ศบค.สธ. เห็นชอบการเพิ่มวัคซีนสูตรไขว้ แอสตราเซเนกา-ไฟเซอร์ เริ่มใช้ช่วงเดือนตุลาคม ต่อจากซิโนแวค-แอสตราเซเนกา ส่วนเข็มกระตุ้นผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ให้ใช้แอสตราเซเนกา
วันที่ 3 กันยายน 64 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ของไทย มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง จำนวนผู้ป่วยรักษาหายสูงกว่ารายใหม่ต่อเนื่อง วันนี้หายป่วย 18,262 ราย รายใหม่ 14,653 ราย เสียชีวิต 271 ราย
ส่วนวัคซีน แอสตราเซเนกา ซิโนแวค และไฟเซอร์ วานนี้ฉีดได้เพิ่มขึ้น 865,074 โดส รวมสะสม 34,292,537 โดส เป็นผู้ได้รับเข็ม 1 รวม 24,542,140 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.1 ได้รับครบ 2 เข็ม 9,152,799 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.7 และเข็มกระตุ้น 597,598 ราย
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้โควิดสายพันธุ์เดลตา ทำให้วัคซีนทุกตัวที่ใช้มีประสิทธิภาพลดลง จึงมีการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพวัคซีน และกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้ โดยการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ผลสอดคล้องกันว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค ตามด้วยแอสตราเซเนกา ทำให้ภูมิคุ้มกันสูงในเวลารวดเร็ว ต่อสู้กับสายพันธุ์เดลตาได้ ซึ่งหลายประเทศ เช่น เยอรมนี และอิตาลี ก็มีการฉีดสูตรไขว้แอสตราเซเนกา ตามด้วยไฟเซอร์
...
สำหรับการฉีดไขว้ในประเทศไทยนั้น วันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 หรือ ศบค.สธ. ได้เห็นชอบการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ดังนี้
1. วัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ เป็นสูตรหลักของประเทศไทย และเพิ่มสูตรไขว้แอสตราเซเนกาตามด้วยไฟเซอร์ ระยะห่าง 4-12 สัปดาห์ ซึ่งสูตรนี้จะใช้แพร่หลายในเดือนตุลาคม เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์จำนวนมาก
2. การฉีดกระตุ้นในผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มด้วยแอสตราเซเนกา
3. ผู้ที่หายป่วยโควิดในช่วง 1-3 เดือน ซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนยังไม่ครบ 2 เข็ม หรือครบ 2 เข็มแต่ไม่ถึง 14 วันแล้วติดเชื้อ ให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ 1 เข็ม
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวย้ำว่า ผลการวิจัยวัคซีนสูตรไขว้นั้น มีความปลอดภัย และทำภูมิคุ้มกันขึ้นสูง ที่สำคัญหญิงตั้งครรภ์ก็สามารถฉีดได้
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ให้ประชาชนในประเทศไทยโดยได้ติดต่อกับบริษัทต่างๆ เพื่อสั่งจองซื้อวัคซีน ขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ผลิตได้สำเร็จ การจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา มีการลงนามสัญญาจองซื้อตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีมีวัคซีนออกมา จึงไม่ได้กำหนดเวลาส่งมอบชัดเจน แต่มีการหารือมาเป็นระยะ
และจากการที่โรงงานผลิตวัคซีนอยู่ในประเทศไทย เมื่อผลิตสำเร็จจึงมีการส่งมอบให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกและได้รับอย่างต่อเนื่องตามที่ตกลงกัน โดยเดือนกันยายนนี้ส่งมอบอย่างน้อย 7.3 ล้านโดส ตุลาคม 10 ล้านโดส และพฤศจิกายน-ธันวาคมเดือนละ 13 ล้านโดส
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีการติดต่อพูดคุยกับตัวแทนของทางไฟเซอร์อย่างต่อเนื่อง จนมีการลงนามในสัญญา 2 ฉบับ รวมวัคซีน 30 ล้านโดส ส่งมอบลอตแรกปลายกันยายน 2 ล้านโดส ตุลาคม ประมาณ 8 ล้านโดส และพฤศจิกายน-ธันวาคมเดือนละ 10 ล้านโดสจนครบ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐอเมริกาได้กระจายให้กลุ่มเป้าหมายแล้ว ซึ่งทำให้วัคซีนแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์จะเป็นวัคซีนที่มีมากที่สุดใน 3-4 เดือนข้างหน้า ทำให้เกิดความมั่นคงของวัคซีนที่มีเพียงพอและคนไทยเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง