นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วนั้น ที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างรุนแรง จนนายกรัฐมนตรี ยอมรับฟังข้อเรียกร้องและมอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาแต่มิได้มีตัวแทนเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เข้าร่วมการประชุมวันนั้นทราบว่าได้ข้อสรุปให้กฤษฎีกาแก้ไข 4 ประเด็นคือ

1.ให้ใช้ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพครู เช่นเดิม 2.ให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงและเป็นวิชาชีพควบคุม 3.ให้เปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา 4.ให้ปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กลับส่งให้กฤษฎีกาแก้ไขเพียง 3 ข้อแรก โดยไม่นำเสนอข้อที่ 4 จึงเป็นที่สงสัย

นายธนชน กล่าวอีกว่า องค์กรครูทั่วประเทศต่างไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งในมาตรา 106 ที่ให้อำนาจปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชา ให้อำนาจกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้นำแทรกแซงรัฐสภาในการออกกฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และสาระบัญญัติ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีมาตราใดที่กล่าวถึงหน่วยงานการศึกษาระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษาแต่อย่างใด แต่กลับกล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีอำนาจจัดการประชุมประธานคณะกรรมการสถานศึกษา แทนที่จะเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัด

จึงเป็นที่คลางแคลงใจว่าโครงสร้าง ศธ.ระดับจังหวัดหรือเขตพื้นที่การศึกษาจะมีหรือไม่หรือจะให้ปลัด ศธ.มอบอำนาจการบังคับบัญชาครูให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เกิดการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเข้าสู่โครงสร้างอำนาจนิยมมากยิ่งขึ้น โครงสร้างอำนาจดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...

การมีหน่วยงานการศึกษาระดับพื้นที่ โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษา ยังมีความจำเป็น เพราะจะเป็นโซ่ข้อกลาง คอยประสาน ส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ของสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมาตรา 88 และมาตรา 93 ที่บัญญัติถึงองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และอำนาจหน้าที่ แสดงถึงการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างชัดเจน จึงอยากให้รัฐบาลและรัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยความรอบคอบ รับฟังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงให้มาก.