การติดเชื้อโควิด-19 ไทยยังยืนเกิน 2 พันคน ตายเพิ่มอีก 17 พบอยู่ใน กทม.เกินครึ่ง เล็งถก กทม. คัดกรองผู้ป่วยให้เร็วขึ้น หลังพบผู้ติดเชื้อคลองเตย อาการป่วยพัฒนาไปเร็ว หวั่นผู้ป่วยรุนแรงยิ่งพุ่ง ขณะที่หมอดาหน้าแจงคนป่วยตายล้วนมีปัจจัยเสี่ยงจากโรคประจำตัว ขณะเดียวกัน หลาย จังหวัดเริ่มจับตา คนแห่หนีกรุงเดินทางกลับบ้านเกิด ไม่แจ้งพื้นที่ จ่อนำเชื้อกลับไปด้วย ด้านประธาน บ.แอสตราฯมาเอง ระบุวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอฯ ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้วเตรียมพร้อมส่งมอบวัคซีนชุดแรกให้รัฐบาลไทยข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ที่เป็นวัคซีนหลักของชาติ “แอสตราเซเนกา” มาแล้ว เมื่อบริษัทผู้ผลิตการันตีลอตที่ผลิตในไทยผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านคุณภาพ ขณะที่การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในไทย แม้ยังสูงแต่ผู้รักษาหายก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

สปสช.ย้ำคนไทยรักษาฟรี

...

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 9 พ.ค.ก่อนการแถลงข่าวประจำวันของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้นำคลิปของ นพ.จเด็จ ธรรมรัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาเปิด นพ.จเด็จระบุว่า การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ประชาชนต้องเข้ารับบริการตามที่ รพ. หรือแพทย์กำหนด คนไทยมีทุกสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ วิสาหกิจ หน่วยงานอิสระ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนการเรียกเก็บค่ารักษาในรายการเดียวกันแต่เกินกว่าราคาขอให้ส่งเรื่องมาสายด่วน 1330 จะรับเรื่องและประสานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ส่วนนี้ต้องคืนเงินประชาชน และที่ประชาชนอาจจะเข้าใจผิด เช่น เป็นกลุ่มเสี่ยงมาตรวจคัดกรอง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆให้มาเก็บกับ สปสช. ทั้งค่าห้องทุกประเภท ค่าอาหาร ค่ายา ค่าการป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ค่าแพทย์ ค่าพยาบาลทั้งหมด ถ้าอยู่ในรายการเหล่านี้เบิกได้ทั้งหมด ยืนยันผู้ป่วยโควิดทุกรายต้องได้รับการรักษาฟรี

ป่วยใหม่เกิน 2 พัน-ตายเพิ่ม 17

จากนั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,101 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,086 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 83,375 คน หายป่วยสะสม 53,605 คน เฉพาะวันนี้หายป่วย 2,186 คน อยู่ระหว่างรักษา 29,371 คน อาการหนัก 1,442 คน ใส่ท่อช่วย หายใจ 394 คน มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 17 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 9 คน ในจำนวนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ 1 คน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง อ้วน ลมชักไตเรื้อรัง ตับแข็ง ปอดเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ปัจจัยเสี่ยงมาจากครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้า ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมนับตั้งแต่เกิดการระบาดในไทย 399 คน

หวั่นหมอพยาบาลติดเชื้อ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค.และอีโอซีกระทรวงสาธารณสุข มีการวิเคราะห์หาสาเหตุของบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-7 พ.ค. พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 512 คน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลร้อยละ 34 และมีอาการถึง 285 ราย ไม่มีอาการ 181 ราย ทั้งนี้ มีถึง 57 จังหวัด ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ และมากที่สุดอยู่ใน กทม. 137 ราย ปัจจัยเสี่ยงมาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันขณะทำงาน สัมผัสเพื่อนร่วมงานที่ป่วย

ลักลอบข้ามแดนโผล่ 5 คน

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 คน ในจำนวนดังกล่าวมี 5 คน ที่ลักลอบเข้าประเทศเข้ามาผ่านทางช่องทางธรรมชาติ ทั้งหมดเป็นคนไทย มาจากเมียนมา 1 คน มาเลเซีย 2 คน และกัมพูชา 2 คน ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นมาสามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ถึง 15,378 คน ในจำนวนนี้เป็นเมียนมา 6,072 คน ลาว 882 คน กัมพูชา 5,114 คนมาเลเซีย 31 คน ไทย 1,691 คน และอื่นๆ 492 คน เฉพาะเดือน เม.ย.มีผู้ลักลอบเข้าเมือง 32 คน นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.ได้เน้นย้ำให้ฝ่ายความมั่นคงทำหน้าที่อย่างแข็งขัน และขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนช่วยแจ้งเบาะแสเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานง่ายขึ้น

