“ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 วัคซีน” โพสต์ โดย “นพ.ยง ภู่วรวรรณ” 28 มิถุนายน 2564
ข้อที่หนึ่ง...วัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่และองค์การอนามัยโลกรับรองสามารถลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อที่สอง...วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ยังคงต้องปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตใหม่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
ข้อที่สาม...ประชากรโลกมี 7 พันล้านคน ความต้องการของวัคซีนจึงมีสูงมากที่จะยุติการระบาดของโรคนี้ หรือจะต้องให้วัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านคน หรือ 10,000 ล้านโดส ขณะนี้เพิ่งฉีดไปร่วม 3,000 ล้านโดส 1 ใน 3 ฉีดในประเทศจีน และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวยทำให้วัคซีนในปัจจุบันยังมีความขาดแคลน
ข้อที่สี่...วัคซีนในปัจจุบันนี้แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ เชื้อตาย, โปรตีนซับยูนิต, ไวรัสเวกเตอร์ และ mRNA เรียงตามเทคโนโลยีจากเก่าไปหาใหม่ เทคโนโลยีเชื้อตายใช้กันมากกว่า 50 ปี ส่วน mRNA เป็นวัคซีนที่ใช้ครั้งแรกในมนุษย์
...
ข้อที่ห้า...อาการข้างเคียงชนิดเชื้อตายจะมีอาการข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น เจ็บบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด และอาการตามระบบ เช่น ไข้ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว พบได้น้อยมากและน้อยกว่าไวรัสเวกเตอร์และ mRNA รวมทั้งอาการรุนแรงอย่างอื่น เช่น การเกิดลิ่มเลือด VITT ใน Virus Vector และ TTP ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกี่ยวพันกับ mRNA วัคซีน
ข้อที่หก...ระดับภูมิต้านทานของ mRNA และ Virus Vector จะสูงกว่าชนิดเชื้อตายและโปรตีนซับยูนิต
ข้อที่เจ็ด...ระดับภูมิต้านทานที่ขึ้นของวัคซีนจะขึ้นเป็นแบบเอกซ์โพเนนเชียล (Exponential) ดังนั้นความแตกต่างของบุคคลจึงมีมาก เช่น บางคนได้หลักสิบ บางคนได้หลักร้อย บางคนได้หลักพัน บางคนได้หลักหมื่น
“เราจึงไม่ใช้ว่า คนนี้มีภูมิต้านทานสูงกว่าคนนี้สิบเท่าหรือร้อยเท่า ในทางห้องปฏิบัติการการตรวจวัดภูมิต้านทาน เราจะทำน้ำเหลืองให้เจือจางเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันเท่าอยู่แล้ว”
ในกรณีที่วัดภูมิต้านทานที่สูง ตัวอย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบบี ใช้ระดับต่ำสุดในการป้องกันโรคเพียงแค่ 10 การให้วัคซีนบางคนขึ้นเป็นหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น และหลักแสน ก็ยังเคยเจอ
เช่นเดียวกันกับการวัดปริมาณไวรัสในผู้ป่วย (Viral Load) จะใช้เป็นสเกล Log แต่โดยมากเมื่อขึ้นสูงก็จะลงเร็วมาก ร่างกายจะไม่เก็บไว้ ถ้าเก็บไว้ระดับ Globulin จะสูงมาก...จะปลดเป็นกองหนุนหมด
และ...เมื่อเชื้อโรคเข้ามาก็จะระดมออกมาอย่างรวดเร็วเหมือนมีหน่วยความจำ หรือฝึกไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากโควิด–19 มีระยะฟักตัวสั้นจึงทำให้การป้องกันการติดเชื้อไม่สมบูรณ์ แต่สามารถป้องกันความรุนแรงหรือเสียชีวิตได้
ข้อที่แปด...ปัจจุบันยังไม่มีบรรทัดฐานที่ว่าระดับภูมิต้านทานขนาดไหนจะป้องกันโรคได้ ดังนั้น การวัดภูมิต้านทานจึงใช้เปรียบเทียบกับผู้ที่หายป่วยจากโรคแล้ว ว่าภูมิที่วัคซีนสร้างขึ้นเท่าเทียมหรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการหายจากโรคแล้ว
ข้อที่เก้า...ในผู้ที่หายจากโรคแล้วมีระดับภูมิต้านทานที่แตกต่างกันมาก ในผู้ที่เป็นน้อยภูมิต้านทานจะต่ำกว่าในผู้ที่มีอาการมากหรือมีปอดบวมหรือลงปอดหรือผู้ที่มีไข้สูงยาวนาน
ข้อที่สิบ...วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ทำคล้ายไวรัสตับอักเสบบี สร้างโปรตีนในส่วนของหนามแหลมไวรัส จุดสำคัญอยู่ที่การใช้สารเสริมกระตุ้นภูมิต้านทานที่เรียกว่า Adjuvant เพราะโปรตีนหนามแหลมนี้มีขนาดใหญ่ เราจะเห็นว่า “วัคซีน Novavax” ที่คนไทยพูดถึงกันบ่อยและอยากได้ใช้
