ปิดแฟ้มอย่างรวดเร็ว “คดีผู้กำกับโจ้ และพวกทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดใช้ถุงดำครอบหัวขาดอากาศหายใจเสียชีวิต” สามารถตามผู้ก่อเหตุ 7 คนมาลงโทษตามกฎหมายได้ในไม่กี่วัน
เหตุการณ์นี้เสมือน “การเปิดบาดแผลให้สังคมเห็นเนื้อร้าย” ที่ถูกปกปิดมานานจนกลายเป็นแผลติดเชื้อลุกลามเป็นวงกว้างสร้างความเสียหายกระทบต่อภาพลักษณ์เป็นวิกฤติศรัทธาวงการตำรวจไทยมานาน
จุดกระแสภาคประชาสังคมออกมาผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... เรียกร้องการปฏิรูปองค์กรตำรวจ เชิงโครงสร้าง กระบวนการ กฎระเบียบ เพื่อให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนโปร่งใสตรวจสอบได้ ที่ให้อัยการเข้ามากำกับการสอบสวนตั้งแต่ต้นในชั้นตำรวจ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บอกว่า ตามหลักการกระทำความผิดอาญาทั่วไปในชั้นจับกุมผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อาญา ม.66 ความผิดโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี “พนักงานสอบสวน” ต้องรวบรวมพยานหลักฐานขอหมายจับจากศาล โทษจำคุกต่ำกว่า 3 ปี ต้องออกหมายเรียก
หากผู้นั้นไม่มาตามนัดไม่มีข้อแก้ตัวให้สันนิษฐานว่า “จะหลบหนีก็ขอหมายจับ” ยกเว้น “เหตุความผิดซึ่งหน้า” ที่เป็นความผิดแน่แท้ต่อหน้าตำรวจก็สามารถจับกุมไม่ต้องมีหมายจับแล้วนำตัวส่งพนักงานสอบสวนโดยพลัน สามารถควบคุมตัวผู้กระทำความผิดไว้เพื่อทำการสอบสวนได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง
...
ทว่า... “คดีเกี่ยวกับยาเสพติด” มีข้อปฏิบัติต่างจาก “คดีอาญาทั่วไป” เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2519 ให้อำนาจการตรวจค้นจับกุมกรณีที่มีเหตุสงสัยว่า “ผู้นั้นมียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ทำได้ไม่ต้องมีหมาย” ถ้าจับกุมแล้วสามารถนำตัวไปสอบสวนขยายผลพื้นที่อื่นใดได้ก่อนส่งพนักงานสอบสวนไม่เกิน 3 วัน...ทั้งที่จริงแล้ว “ตำรวจ” ต้องผ่านการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ส.ให้อำนาจตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิดยาเสพติดเป็นการเฉพาะที่ต้องทำตามระเบียบเคร่งครัด ด้วยการรายงาน คกก.ป.ป.ส.โดยทันที
แต่ทางปฏิบัติทำตามระเบียบนั้นหรือไม่ เพราะมักปรากฏปัญหานำผู้ต้องหาเข้าเซฟเฮาส์จนถูกมองเป็นลักษณะกระทำการมิชอบด้วยกฎหมายหลายประการที่เกิดจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้อำนาจมากกว่า ป.วิ.อาญา ทั้งที่จริงตำรวจสามารถจับกุมคดียาเสพติดมีอำนาจคุมตัวสอบสวนได้ 48 ชม. ตามป.วิ.อาญาที่ไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษ พ.ร.บ.ปราบปรามยาเสพติดฯ จนสังเกตว่าตำรวจมุ่งจับยาเสพติดมากกว่าอบายมุขด้วยซ้ำ
ประการถัดมา “เหตุละเมิดสิทธิผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน” เพื่อให้รับสารภาพนี้เป็นการกระทำของคนบางกลุ่มที่ปฏิบัติต่อกันมารุ่นสู่รุ่นไม่มีสูตรตายตัว เสมือนอำนาจใช้ขู่คนร้าย หรือคนไม่ดีให้รู้สึกกลัว ยกเว้นว่า “หัวหน้าสถานีเป็นคนจิตใจดี” ไม่ชอบความรุนแรงเข้มงวดในเรื่องนี้ก็จะไม่มีใครกล้ากระทำการเกินกว่าเหตุ