อินเดียเข้าไทยต่อเนื่อง

กระนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ 15 คนนั้น มาจากประเทศอินเดีย เป็นชายชาวอินเดีย 2 คน อาชีพนักธุรกิจ อายุ 45 ปี และ 43 ปี จากปาปัวนิวกินี 1 คน เป็นชายไทย อายุ 49 ปี อาชีพทำเหมืองทอง ซูดาน 1 คน เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี สิงคโปร์ 3 คน เป็นหญิงไทย 2 คน อายุ 37 และ 29 ปี กับชายชาวสิงคโปร์ อายุ 35 ปี อินโดนีเซีย 1 คน เป็น นร.ไทย อายุ 19 ปี เยอรมนี 2 คน เป็นชายไทย อายุ 31 ปี และหญิงไทย อายุ 36 ปี

กทม.แชมป์ติดเยอะสุด

ส่วน 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากสุดในวันที่ 9 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า ได้แก่ กทม. 980 คน นนทบุรี 221 คน สมุทรปราการ 108 คน ชลบุรี 96 คน สมุทรสาคร 95 คน เฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อ กทม.และปริมณฑลในวันที่ 9 พ.ค. รวมทั้งสิ้น 1,457 คน ถือว่าเกินครึ่งของผู้ติดเชื้อในวันเดียวกัน ในส่วนของ กทม.มีความต้องการใช้เตียงและโรงพยาบาลสำหรับคนไข้ที่มีอาการหนักและปอดอักเสบเพิ่มขึ้น เพราะแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักใน กทม. และปริมณฑลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อใน กทม. เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา 10 เขต ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ ป้อมปราบศัตรูพ่าย 31 คน คลองเตย 19 คน ปทุมวัน 18 คน ดินแดง 14 คน ลาดพร้าว 12 คน ราชเทวี 11 คน ห้วยขวาง 11 คน จตุจักร 10 คน วัฒนา 10 คน และวังทองหลาง 9 คน

เดินหน้าปูพรมตรวจเชิงรุก

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า กลยุทธ์สำคัญของ กทม. ตอนนี้คือการตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุดในพื้นที่เป้าหมาย โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-8 พ.ค.มีการตรวจเชิงรุกสะสม 107,366 คน พบเชื้อ 2,874 คน เฉพาะเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ตรวจเชิงรุก 6,869 คน พบเชื้อ 241 คน อยู่ระหว่างรอผล 7,377 คน ยืนยันว่าเราจะตรวจเชื้อเชิงรุกต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุมชนที่มีความชุกสูง ไม่ว่าจะเป็นคลองเตย ที่มี 39 ชุมชน และเคหะบ่อนไก่ ปทุมวัน ที่จะตรวจต่อเนื่องทุกวัน ทั้งนี้ จะมีการตรวจเชิงรุกที่ชุมชนบ้านญวน หลังบ้านมนังคศิลา เขตดุสิต ในวันที่ 9-11 พ.ค. ประตูน้ำ เขตราชเทวี วันที่ 11 พ.ค. แฟลตดินแดง ย่านพระราม 9 วันที่ 10-11 พ.ค. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย วันที่ 11 พ.ค. และเขตอื่นๆด้วย

นายกฯเตรียมเดินสายดูฉีด

นอกจากนี้ มีรายงานว่าในสัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะไปตรวจเยี่ยมและติดตามทดลองระบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามจุดต่างๆ วันที่ 11 พ.ค. ที่จุดฉีดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ก่อนเปิดให้บริการประชาชนกลุ่มเป้าหมายเจ้าหน้าที่ด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานเก็บขยะทั้ง 50 เขต และครู เป็นต้น ในวันที่ 12 พ.ค. ตั้งเป้าวันละ 1 พันคน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. จากนั้นวันที่ 13 พ.ค. นายกฯตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีน ที่สามย่านมิตรทาวน์ และจามจุรีสแควร์ วันที่ 14 พ.ค. ตรวจเยี่ยมจุดฉีดเดอะมอลล์บางกะปิ อย่างไรก็ตาม กทม.หอการค้าไทย รพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดจุดฉีดวัคซีนเพิ่มจากเดิม 14 จุด เป็น 25 จุด

พม.เปิดสายด่วนเพิ่มการดูแล

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ครอบคลุมเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ป่วยโควิด-19 แต่อาจได้รับผลกระทบ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สั่งเปิดสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศเป็นการเฉพาะ สำหรับพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ได้เตรียมสถานที่พักพิง อาทิ กรณีเด็กจะใช้สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี (เฉพาะเด็กหญิง) สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (เฉพาะเด็กชาย) สถาบันประชาบดี พร้อมประสาน กทม. และกระทรวงสาธารณสุข ส่งต่อเข้ารับการรักษาและดูแลการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน เตรียมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และเจ้าหน้าที่ พม.ทั่วประเทศช่วยกลุ่มเปราะบาง

