ขณะที่การหาทางรับมือสถานการณ์โควิดกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นนั้น ภารกิจแก้ไขภาวะโลกร้อนก็กำลังพุ่งไปอย่างไม่แพ้กัน โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ออกแถลงร่วมกันรณรงค์ในหัวข้อ : บทบาทสำคัญของไทยในการเร่งแก้ไขภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ใจความระบุว่า พันธมิตรอังกฤษ อิตาลี สหรัฐฯ มัลดีฟส์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหภาพยุโรป ร่วมกับสหประชาชาติ พร้อมร่วมสนับสนุนประเทศไทยให้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
เพียงไม่ถึงหนึ่งปีหลังประเทศไทยเผชิญภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี จังหวัดเชียงใหม่ก็เจอไฟป่าอีกเป็นปีที่สามติดต่อกัน ส่งผลให้สภาพอากาศเป็นพิษ ภัยธรรมชาติเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไฟป่าที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อคนไทยแล้ว
อันที่จริงประเทศไทยจัดเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศสุดโต่งอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเสียด้วยซ้ำ
ทุกประเทศล้วนมีบทบาทในระดับโลกคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่าหากจะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 45-50 ภายในปี 2573 ความร้อนที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงครึ่งองศาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภัยแล้ง น้ำท่วม อากาศร้อนสุดโต่ง และการเพิ่มของระดับน้ำทะเล ที่จะทำให้คนอีกหลายร้อยล้านรายตกอยู่ในสภาวะยากจนยิ่งขึ้น
ส่วนแผนระยะยาว จำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ซึ่งคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้ไม่มากไปกว่าการกำจัดก๊าซที่มีอยู่ให้ได้ภายในปี 2593-2613
...
กว่า 110 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศของพวกเราได้ให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้า Net Zero ภายในปี พ.ศ.2593 มัลดีฟส์ได้ประกาศว่าจะบรรลุเป้า Net Zero ภายในปี 2573 โดยได้รับการสนับสนุนอย่างยั่งยืนและเพียงพอจากประเทศต่างๆ และไม่นานมานี้ในภูมิภาคเอเชีย นอกจากสาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และลาวที่ได้เข้าร่วมประกาศความมุ่งมั่นนี้แล้ว จีนก็ได้ประกาศที่จะบรรลุเป้า Net Zero ภายในปี 2603 เช่นกัน
ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ดังนั้นสิ่งที่ไทยลงมือดำเนินการในประเทศจะส่งผลไปถึงระดับโลก ...วันนี้ เนื้อที่หมดแล้ว ไปว่าต่อกันพรุ่งนี้ครับ.
ตุ๊ ปากเกร็ด