ลือกันขนาดว่า “ถุงคลุมหัวเป็นอุปกรณ์มาตรฐานประจำห้องสืบสวนเสียด้วยซ้ำ” ในการใช้ข่มขู่กดดันให้ผู้ต้องหาหวาดกลัวแล้วยอมรับสารภาพต่อความผิดนั้น แต่ก็ไม่มีจุดประสงค์ให้ถึงขั้นต้องเสียชีวิต
ดังนั้น “การใช้ถุงดำครอบหัวผู้ต้องหา” ไม่ใช่เรื่องใหม่ กรณีผู้กำกับโจ้หนักมือจนผู้ต้องหาเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวของเจ้าพนักงานของรัฐเท่านั้นที่จำเป็นต้องให้ “อัยการ” เข้ามาเป็น หน.ชุดสืบสวนด้วย แต่กลับไม่แจ้งตามขั้นตอนกฎหมาย ซ้ำร้ายยังให้ข้อมูลเท็จต่อ “แพทย์” สาเหตุเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดอีก
โชคดีมีคลิปวิดีโอหลุดออกมาชัดเจน มิเช่นนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่
การแก้ปัญหาระยะสั้นอยากเสนอ “ทวนปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” ส่วนการจับกุมต้องบันทึกภาพเสียงตามที่ “ผบ.ตร.” เคยมีคำสั่งกำหนดแนวทางปฏิบัติ การบันทึกในการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา ที่จะป้องกันการทำสำนวนมิชอบได้ระดับหนึ่ง
ระยะยาว “พิจารณาแก้ไขเพิ่ม ป.วิ.อาญา” แยกสายงานสอบสวนให้เป็นสายสอบสวนโดยตรง ในกรณีคดีสำคัญต้องรายงานให้ “อัยการ” ทราบแล้วเข้ามากำกับดูแลตรวจสอบตั้งแต่เกิดเหตุได้เลย เพื่อถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ให้มีความโปร่งใสดังที่ “กระบวนการสอบสวนของตำรวจทั่วโลก” ทำกันอยู่นี้
เบื้องต้นเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา ต่อนายกฯแล้ว แต่ยัง “ไม่นำเข้าสู่สภาฯ ตราเป็นกฎหมาย” เพื่อปฏิรูปตำรวจ และระบบงานสอบสวนคดีอาญาโดยเร็ว
เช่นเดียวกับ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า ที่ผ่านมาประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิในขั้นสอบสวนเยอะมากตั้งแต่ 10 ปีก่อนมีลักษณะการทรมานแบบมีบาดแผลตามร่างกายกลายเป็นหลักฐาน แต่ก็มักมีข้ออ้างเป็นบาดแผลขัดขืนต่อสู้จากการจับกุมเสมอ
ตัวอย่างกรณีเกิดเหตุในภาคใต้ “ผู้ต้องหาถูกทรมานจนสมองบวมเสียชีวิต” ทำให้ญาติผู้ตายฟ้องร้องคดีต่อศาล “ตำรวจ” อ้างเป็นบาดแผลเกิดจากการต่อสู้ขัดขืนในการจับกุมตัว สุดท้ายศาลมีคำสั่งให้เยียวยาสาเหตุเพราะเป็นการเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่สามารถดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้
นับแต่นั้นในช่วง 5 ปีหลังนี้สังเกตว่า “การทรมานแบบมีบาดแผลหายไป” กลับมีการร้องเรียนลักษณะการใช้ถุงดำคลุมหัว จับนอนหงายเอาผ้าขนหนูปิดหน้าใช้น้ำราดให้สำลักหรือวอเตอร์บอร์ดดิ้งเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นคำให้การผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวมัก “ไม่มีหลักฐานชัดเจน” จนเป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบดำเนินคดี...ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อว่า “ถ้าไม่ใช้วิธีซ้อมทรมานกดดันมักไม่ยอมพูดรับสารภาพ” ทำให้วิธีการนี้คงเกิดขึ้นอยู่ตลอด เพราะเสียงประชาชนคนธรรมดาขาดน้ำหนักหลักฐานชัดเจน