แจงผู้ป่วยกลับมาตายหน้าบ้าน

ต่อมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรม การแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากฮอสพิเทลหลังรักษาหาย ขึ้นแท็กซี่กลับบ้านย่านชุมชนถนนบริพัตร พอถึงบ้านล้มและเสียชีวิตลงว่า ต้องขอเสียความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตด้วย กระบวนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กำหนดให้ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ หรือนับจากวันที่เริ่มมีอาการ คนไข้คนดังกล่าวได้มารับการรักษาพยาบาลในฮอสพิเทลที่สถาบันมะเร็งดูแลยืนยันเป็นการรักษาตามมาตรฐาน เมื่อทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อสถาบันได้จัดรถไปรับมาดูแลที่โรงพยาบาลตลอดการรักษาพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เอกซ์เรย์ปอดก็ปกติ แม้แต่เพื่อนที่ห้องพักเดียวกันเห็นว่าคนไข้แข็งแรงดี ตอนกลับยังร่ำลาเพื่อนร่วมห้องพัก ทางสถาบันได้ย้ำถามแล้วว่าให้แจ้งญาติมารับหรือไม่ แต่คนไข้ยืนยันจะกลับบ้านเอง

ระบุตายจากโรคระบบหัวใจ

นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ตามปกติผู้ป่วยไม่มีทางที่จะมีอาการเฉียบพลัน หรือทรุดลงโดยไม่มีสาเหตุ เบื้องต้นได้ส่งศพให้สถาบันนิติเวชตรวจชันสูตรแล้ว และทราบว่าการเสียชีวิตน่าจะเกี่ยวกับโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ การรักษาโควิด-19 ของผู้ป่วยทุกคนปฏิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนด ทั้งการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ชัดเจนว่าผู้ป่วยรายนี้ทำตามหลักเกณฑ์คืออยู่ในกระบวนการรักษาจนครบ เพราะเมื่อนับระยะเวลาการรักษาผู้ป่วยรายนี้ถูกรับมารักษาพยาบาล หลังจากผ่านทราบผลติดเชื้อไปแล้ว 3 วัน และอยู่โรงพยาบาล รวม 11 วัน เท่ากับครบ 14 วันพอดี

ถก กทม.เร่งคัดกรองคลองเตย

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้พบปัญหาการคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่คลองเตย อาจล่าช้าไม่รวดเร็ว ทำให้เริ่มพบผู้ป่วยในพื้นที่คลองเตยจากผู้ป่วยสีเขียว พัฒนาเป็นสีเหลืองและเพิ่งถูกส่งตัวมาจากศูนย์แรกรับส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ที่สนามกีฬานิมิบุตร ประมาณ 7-8 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสีเหลือง 1-2 คน และพบว่าจากเดิมในพื้นที่คลองเตยพบผู้ป่วยสีเหลืองแค่ร้อยละ 4-5 แต่เมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 พ.ค. พัฒนาไปร้อยละ 10 มอบหมายให้ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ หารือกับสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. เจ้าของพื้นที่ให้เร่งแก้ไขปัญหาว่าทำอย่างไร จะเร่งคัดกรองและนำตัวผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาเข้าระบบให้เร็วที่สุด ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีการอาการรุนแรงมากขึ้น

กทม.จองคิวฉีด 5 แสนคน

ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปิดเผยว่า ข้อมูลการจองเพื่อขอรับวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม สำหรับประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1.25 ล้านคน จากทั้งประเทศ 16 ล้านคน และมีการจองคิวแล้ว 507,437 คน คิดเป็นร้อยละ 41จองผ่านไลน์หมอพร้อม ร้อยละ 70 แอปพลิเคชันหมอพร้อม ร้อยละ 30 เฉพาะใน กทม. ถือว่าได้รับการตอบรับพอสมควร เนื่องจากเมื่อมีการสื่อสารและทำความเข้าใจ ส่วนหนึ่งเข้าใจและจองการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนต่างจังหวัดใช้ช่องทาง อสม. และรพ.สต. เป็นหลักในการจอง ขณะนี้ข้อมูลกำลังเข้ามาสู่ระบบส่วนกลาง สำหรับผู้จองฉีดวัคซีนโควิดผ่านระบบ “หมอพร้อม” จะเริ่มฉีดช่วงเดือน มิ.ย.นี้ จะเป็นการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา

แอสตราฯไทยผ่านตรวจ

ส่วนความคืบหน้าการส่งมอบวัคซีนแอสตรา-เซเนกาให้ไทยนั้น เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวอย่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของแอสตราเซเนกาทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว และเตรียมพร้อมที่จะส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชุดแรกให้แก่รัฐบาลไทยเร็วๆนี้ ทั้งนี้ บริษัทแอสตราเซเนกาได้สร้างเครือข่ายการวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ผลิตจากทุกแหล่งการผลิตของแอสตราเซเนกานั้น มีคุณภาพดีสม่ำเสมอตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ บริษัทแอสตราฯยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของวัคซีนให้ตรงตามมาตรฐานและข้อกำหนดของประเทศไทย และมีเป้าหมายที่จะส่งมอบวัคซีนที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยให้กับรัฐบาลไทยโดยเร็วที่สุด

