แม่เลี้ยงเดี่ยว แจงดราม่าโพสต์ขาย "นมโรงเรียน" อ้างเสียเงินซื้อมาเหมือนกัน ด้านศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ มองว่าไม่เหมาะสม แต่ไม่ผิดกฎหมาย
วันที่ 7 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ได้โพสต์ขายนมโรงเรียน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าสามารถนำมาขายได้หรือไม่ ต่อมาคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้โพสต์ข้อความอีกว่า "เสียใจนะคะมาด่ากันแบบนี้ ถึงพวกคุณจะลบเมนต์ เราก็ยังเจ็บในใจจากโพสต์นี้ ก่อนจะตัดสินคนอื่น ขอให้ไตร่ตรองสักนิดนะคะ ว่าเขาโกงไหม ไม่ใช่พูดเลยเมนต์เลย ใครที่รู้จักเรา บางคนเราแจกฟรีด้วยซ้ำ เพราะนมที่ได้ฟรี แต่ที่ขายคือ เราซื้อมา คงไม่ไปลักของโรงเรียนมาขายคะ ใครสนใจซื้อเลยจร้าร้านนี้มีเก็บเงินปลายทาง" พร้อมรูปภาพนมโรงเรียน และรูปเพจที่ซื้อนมโรงเรียน ลงในกลุ่มคนบึงสามพัน-สมอทอด จ.เพชรบูรณ์

จากการสอบถาม นางสาวธุวดารา อายุ 31 ปี ชาว อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว อาชีพขายของออนไลน์ เปิดเผยว่า นมที่โพสต์ขายเป็นนมที่ตนเองซื้อมาจากเพจที่ขายนมโรงเรียน ซึ่งตนก็ได้ซื้อมาหลายครั้งแล้ว เพราะเนื่องจากโรงเรียนปิด และลูกก็ไม่ยอมกินนมชนิดอื่นเลย นอกจากนมโรงเรียน ตนจึงได้สั่งมาไว้ให้ลูกกิน ในราคาลังละ 250 บาท บรรจุ 36 กล่อง ค่าขนส่ง 70 บาท ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ไม่เคยโพสต์ขาย
...
แต่บังเอิญลูกได้รับทุนจากโรงเรียน และได้นมโรงเรียนมาอีก 1 ลัง ซึ่งตนเห็นว่านมโรงเรียนที่ซื้อมาจากเพจก่อนหน้านี้ ยังเหลืออีก 1 ลัง ซึ่งลูก คงกินไม่ทันแน่ๆ ตนจึงได้ตัดสินใจโพสต์ขายในราคาลังละ 200 บาท เพื่อจะได้มีเงินไปซื้อขนมให้ลูก ก็เท่านั้น ไม่คิดว่าจะผิดกฎหมายหรือมีคนเข้ามาต่อว่าตนถึงขั้นทุจริตอะไรขนาดนี้ เพราะตนก็เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ นางมณีรัฏ เทียมครู รองศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์รักษาราชการในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ว่า นมโรงเรียนที่ทางผู้ปกครองได้รับแจกจากโรงเรียน คือไม่ให้นำไปประกาศขาย ตามนโยบายมีไว้ให้ลูกดื่ม
แต่สำหรับกรณีที่ผู้ปกครองซื้อมาจากที่อื่น หรืออาจเป็นแหล่งผลิตเดียวกัน เป็นเรื่องที่ไม่สมควรนำไปโพสต์ขาย แนะนำไม่ควรนำไปจำหน่าย แต่ก็ไม่มีกฎหมายว่าห้ามนำไปดัดแปลง หรืออย่างไร แต่ก็คงต้องขอศึกษากฎหมายอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีประเด็นว่าผู้ปกครองที่รับนมไปจะเหลือไปจำหน่ายได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ลักษณะ 2 หมวดที่ 2 ว่าด้วยแดนแห่งกรรมสิทธิ์ และการใช้กรรมสิทธิ์ มาตรา 1336 คำว่าแจกฟรี ห้ามจำหน่ายเป็นการห้ามตัวแทนจำหน่าย ส่วนผู้ที่ได้รับ ถือว่าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ เมื่อได้สถานะนี้แล้ว ผู้นั้นจึงมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ขายทรัพย์สินนั้นได้ตามแต่สะดวก.