• ลุงพงษ์ ชายไร้บ้าน กับสถานการณ์ช่วงโควิด-19 อะไรคือสิ่งที่ต้องการจริงๆ
  • มูลนิธิกระจกเงา สะท้อนปัญหาของคนไร้บ้าน 5 สิ่งที่คนไร้บ้านต้องการ แต่ยังเข้าไม่ถึง
  • ขณะที่ พม. ระบุช่วงโควิด พบตัวเลขคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ที่ไม่เข้าระบบ เพราะส่วนใหญ่มีอิสระในการใช้ชีวิต ในขณะที่การมาอยู่รวมกัน ต้องมีกฎระเบียบรองรับ



“ถ้าพูดไปแล้ว เขาให้ไม่ได้ ก็ไม่อยากจะไปคิดถึงคำขอนั้น เพราะเหมือนขอในสิ่งที่เขาให้ไม่ได้ มันก็ไม่น่าพูดออกไป”
ประโยคที่ออกมาจากความรู้สึกของ ลุงพงษ์ ชายไร้บ้าน วัย 60 ปี เมื่อเราถามว่า ถ้าส่งเสียงถึงคนมีอำนาจได้ 1 ข้อ อยากบอกอะไร

ในช่วงวิกฤติโควิด หลายคนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม “คนไร้บ้าน” ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้เช่นกัน

ลุงพงษ์ เป็นพ่อค้า ที่ออกมาใช้ชีวิตอยู่ที่ราชดำเนิน ก่อนที่จะไปบวชนาน 8 เดือน หลังจากสึกออกมา ช่วงเดือน พ.ย.2563 ก็พบว่า ของที่เก็บไว้ในห้องว่างเช่าสนามหลวง โดนงัดเอาไปเกือบหมด เหลือของเพียงกระเป๋าเป้ 1 ใบ จึงออกมาใช้ชีวิตอยู่ที่ราชดำเนินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะแถวนั้น มีคนนำข้าวมาแจกบ่อยครั้ง ทำให้สามารถประทังชีวิตไปได้

แต่ความโชคร้ายก็ยังไม่หมด เมื่อกระเป๋าเป้ ที่มีของซึ่งซื้อมาไว้ขาย ถูกเทศกิจยึดไป ก็เรียกว่า แทบจะหมดตัว ถือเป็นเรื่องหนักสุดในชีวิต เพิ่งเคยเข้าใจคำว่า “หมดตัว” จริงๆ ว่าเป็นยังไง แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตไปอีกแบบ เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอ โชคดีที่ยังเหลือเอกสารสำคัญอยู่กับตัว

กระทั่งได้มาทำงานกับ มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นรายได้ทางเดียวที่เรามี ทำงานอาทิตย์ละ 1 วัน ได้รายได้ 400 บาท แต่ช่วงที่โควิดระบาดหนัก ทำให้ต้องหยุดงานชั่วคราว แต่เขาก็ยังโอนเงินให้เรา เมื่อก่อนมองว่า เงิน 500 คือไม่ได้มากอะไร แต่เดี๋ยวนี้เริ่มรู้สึกเห็นค่าของเงินมากขึ้น ก็ขอบคุณที่เขาให้เงินเราใช้

...

เงินเยียวยาก็เคยได้ แค่ครั้งเดียว

เมื่อถามลุงพงษ์ว่า เคยได้เงินเยียวยาหรือไม่ ลุงพงษ์บอกกับเราว่า ก็เคยได้เงินจากโครงการ “เราชนะ” มา 1 ครั้ง ช่วงที่ทำงานอยู่ที่มูลนิธิกระจกเงา เราได้ยินคนอื่นเขาพูดกันว่า รัฐบาลแจกเงิน เลยไปที่ธนาคาร ให้เขาช่วย ทำให้ได้เงินเยียวยามา และก็ไม่เคยได้อีกเลย

ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เคยมาเดินแจกเงินคนละ 1,000 บาท ให้คนไร้บ้านแถวราชดำเนิน ตอน 3 ทุ่ม

“มันไม่ใช่แค่โควิดหรอก แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็มีส่วน ถ้าเศรษฐกิจดี คนก็ออกมาจับจ่ายซื้อของ พอมาเจอโควิดซ้ำ คนก็ไม่ออกจากบ้าน ไม่ใช้เงิน”

เมื่อถามว่า ลุงเคยได้ตรวจโควิดบ้างหรือเปล่า ลุงพงษ์ บอกว่า ไม่เคยตรวจ เพราะคิดว่ายุ่งยาก ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไม่สบาย เป็นไข้หวัด ก็ไปหาหมอที่มีสิทธิ์รักษาฟรี แต่ก็ไม่ขอให้ตรวจโควิด เพราะกลัวว่าเขาจะกักตัวเราไว้ กินยาตามอาการ ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว เหลือแค่ไอ เพราะสมัยวัยรุ่นสูบบุหรี่จัด