ซิโนแวค 2 เข็มสร้างภูมิได้จริง

วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงการศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในไทยว่า เมื่อฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือน กับการตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม เป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเทียบกับการตรวจภูมิต้านทานในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์ หลังติดเชื้อจะเห็นว่าระดับภูมิต้านทานของวัคซีนซิโนแวคเมื่อฉีดครบแล้ว 2 ครั้ง มีค่าระดับภูมิต้านทานเฉลี่ย 85.9 unit/ml ส่วนภูมิต้านทานหลังฉีดแอสตราฯ เพียงเข็มเดียวมีค่าเฉลี่ย 47.5 unit/ml เมื่อเทียบกับภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 60.9 unit/ml และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะตรวจพบภูมิต้านทานได้ 98-99 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อตรวจพบภูมิต้านทานได้ 92.4 เปอร์เซ็นต์

รอดูระยะเวลาภูมิต้านทาน

ศ.นพ.ยงระบุด้วยว่า จากข้อมูลนี้ไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ว่าถึงแม้ว่าจะเป็นโรคแล้ว ระดับภูมิต้านทานก็ยังแตกต่างกันมากและบางคนตรวจไม่พบ แสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีโอกาสเป็นแล้วเป็นอีกได้ ทำนองเดียวกันการฉีดวัคซีนในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานเท่าใดจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆคือว่าถ้าเรามีภูมิต้านทานจะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโดยทั่วไป จะศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ให้วัคซีนกับกลุ่มที่ให้วัคซีนหลอกหรือไม่ได้ให้วัคซีน แล้วติดตามดูว่ากลุ่มไหนจะมีการเกิดโรคโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาเปรียบเทียบเป็นประสิทธิภาพที่ออกมาเป็นรูปเปอร์เซ็นต์ ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้ดีในประชากรไทย ทั้งซิโนแวค และแอสตราฯ ระดับภูมิต้านทานจะอยู่ไปได้นานแค่ไหนกำลังติดตามระยะยาว โดยเฉพาะถ้าภูมิต้านทานลดลงมาก อาจจะต้องกระตุ้นด้วยวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้สูงอยู่ตลอดเวลา เพราะโรคโควิด-19 มีระยะฟักตัวสั้น ต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดรายการป้องกันการติดเชื้อ

ร่วมกับศูนย์เอราวัณรับผู้ป่วย

ส่วนการแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากใน กทม. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม.เปิดเผยว่าสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจเชิงรุกและนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ hospitel ดูแลรักษาผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.63-9 พ.ค.64 มีผู้ป่วยติดเชื้อ 4,411 คน รักษาหายกลับบ้าน 2,432 คน ย้ายไปโรงพยาบาลนอกสังกัด 27 คนและเสียชีวิต 22 คน อยู่ระหว่างการรักษา 1,930 คนขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยในทุกๆด้าน นอกจากนี้ ได้ยกระดับการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล ศูนย์เอราวัณ 1669 ได้ร่วมกับเครือข่ายร่วมดำเนินการ ทำให้รับ-ส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.-8 พ.ค.64 ศูนย์เอราวัณรับผู้ป่วย 4,611 คน เข้ารับการรักษา4,159 คน แบ่งเป็นรักษาใน รพ.สังกัด กทม. 2,892 คน รักษาในโรงพยาบาลอื่น 1,267 คน

อยู่ทุก รพ.สังกัด กทม. 1,930 คน

สำหรับจำนวนผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสนาม กทม. และ Hospitel ข้อมูล ณ วันที่ 9 พ.ค. เวลา 08.00 น. มีทั้งสิ้น1,930 คน ดังนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 307 เตียง โรงพยาบาลสนามกทม. 5 แห่ง ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย 2,042เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 1,311 เตียงยังว่างอยู่ 731 เตียง ในส่วนของ Hospitel 5 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 594 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 312 เตียงยังว่างอยู่ 282 เตียง