แต่...องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่รับรอง อยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้ เพราะมีสารกระตุ้นภูมิต้านทาน Adjuvant ตัวใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ในมนุษย์ที่เรียกว่า Matrix M ได้มาจากเปลือกไม้ต้น Molina
ส่วนของจีนเองก็พัฒนาแต่ต้องให้ 3 ครั้งเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบีคือ 0, 1, 6 เดือน ซึ่งจะเสียเวลาในการกระตุ้นภูมิต้านทานให้ได้อย่างรวดเร็ว
...ติดตามต่อในวันต่อไป #หมอยง
ย้อนไปก่อนหน้า ประเด็น “วัคซีนโควิด–19 กับการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์” ตามวิวัฒนาการของไวรัส “ไวรัส”...จะมีการกลายพันธุ์เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเราจะเห็นว่ามีการกลายพันธุ์ตั้งแต่ Alpha, Beta, Gamma, Delta หรือแต่เดิมที่เราเรียกว่าสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha), สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta), สายพันธุ์อินเดีย (Delta)
ขณะที่ “วัคซีน” ส่วนใหญ่ทั้งหมดจะพัฒนาจากสายพันธุ์เดิมคือสายพันธุ์อู่ฮั่น
“สายพันธุ์อังกฤษยังไม่หลบหลีกประสิทธิภาพของวัคซีนมากนัก สายพันธุ์แอฟริกาใต้หลบหลีกได้มาก แต่ขณะเดียวกันอำนาจการกระจายโรคได้น้อยกว่า สายพันธุ์ Delta หรืออินเดียมีอํานาจการกระจายสูงและหลบหลีกภูมิต้านทานได้แต่น้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้”
การมีอำนาจการกระจายสูงสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์และระบาดทั่วโลกจากเดิมเป็นสายพันธุ์อังกฤษ...ในทำนองเดียวกันในประเทศไทยแต่เดิมเป็นสายพันธุ์ G และก็โดนสายพันธุ์อังกฤษระบาดเข้ามาเกิดระบาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ขณะนี้เริ่มมีสายพันธุ์อินเดียเพิ่มขึ้น
และ...มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในประเทศไทยอย่างแน่นอน
“ประเทศไทย” จำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังดูสายพันธุ์ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสายพันธุ์อะไรและป้องกันไม่ให้สายพันธุ์ Delta...อินเดีย ระบาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อรอจำนวนวัคซีนที่จะมาและหรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีนในอนาคตให้ตรงและจำเพาะกับสายพันธุ์
“เราต้องรีบให้วัคซีนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ขณะนี้ให้เร็วที่สุดถึงแม้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วัคซีนที่ใช้อยู่ก็ยังสามารถป้องกันได้แต่อาจจะมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง อย่างน้อยก็ลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างแน่นอน”
ความรู้ “โควิด–19” เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องติดตามห้ามกะพริบตา เกี่ยวกับเรื่อง “โควิด–19 สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดได้ง่าย” คุณหมอยงบอกไว้ว่า ทราบกันดีว่าสายพันธุ์เดลตาหรืออินเดียระบาดได้ง่าย เดิมสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)...กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ G มากจึงระบาดไปทั่วโลก...สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ก็ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษอีก จึงมีแนวโน้มระบาดมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษอย่างแน่นอน
ขณะนี้แนวโน้มของ “สายพันธุ์เดลตา” ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดและจะทำให้เกิดการระบาดง่ายขึ้น การควบคุมก็จะยากขึ้น การที่จะลดการระบาดของโรคในขณะนี้สามารถทำได้โดย “ระเบียบวินัย” ที่เคร่งครัดในการ “ป้องกันตนเอง” อย่างที่ปฏิบัติกันมา
ไม่ว่า...จะใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่างต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ลดการเคลื่อนย้ายของแรงงานอย่างเด็ดขาด ให้ “วัคซีน” ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด...ในการลดความรุนแรงของโรคและการแพร่กระจายให้ได้มากที่สุด.