อย่างกรณี “ผกก.โจ้” ถ้าไม่มีคลิปหลุดออกมาเรื่องคงเงียบหายเช่นกัน เพราะ “พ.ร.บ.ปราบ ปรามยาเสพติดฯ” ให้อำนาจการจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายควบคุมตัวได้ 3 วัน ในเวลานี้ก็ไม่แจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อาญาม. 7/1 เช่น แจ้งญาติทราบ สิทธิพบปรึกษาทนายให้ฟังการสอบปากคำ สิทธิจะให้การ หรือไม่ให้การก็ได้
สาเหตุจาก “ประเทศไทย” ให้ความสำคัญกับ “การปราบปรามยาเสพติด” ค่อนข้างรุนแรงในช่วงสงครามยาเสพติดมีผู้เสียชีวิต 2,000-3,000 คน สุดท้าย “ยาเสพติด” คงมีอยู่มากมายเช่นเดิม ดังนั้นต้อง “ทบทวนปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ปราบปรามยาเสพติดฯหรือไม่” ที่มีความจำเป็นใดที่ให้อำนาจในการควบคุมตัวได้ถึง 3 วัน...หากว่า “ต้องการขยายผลตามจับกุมเครือข่ายยาเสพติด” สามารถใช้กฎหมาย ป.วิ.อาญา ควบคุมสอบสวนได้ 48 ชม. ถ้าดำเนินการไม่เสร็จนำตัวฝากขังยื่นคำร้องขอผัดฟ้องแล้วนำตัวมาสอบสวนต่อให้เสร็จก็ได้ เพื่อให้ผู้ต้องหามีความปลอดภัยกว่าการนำตัวไปอยู่ “เซฟเฮาส์” ที่องค์กรอิสระใดไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยซ้ำ
สมัยทำงานกรรมการสิทธิฯเคยเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวของหลายครั้ง แต่เพราะด้วย “ไม่พบหลักฐานการทรมานในขั้นการสอบสวนยากต่อการตรวจสอบ” แม้มีหลักฐาน “ผู้เสียหาย” กลับถอนแจ้งความจาก “ความกลัว” กลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการหยุดยั้งพฤติกรรมมิชอบเหล่านี้มาตลอด
ย้ำว่า...ถ้ารัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทรมาน และการบังคับสูญหายฯ ตราเป็นกฎหมายแล้ว “กฎหมายใดขัดต้องปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.นี้” โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ปราบปรามยาเสพติดฯที่ให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหามากกว่า ป.วิ.อาญานี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชน
แน่นอนว่า “พ.ร.บ.ทรมาน บังคับสูญหายฯ” จะช่วยให้ญาติผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องความเสียหายได้ เพราะ ป.วิ.อาญาให้เฉพาะผู้สืบสันดาน บุพการี ทั้งยังมีบทลงโทษผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด จนทำให้มีพฤติกรรมกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายขึ้นนี้ด้วย
อีกทั้งยังมีการตั้ง คกก.กลาง ตรวจสอบกรณีประชาชนถูกทรมานและบังคับสูญหาย ที่ไม่ใช่หน่วยงานตำรวจเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนต่อไป เบื้องต้น “พ.ร.บ.ฉบับนี้” ครม.เสนอเข้าสู่ “สภาฯ” แล้วแต่ไม่รู้ว่าจะทันก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 18 ก.ย.นี้หรือไม่ ถ้าไม่ทันก็ต้องยื่นเสนอใหม่ในสมัยประชุมครั้งต่อไป
คราวนี้คงเป็นหน้าที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแก้ปัญหารักษาบาดแผลนี้ที...ต้องตัดเนื้อร้ายสร้างความเสียหายเด็ดขาด เพื่อกอบกู้วิกฤติศรัทธาให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่น.