แจงกรณี นศ.มธ.แพ้วัคซีน

สำหรับกรณีองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์เรื่องอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดวัคซีนซิโนแวค ใจความระบุมีนักศึกษาปี 2 ได้รับวัคซีนซิโนแวคจาก รพ.ธรรมศาสตร์ฯ วันที่ 23 เม.ย.และ 5 พ.ค. รวม 88 คน ในจำนวนนี้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 7 คน พร้อมระบุ #นักศึกษาต้องได้รับวัคซีนที่ดีและมีคุณภาพนั้น นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมารพ.ธรรมศาสตร์ฯฉีดวัคซีนซิโนแวคกว่า 6-7 พันโดสล่าสุดทราบว่ามีนักศึกษารวบรวมข้อมูลระบุว่ามีผู้ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการข้างเคียง 7 ราย ทุกรายสามารถดูแลให้หายกลับมาเป็นปกติได้ใน 1-2 ชั่วโมง ไม่ได้มีอาการที่รุนแรงจนต้องนอน รพ.แต่อย่างใด ทั้งนี้รพ.ธรรมศาสตร์ฯมีคณะกรรมการดูแลผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนอยู่แล้ว มีการดูข้อมูลกันอยู่ ภาพรวมไม่ได้มีอาการหรือผลข้างเคียง ข้อมูลตรงนี้เข้าใจว่าเป็นการรวบรวมข้อมูลของนักศึกษาเองบางส่วน ในระบบการเฝ้าระวังอาการข้างเคียงนั้นจะมี 3ฐานคือ ผ่านระบบ “หมอพร้อม” ที่มีการติดตามอาการในวันที่ 1 วันที่ 7 วันที่ 28 หลังฉีดวัคซีน ต่อมาเป็นฐานของ รพ.ที่ตรวจสอบติดตามในส่วนของ รพ.จะมีข้อมูลที่รวบรวมไว้มากสุด แม่นยำสุด และอีกฐาน นักศึกษาอาจจะมีการรวมตัวกันบางคณะ หรือบางกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อมูลแล้วทำกรุ๊ปปิ้งออกมา เมื่อเรานำข้อมูลจากทั้ง 3 ฐานมารวมกัน สามารถวิเคราะห์ข้อมูลในภาพใหญ่ได้

ยันยังไม่มีอันตรายร้ายแรง

นพ.พฤหัสกล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นหลักๆ คงต้องดูเรื่องของอันตรายร้ายแรงยังไม่มี แต่เราจะเข้าไปดูเรื่องของประวัติ เรื่องความต้องการเพิ่มใน 7 ราย ประเด็นที่สองคือการพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ว่าจะให้เป็นชนิดเดิม หรือหากคิดว่าเป็นผลข้างเคียงรุนแรง อาจจะมีการเปลี่ยนชนิดวัคซีนในเข็มที่ 2 คณะกรรมการของ รพ.จะมีการพิจารณาอีกที อาจจะซีทีสแกน MRI สมอง เพิ่มเติม รวมถึงเปลี่ยนชนิดวัคซีน เพราะตอนนี้ที่ได้รับจากรัฐบาลมานั้นมีทั้งซิโนแวคและแอสตราเซนเนกาที่จะได้มาใน
วันที่ 7 มิ.ย.นี้ด้วย

“พลอย” ติดเชื้อไร้อาการ

ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงมีคนวงการบันเทิงติดเชื้อโควิดเพิ่มอีกรายคือดาราสาวคนดัง “พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์” ที่ได้โพสต์ไอจีแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 หลังก่อนหน้านี้ตรวจหาเชื้อไป 3 ครั้ง แต่ไม่พบเชื้อ กระทั่งวันที่ 9 พ.ค. ผลตรวจรอบที่ 4 พบว่าติดโควิด-19 โดยไม่มีอาการใดๆ ซึ่งพลอย ได้แจ้งไทม์ไลน์ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. ว่าตรวจโควิด-19 มา 3 ครั้ง ไม่พบเชื้อ จนวันที่ 25 เม.ย. ได้เดินทางไปที่เกาะสมุยและเดินทางไปเกาะพะงัน วันที่ 26 เม.ย. ก่อนที่จะบินกลับ กทม. ในวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งเจ้าตัวได้ไปตรวจเชื้อโควิดอีกครั้งเนื่องจากเตรียมตัวกลับมาทำงานก่อนจะพบว่าติดเชื้อ วันที่ 9 พ.ค. และได้เข้ารับการรักษาที่ Hospitel ทั้งนี้ พลอยยังโพสต์ระบุว่า “ขออภัยทุกท่านที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้จากการได้เจอพลอย และขอบคุณ กำลังใจจากทุกท่านค่ะ การที่เราไม่มีอาการอะไรเลย และคิดว่าดูแลตัวเองดีมากๆแล้ว มันไม่ได้แปลว่าเรารอดจากเชื้อนี้ อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพตัวเองดีๆ”

ผู้ป่วยเมืองคอนตายเพิ่ม

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศ ที่ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 9 พ.ค. มีผู้ป่วยใหม่ 39 คน ส่วนใหญ่มาจากคลัสเตอร์การพนันในพื้นที่ ยอดสะสม 606 คน และพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน เป็นหญิง วัย 73 ปี ชาว อ.เชียรใหญ่ ซึ่งป่วยโควิดติดเชื้อจากการร่วมพิธีครูมโนราห์ ถูกส่งรักษาตัวที่ รพ.สิชล ญาติมารับศพไปฌาปนกิจทันทีที่ อ.เชียรใหญ่ ทำให้ จ.นครศรีธรรมราชมีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 6 คน

