น การตรวจเป็นส่วน และการตรวจทั้งตัวมาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งนอนใจ

แม้ว่าจะยังไม่พบสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่มีการเฝ้าระวัง ประเด็นสำคัญคือมาตรการที่จะสู้กับ “โอมิครอน” หนึ่ง...ยังเป็นการฉีดวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด เพราะมีภูมิดีกว่าไม่มีภูมิ ถัดมา... ข้อมูลการติดเชื้อทั่วโลกมีน้อย เรื่องความรุนแรง การแพร่เชื้อและหลบภูมิ ยังต้องรอข้อมูล จึงขอให้ใจเย็นๆ อย่าตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ สาม... การทำ Covid Free setting หากทำครบถ้วน โอมิครอนก็จะไม่มีปัญหาในประเทศไทย

...

“ประเทศไทยกำลังเปิดประเทศ ที่เดิมให้ตรวจ RT-PCR และจะหย่อนให้ใช้การตรวจแบบ ATK เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวนั้น จะกลับมาให้ตรวจแบบ RT-PCR ทุกรายเช่นเดิม และหากพบการติดเชื้อก็จะตรวจรหัสพันธุกรรมเพิ่มว่ามีโอมิครอนหลงเข้ามาหรือไม่อย่างไร” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ว่า

เปิดบันทึก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” 29 พฤศจิกายน 2564

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 378,791 คน ตายเพิ่ม 4,138 คน ติดรวม 261,737,293 คน เสียชีวิตรวม 5,216,801 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมนี สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์...

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจาก ทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.67 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.9

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 5,854 คน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก หากรวม ATK อีก 1,622 คน จะขยับเป็นอันดับ 15 ของโลก...ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากตุรกีและเวียดนาม

อัปเดตจากองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับ “Omicron”...“โอมิครอน” รศ.นพ.ธีระ บอกว่า เมื่อคืนนี้องค์การอนามัยโลกออกประกาศล่าสุด สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

หนึ่ง...ยังต้องการข้อมูลวิจัยเพิ่มเติมว่าโอมิครอนจะมีศักยภาพในการแพร่เชื้อติดเชื้อ รวมถึงความรุนแรงของโรค และเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ว่าจะแตกต่างจากสายพันธุ์ที่เราเจอมาก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยในปัจจุบันพบว่ามีการแพร่ระบาดขยายตัวในทวีปแอฟริกามากขึ้น และพบในประเทศอื่นๆด้วย

สอง...ข้อมูลปัจจุบันพบว่าโอมิครอนนั้นทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในคนที่เคยเป็นโรคโควิดมาก่อนมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ (Re-infection) สาม...การใช้สเตียรอยด์ และ IL6 receptor blockers ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่รุนแรง สี่...การตรวจด้วยวิธี RT-PCR ยังสามารถใช้ตรวจสายพันธุ์นี้ได้

และห้า...การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องใส่หน้ากาก เปิดหน้าต่างระบายอากาศในสถานที่ที่เราอยู่ ล้างมือ เว้นระยะห่างจากคนอื่น หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่แออัดหรือระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการไปฉีดวัคซีนด้วย

ข่าวเช้านี้จากสำนักข่าวซินหัว แจ้งว่า “แคนาดาก็พบเคสติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 2 คน หากติดตามจะพบว่าตอนนี้ดูเหมือนจะกระจายไปทั่วแทบทุกทวีป ทั้งแอฟริกา ยุโรป เอเชีย โอเชียเนีย และอเมริกาเหนือ ยังขาดแต่...อเมริกาใต้”

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าแต่ละประเทศอาจมีสายพันธุ์นี้อยู่ได้ การป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรนั้นสำคัญมากครับ ที่สำคัญที่สุดคือ...การทบทวนนโยบายและมาตรการระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกักตัว 14 วัน การตรวจด้วย RT-PCR ในผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ การขยายศักยภาพของระบบการตรวจ

รวมถึงเตรียมทรัพยากรในระบบเพื่อรับมือกับการระบาดที่จะปะทุขึ้นมาจากเดิม...ด้วยรักและห่วงใย

รู้ให้ชัด เอาให้อยู่ สู้การระบาด “ไวรัสโควิด-19” ได้ทุกสายพันธุ์

ความจำเป็นรีบด่วนของการตรวจพีซีอาร์แบบครอบคลุม(broad spectrum PCR)

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า จากการที่ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกมีระดับการควบคุมการติดเชื้อไม่เท่ากัน ทำให้มีการผันแปรของรหัสพันธุกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลกระทบก็คือทำให้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและที่กระตุ้นจากวัคซีนได้ ทำให้มีการติดการเพิ่มจำนวน...การแพร่เชื้อได้รุนแรงขึ้น และอาจหมายถึงอาการที่หนักขึ้นด้วย

ผลกระทบที่สำคัญอีกประการก็คือ หลบหลีกการตรวจด้วย “พีซีอาร์” ซึ่งถือเป็นกระบวนการมาตรฐาน ทั้งนี้ ไวรัสในกลุ่ม omicron (29/11/64) มี aminoacid mutations 42 และ deletion 16 และมี nucleotide mutation 50 ตำแหน่ง กระจายอยู่ในท่อนยีนต่างๆของไวรัส

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาได้ทำการพัฒนาชุดตรวจครอบคลุม ไวรัสทุกกลุ่มที่จัดเป็น variants of concern (VOC) ทั้ง alpha beta gamma delta และ omicron

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

โดยการบรรจุส่วนของรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิดที่ไม่มีความผันแปร (conserved) เข้ากับการตรวจอีกสามยีน ผลที่คาด...เป็นหลักประกันของการตรวจที่ไม่เกิดการหลุดรอด...สามารถชี้ได้ว่าตัวอย่างดังกล่าวอาจเป็นไวรัสในกลุ่มผิดเพี้ยนออกไป ทั้งนี้โดยถ้าได้ผลบวก

เพียง 1 ยีน ที่ conserve โดยยีนอื่นๆตรวจไม่พบทั้งหมดหรือพบบางตัว หรือจำนวนปริมาณของที่ตรวจในแต่ละยีนมีความแตกต่างกันมากจากนั้น...สามารถนำมาตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัวได้

การรับมือ “โรคอุบัติใหม่” คือการประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เพื่อที่จะเตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ...ถ้าไม่เลวร้ายก็ไม่เป็นไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า โอมิครอนมีการยกระดับการแพร่กระจายได้เร็วในประเทศแอฟริกาใต้และจากที่สงบ เริ่มเห็นมีการระบาดใหม่จากตัวนี้เอง และ...ต่อมาเริ่มเห็นอาการหนัก

ประกอบกับโครงสร้างมีการปรับเปลี่ยนในหลายท่อนของรหัสพันธุกรรมที่ทำให้ติดง่ายแพร่กระจาย...อาจรวมไปถึงการดื้อต่อภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและที่ได้จากวัคซีน

“เห็นจากประเทศที่มีการติดเชื้อจะมีผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์หรืออื่นๆครบแล้ว การไม่พบอาการหนักมากเป็นลักษณะปกติของไวรัสโควิดที่ผ่านมาสองปีโดยไม่มีอาการมากถึง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์และจะค่อยๆเริ่มเห็นอาการจนอาการหนักในกลุ่มที่เหลือ”

เมื่อมีการติดเชื้อแพร่เป็นหลาย 1,000...หลาย 10,000 คนจะเริ่มเห็นผู้ที่มีอาการมากขึ้นตามสัดส่วน องค์การอนามัยโลกจัดเป็นกลุ่มไวรัสที่ “ต้องกังวล” และให้ความใส่ใจ...“variant of concern”.