ส่วนวัคซีน จากที่ติดตามข่าว ก็คงรอฉีดวัคซีนที่ไทยผลิตได้เอง แต่คนแถวราชดำเนิน ไม่ค่อยมีคนติดเชื้อโควิดนะ เพราะว่าบริเวณนี้เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทหมุนเวียน

ไม่เข้าระบบ เพราะไม่ใช่สิ่งที่คนไร้บ้านต้องการจริงๆ

ลุงพงษ์ บอกเหตุผลที่ไม่เข้าระบบโครงการคนไร้บ้านของ พม. ให้เราฟังว่า คนที่เคยเข้าไปอยู่ เล่าว่า มีที่พักฟรี มีข้าวให้กินฟรี 3 มื้อ ต้องเข้าออกเป็นเวลา คนก็มาจากหลากหลายที่ ไปไหนไม่ได้ หลายคนที่ทะเลาะกัน หนีออกมาก็มี ฟังดูแล้วมันจำเจ กิน นอน ไม่อิสระเหมือนอยู่ข้างนอก ยังนั่งรถเมล์ไปไหนมาไหนได้ เพราะเรามันคนรักอิสระ

ส่วนตัวเคยเจอป้ายที่หัวลำโพง บอกมีที่พักฟรี อาหารฟรี ให้โทรไป 1300 พอลองโทรไปแล้วปรากฏว่าขั้นตอนเยอะมาก ในใจก็คิดว่า เขาคงไม่อยากมาเลี้ยงดูพวกเราเท่าไร

ถ้าพูดกันตรงๆ ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคือ “เงิน” เพราะสิ่งของที่เขาแจก บางอย่างได้รับมาแล้วหลายครั้ง ไม่มีที่เก็บ อย่าง สบู่ ก็ต้องเอาไปขายต่อในราคาถูกๆ เพื่อให้ได้เงินมาแทน

สะท้อนมุมมอง “คนไร้บ้าน” อะไรคือสิ่งที่ต้องการจริงๆ

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา เล่าถึงสถานการณ์ของคนไร้บ้านให้เราฟังว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นมากพอสมควร มีคนไร้บ้านหน้าใหม่ จากสาเหตุตกงาน ไม่มีรายได้ และกลับบ้านไม่ได้

ซึ่งทางกระจกเงาเอง มีการดูแลคนไร้บ้าน ผ่านงานสองโครงการด้วยกัน คือ “โครงการผู้ป่วยข้างถนน” ซึ่งดูแลกลุ่มคนไร้บ้านที่มีปัญหาทางสุขภาพ แต่มีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาได้ และ “โครงการจ้างวานข้า” เป็นโครงการที่ทำการจ้างงานกลุ่มคนไร้บ้าน เพื่อให้คนไร้บ้านได้มีรายได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนไปถึงการเปลี่ยนผ่านจากสภาพไร้บ้านมามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้น

ในช่วงโควิด ทางมูลนิธิได้ช่วยกลุ่มคนไร้บ้าน ตั้งแต่เรื่องของการแจกอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง การสนับสนุนเงินยังชีพคนละ 1,000 บาท ทำงานร่วมกับทาง พม. ในส่วนการทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงการตรวจโควิด และการได้รับวัคซีน


แต่ปัญหาที่คนไร้บ้านต้องเผชิญอยู่ตอนนี้ มีอยู่ด้วยกัน 5 เรื่องคือ การเข้าถึงอาหาร, การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากโควิด, ขาดรายได้ยังชีพ, ขาดที่พักอาศัยที่เหมาะสมสำหรับป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด และการเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข อย่างเช่น การตรวจโควิด การได้รับวัคซีน

ซึ่งปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐของคนไร้บ้าน ถือเป็นปัญหามาก ตั้งแต่เรื่องของเงินช่วยเหลือ เพราะขาดเครื่องมือลงทะเบียน อย่างสมาร์ทโฟน หรือการที่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐในด้านที่ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เช่น เรื่องอาหาร เรื่องที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการในระบบสาธารณสุข ทั้งในเชิงการป้องกัน การรักษาพยาบาล ในเงื่อนไขสถานการณ์โควิดได้