อ.จุฬาภรณ์ ต้านไม่อยู่

นอกจากนี้ ยังพบว่า อำเภอจุฬาภรณ์เป็นอำเภอสีขาวไม่พบผู้ป่วยมานานกว่า 1 เดือน แต่ล่าสุด อ.จุฬาภรณ์ไข่แตกแล้ว เมื่อมีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด 2 คน ใน ต.นาหมอบุญ ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 คนติดมาจากผู้ป่วยยืนยันใน ต.ท่าประจะ อ.ชะอวด ส่วน อ.เมือง พบผู้ป่วยโควิดมากสุดจำนวน 20 คน อ.พิปูน 3 คน อ.พระพรหม 6 คน อ.ปากพนัง 4 คน อ.ทุ่งใหญ่ 1 คน อ.เฉลิมพระเกียรติ 2 คน และ อ.ร่อนพิบูลย์ 1 คน จากนั้นมีการจัดชุดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆตลอดวัน เท่ากับขณะนี้ยังเหลือ 3 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราชที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดคือ อ.นบพิตำ อ.ถ้ำพรรณรา และ อ.ฉวาง

ภูเก็ตระดมฉีดวัคซีนรับ นทท.

ส่วนที่โรงยิมเนเซียม 4,000 ที่นั่ง ศูนย์กีฬาสะพานหิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต กลุ่มทำงานด่านหน้าตกค้าง กำนันผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 1,600 คน เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของคนในจังหวัดภูเก็ต เตรียมความพร้อมเดินหน้าเปิดเกาะตามนโยบาย Phuket Tourism Sandbox รับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม เข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว ขณะเดียวกันคนในภูเก็ตจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60-70 ของจำนวนประชากรที่มีอยู่ประมาณ 466,000 คน ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ภาพรวมทั้งจังหวัดภูเก็ตขณะนี้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 104,000 คน

หญิงพิจิตรตายรายแรก

ขณะที่เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 พ.ค.ที่เมรุวัดท่าหลวง พระอารามหลวง อ.เมืองพิจิตร นพ.วิศิษฏ์ อภิสิทธิ์วิทยา รองสาธารณสุข จ.พิจิตร เป็นประธานเผาศพผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหญิงวัย 59 ปี ชาว ต.หนองโสน อ.สามง่าม เข้ารักษาที่ รพ.พิจิตร เสียชีวิตเมื่อคืนที่ผ่านมา การเผาศพเป็นไปอย่างเร่งด่วน มีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและญาติผู้เสียชีวิตเข้าร่วมพิธีเพียงไม่กี่คน สำหรับผู้เสียชีวิตรายนี้ถือเป็นรายแรกของจังหวัด รับเชื้อจากลูกสาวที่เดินทางจาก จ.ปทุมธานี ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา แต่ผู้ป่วยมีอายุมากและมีโรคประจำตัวหลายโรค เชื้อโรคได้ลงปอดและเกิดอาการแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิต

เชียงใหม่ยอดตายสะสมพุ่ง

เช่นเดียวกับที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 25 คน แนวโน้มพบติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ก็คร่าชีวิตผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มอีก 2 คน ทำให้เชียงใหม่มียอดผู้ตายสะสมจากการระบาดในระลอกสามถึง 11 คน และยังมีกลุ่มติดเชื้อที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือหมู่บ้านโพธิ์ทอง–เจริญมาจากการรับประทานอาหารร่วมกันของคนในครอบครัวใหญ่ที่มีอยู่ 3 หลังคาเรือน

มะกันป่วยป่วนหนีจาก รพ.

ขณะที่ จ.อำนาจเจริญ เกิดเหตุวุ่นในช่วงบ่ายวันที่ 9 พ.ค. เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 เป็นชายชาวอเมริกัน วัย 51 ปี หลบหนีออกจาก รพ.ชานุมาน อ.ชานุมาน เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังออกติดตามตัว กระทั่งไปพบขณะเดินอยู่ข้างถนน เส้นทางระหว่าง อ.ชานุมาน ไปยังบ้านนิคมแปลง 4 ต.ชานุมาน อ.ชานุมาน โดยชายชาวอเมริกันรายนี้ระบุต้องการกลับมาที่บ้าน เจ้าหน้าที่ต้องพูดเกลี้ยกล่อมอยู่พักใหญ่จึงยอมกลับเข้ารักษาตัวใน รพ.ตามเดิม ส่วนสาเหตุที่ชายชาวต่างชาติรายนี้หลบหนีคาดว่าเกิดจากการที่คนไข้ขอย้ายเตียงไปอยู่ห้องเดียวกับภรรยาคนไทยซึ่งป่วยโควิดด้วยเช่นกัน

จับตาแห่หนีกรุงนำเชื้อมาด้วย

นอกจากนี้ ตลอดวันสาธารณสุขจังหวัดหลายจังหวัดรายงานพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ อาทิ จ.ร้อยเอ็ด พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 4 คน ใน 4 อำเภอคือ อ.อาจสามารถ อ.เสลภูมิ อ.จังหาร และ อ.จตุรพักตร์พิมาน เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ใน 4 คน มีประวัติเดินทางมาจาก กทม. รวมถึงมีอาชีพค้าขายที่ตลาดคลองเตย ส่วนที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 10 คน จำนวนนี้อยู่ใน อ.โนนสูง 4 คน เป็นกลุ่มเสี่ยงเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์งานบุญขึ้นบ้านใหม่ของชาวออสเตรเลีย ใน ต.ธารปราสาท เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วน จ.ชัยภูมิ ยอดติดเชื้อรายใหม่พุ่งไป 31 คน ส่วนใหญ่ติดมาจากญาติที่เป็นแรงงานใน กทม.และปริมณฑล ที่เดินทางกลับบ้านเพื่อหลบการแพร่ระบาด โดยไม่มีการแจ้งการเข้าพื้นที่ ทำให้กลายเป็นการนำเชื้อกลับมาติดในบ้านเกิดตัวเอง

สระแก้วเร่งตรวจหาโควิด

จ.สระแก้ว หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 15 คน อยู่ใน อ.อรัญประเทศ 7 คน อ.วังน้ำเย็น 6 คน เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ร้านคาราโอเกะในพื้นที่ และอ.เมืองสระแก้ว 2 คน ต่อมาสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับ รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว พร้อมเจ้าหน้าที่ อสม.ภายในเขตเมืองสระแก้ว จัดจุดคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสระแก้ว มีทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวเข้ามาตรวจคัดกรองเป็นจำนวนมาก

คาดติดจากการละหมาด

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.จันทบุรี ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 36 คน เป็นแอฟริกัน 18 คน และคนไทย 18 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 442 คน แยกเป็นคนไทย 333 คน และแอฟริกัน 109 คน ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเฉพาะในเขต อ.เมืองจันทบุรี ระลอกใหม่ ทะลุ 325 คน จำนวนมากอยู่ในกลุ่มแอฟริกันที่ทำธุรกิจค้าพลอย ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. ที่ตึกศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ ภายในวัดใหม่ ต.ตลาด อ.เมือง จ.จันทบุรี ทีมตรวจคัดกรองเชิงรุก ได้ตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 พร้อมกับนำห้องตรวจปลอดเชื้อเคลื่อนที่ เข้าตรวจคัดกรองกลุ่มแอฟริกัน ตลอดจนประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากตลาดพลอย และตลาดพระ นายซีเซ่ ผู้นำแอฟริกันที่ทำธุรกิจค้าขายพลอยและอัญมณีใน จ.จันทบุรี กล่าวว่า ตัวเลขชาวแอฟริกันที่ประกอบธุรกิจค้าพลอยและอัญมณีของจันทบุรี ส่วนใหญ่เป็นชาวกีนี และชาวมาลี มีกว่า 400 คน แต่ที่อยู่จริงในชุมชนต่างๆ มีอยู่ประมาณ 300 คน ที่เหลือเดินทางกลับประเทศไปก่อนหน้าแล้ว รวมถึงไปประกอบธุรกิจอยู่ที่กรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดในจันทบุรี ได้แจ้งข่าวสารให้กับพี่น้องแอฟริกันที่อยู่ต่างจังหวัดตลอดเวลา โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามเดินทางเข้ามาในจันทบุรีเด็ดขาด ส่วนที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโควิดในกลุ่มของพวกตน น่าจะมาจากช่วงที่มีการรวมตัวกลุ่มประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิด โดยไม่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อปะปนเข้ามา หลังมีการแพร่ระบาด ทาง ตม.จันทบุรี ได้กำชับและกำกับให้ตนเร่งนำชาวแอฟริกันที่เหลือเดินทางเข้าตรวจหาเชื้อทันที และมั่นใจว่าผู้ที่ติดเชื้อเป็นการติดต่อจากในจังหวัด ไม่ได้เดินทางมาจากต่างพื้นที่แต่อย่างใด