ทั้งนี้ สิ่งที่คนไร้บ้านต้องการจริงๆ ณ เวลานี้ เป็นเรื่องของอาหารที่สะอาด อร่อย การมีรายได้ มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยในลักษณะให้ไปนอนรวมๆ กัน การได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐจากโรคโควิด เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เข้าถึงการตรวจโควิด และการเข้าถึงวัคซีน

จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ช่วง “โควิด”

ขณะที่ข้อมูลจาก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า จำนวนคนไร้บ้านในปัจจุบัน (ทั้งในระบบและนอกระบบ) ปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ จากเดิม 2,719 คน เป็น 3,534 คน (เพิ่มขึ้น 815 คน) โดยกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากเดิม 1,033 คน เป็น 1,342 คน (เพิ่มขึ้น 309 คน) โดยพบมากบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนราชดำเนิน ตรอกสาเกเยาวราช เป็นต้น

ทั้งนี้ หน่วยงานภายใต้สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่มีบทบาทภารกิจในการคุ้มครอง ดูแล ให้เข้าถึงบริการอย่างเหมาะสม ซึ่งมี 2 ส่วน ได้แก่ การดูแลในลักษณะสถาบัน ได้แก่ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 11 แห่ง และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิต จำนวน 3 แห่ง และการป้องกัน เฝ้าระวัง หรือคุ้มครองชั่วคราวในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทุกจังหวัด 77 แห่ง

โดยในปีงบประมาณ 2564 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินการคุ้มครองคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 กรกฎาคม 2564 มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 24,823 ราย แบ่งเป็น

1. ผู้ใช้บริการในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง พบจำนวน 4,464 คน แบ่งเป็น คนไร้ที่พึ่ง 1,237 คน คนขอทาน 5 คน และผู้ป่วยจิตเวช 3,222 คน (คิดเป็นร้อยละ 72)

2. ผู้ใช้บริการในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พบจำนวน 20,298 คน เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3,333 ราย และการให้บริการผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากในชุมชน จำนวน 16,965 คน

ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีภารกิจดูแล คุ้มครองกลุ่มเป้าหมาย คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติการควบคุมขอทาน พ.ศ. 2559 โดยมีกลไกการทำงานใน 2 ระดับ ได้แก่

กลไกระดับนโยบาย มีการดำเนินงานด้านการกำหนดนโยบาย มาตรฐาน มาตรการการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครอง พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีกลไกคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และคณะกรรมการควบคุมการขอทาน

กลไกระดับปฏิบัติการ จัดบริการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ เชิงป้องกัน มีกลไกศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานเคลื่อนที่เร็วในจังหวัด ดำเนินกิจกรรมโครงการเชิงป้องกัน และพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมในชุมชน ในกรณีพบคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง จะดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น ติดตามหาญาติ ส่งกลับภูมิลำเนา การบำบัดฟื้นฟูและพัฒนาทักษะ ส่งเข้าทำงาน ทำบัตรประชาชน และประสานส่งสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับรักษาอาการทางจิตเวช เป็นต้น

และเชิงสถาบัน มีกลไกสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ ให้การคุ้มครองกรณีคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง ไม่สามารถกลับสู่ครอบครัวได้ โดยผู้ใช้บริการจะได้รับสวัสดิการสังคม การเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ การส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างโอกาสในสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การสนับสนุนให้คนไร้ที่พึ่งมีงานทำ มีที่พักอาศัย และการป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อคนไร้ที่พึ่ง โดยมีเป้าหมายในการคืนคนไร้ที่พึ่งกลับคืนสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม

ไม่เข้าระบบ เพราะรักอิสระ ไม่ชอบกฎระเบียบ

จากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า โดยมากกลุ่มคนไร้บ้าน นับว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่ยังมีศักยภาพ สามารถพึ่งพาตนเองในระดับหนึ่ง หรือเพื่อประทังชีวิตอยู่รอดในแต่ละวัน และงานที่เขาเหล่านี้ทำจะเป็นการจ้างงานรายวัน งานแรงงาน งานเก็บของเก่าขาย หรือบางรายค้าขาย ประกอบกับอุปนิสัยของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ต้องการพื้นที่ของตัวเอง อยู่ใกล้ที่ทำงาน และมีอิสระในการใช้ชีวิต ไม่ต้องการไปอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บริการของรัฐ มีอยู่อย่างจำกัด

อีกทั้ง ที่ตั้งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอยู่ห่างไกลจากแหล่งจ้างงาน มีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน และมีคนไร้ที่พึ่งที่เป็นกลุ่มผู้ป่วย และผู้ป่วยจิตเวชพักอาศัยจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่งในกลุ่มคนปกติส่วนใหญ่ไม่เข้ารับบริการ