ผงะคลัสเตอร์ร้านหมูสะเต๊ะดัง

ส่วนศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 138 คน เป็นหญิง 83 คน ชาย 55 คน เป็นเมียนมา 11 คน ลาว 3 คน นอกนั้นเป็นคนไทย ส่วนใหญ่ติดเชื้อภายในครอบครัวและตลาดสด อยู่ใน อ.เมือง 49 คน อ.ปากเกร็ด 32 คน อ.บางบัวทอง 29 คน อ.บางใหญ่ 18 คน อ.บางกรวย 2 คน อ.ไทรน้อย 2 คน นอกจากนี้ ยังพบไทม์ไลน์กลุ่มผู้ป่วยยืนยันที่สำคัญคือกลุ่มลูกจ้างร้านหมูสะเต๊ะ (เจ๊พัน) 20 คน กลุ่มเจ้าหน้าที่และพนักงานเทศบาลนครนนทบุรี 24 คน ตลาดสมบัติ 3 คน ตลาดเทศบาลนครนนทบุรี 3 คน เอื้ออาทรวัดกู้ 3 คน คอนโดเมืองทอง 2 คน ร้านข้าวแกงสุโขทัยตลาดนกฮูก 2 คน เอื้ออาทรบางใหญ่ซิตี้ 2 คน จิตรจิตร์อพาร์ตเมนต์ 2 คน เอื้ออาทรท่าอิฐ เอื้ออาทรราชพฤกษ์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุบ้านคอยดูแล ส่วนที่คอนโดเมืองทองธานี ตรวจคัดกรองเชิงรุกผู้อาศัย 5,711 คน ผลตรวจออกแล้ว 3,098 คน พบติดเชื้อ 7 คน ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ

ย้ำประกันต้องจ่ายผู้ป่วยโควิด

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ถึงกรณีความกังวลของผู้ทำประกันโควิด-19 รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วอาจไม่ได้รับการคุ้มครองจริง เมื่อแพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้มาจากการติดเชื้อหรือแพ้วัคซีนว่า ทางทีมของ คปภ.เห็นว่า แม้ว่าแพทย์ไม่ลงความเห็นว่าเสียชีวิตจากแพ้วัคซีน บริษัทประกันต้องจ่ายสินไหมตามที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุ โดยเร็วๆนี้จะเรียกสมาคมประกันวินาศภัยสมาคมประกันชีวิตไทย และบริษัทประกันมาหารือเพื่อให้จ่ายสินไหมให้ผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน หากในกรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง โดยส่วนตัวมองว่าการฉีดวัคซีนแล้วแพ้จนเสียชีวิตเกิดขึ้นน้อยมาก แม้ว่าแพทย์ไม่ได้ลงความเห็นว่าเสียชีวิตจากแพ้วัคซีนบริษัทประกันต้องจ่ายสินไหมทดแทน ส่วนกรณีที่ผู้ทำประกันโควิด-19 เข้ารักษาที่โรงพยาบาล และเมื่อรักษาหายแล้ว แพทย์ให้กลับบ้าน เกิดเสียชีวิตหลังจากนั้น 3 วัน และยังตรวจพบว่ามีเชื้อโควิด-19 นั้น คปภ.ได้หารือกับสมาคมประกันวินาศภัย และสมาคมประกันชีวิตได้ข้อสรุปก่อนหน้านี้แล้ว บริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เสียชีวิต แม้ว่าจะกลับมาเสียชีวิตที่บ้าน หากมีการตรวจเจอเชื้อโควิด-19

คาดอินเดียป่วยตายแตะ 1 ล้าน

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก เมื่อวันที่ 9 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 158.3 ล้านคน เสียชีวิตสะสมกว่า 3.3 ล้านคนโดยที่อินเดียสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติตรวจพบผู้ติดเชื้อในวันเดียว 403,738 คน เสียชีวิตในวันเดียว 4,092 คน ถือเป็นยอดเสียชีวิตทะลุ 4,000 คน 2 วันติดต่อกัน ส่งผลให้ยอดติดเชื้อรวมพุ่งเป็น 22.2 ล้านคนเสียชีวิตรวม 242,398 คน ฝ่ายสถิติสาธารณสุขอินเดียเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้จะทำให้ยอดผู้เสียชีวิตแตะ 1 ล้านคน ภายในเดือน ส.ค. ขณะที่ สปป.ลาวประกาศล็อกดาวน์พื้นที่แขวงสะหวันนะเขต ทางภาคใต้ ติดกับจังหวัดมุกดาหารของไทย จนถึงวันที่ 20 พ.ค.นี้ หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 4 คน ในแขวงดังกล่าว ขณะที่ยอดติดเชื้อเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 59 คนต่อวัน ซึ่งสื่อลาวหลายสำนักรายงานอ้างว่าเป็นผลพวงจากกรณีที่คนไทยติดเชื้อข้ามแดนมาเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ รัฐบาล สปป.ลาวยังประกาศให้คนลาวเดินทางกลับประเทศผ่านทางด่าน ตม.ปกติ แม้เอกสารจะหมดอายุหรือไม่มีเอกสารการเดินทางเลย ก็จะไม่ถูกลงโทษหรือปรับเงินใดๆ เพื่อป้องกันคนลักลอบกลับประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ และนำเชื้อโควิดเข้าลาวเพิ่มเติม