วิกฤติการระบาด “โควิด- 19” ประเทศไทยสะท้อนชิ่งกระทบไปถึงผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการแก้ไข คลี่คลายสถานการณ์ อาจารย์หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บอกว่า “บิ๊กตู่จะอยู่หรือจะไป”...คนไทยควรมองไกลกว่านั้น

“บิ๊กตู่” จะอยู่หรือจะไปขึ้นกับเหตุปัจจัยของสถานการณ์และกลไกทางการเมือง มันเป็นเช่นนั้นเอง...“ตถตา ตถตา” อาจารย์หมอประเวศ บอกว่า แต่ไม่ว่าจะอยู่หรือจะไป ปัญหาใหญ่ที่ยังอยู่ก็คือ สมรรถนะของชาติตํ่า ในการเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนและยาก ทั้งวิกฤตการณ์อีอีซี หรือ...วิกฤติเศรษฐกิจกับโควิด

หรือ...วิกฤตการณ์เก่า คือ “ความเหลื่อมล้ำ” และการขาด “ความเป็นธรรม” อันนำไปสู่ห่วงโซ่ แห่งปัญหาตามมาเป็นพรวน

ปัญหาเหล่านี้ล้วนยากเกินสมรรถนะของชาติที่ต่ำ ไม่ว่าผลการต่อสู้ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร สมรรถนะของชาติคงไม่พรวดพราดเพิ่มขึ้น เพราะเป็น ปัญหาเชิงโครงสร้าง มากกว่าพฤติกรรมส่วนบุคคล

...

ต้องย้ำว่า “สังคมไทย” ขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและโครงสร้าง คิดแต่เชิงเทคนิคและพฤติกรรมส่วนบุคคล จึงติดกับออกจากสภาวะวิกฤติไม่ได้ เพราะโครงสร้างและระบบกำหนดพฤติกรรมของบุคคล...องค์กร เห็นง่ายๆ เช่น ระบบรถยนต์ หรือระบบเครื่องบิน ถ้าโครงสร้างและส่วนประกอบไม่ครบ

หรือ...เครื่องหลุดจากกันเป็นส่วนๆ มันก็วิ่งไม่ได้ หรือ...บินไม่ได้

“ประเทศไทย” เหมือน “ประเทศเครื่องหลุด” เป็นส่วนๆ ถึงเร่งเครื่องอย่างไรก็วิ่งไม่ได้ ฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุด คือ การประกอบเครื่องประเทศไทย ให้เป็นระบบที่สมบูรณ์จึงจะบินได้

“เรามักจะมองแต่เรื่องนักการเมือง หรือพรรคการเมืองตีกัน และก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าใครดีใครเลวเท่านั้น ขาดการมองเชิงระบบ... ระบบการเมืองคืออะไร การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนโยบาย ไม่ว่ารัฐสภาหรือ ครม. ล้วนทำหน้าที่ตัดสินใจทางนโยบาย”

“นโยบายสาธารณะ” ต้องเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะกำหนดความเป็นไปของชาติ ถ้าดีก็วัฒนะ ถ้าไม่ดีก็หายนะ... “การเมือง” เป็น ส่วนหนึ่ง ของระบบนโยบาย ไม่ใช่ทั้งหมด

ให้รู้กันไว้ว่า...ระบบนโยบายครบวงจรมีอย่างน้อย 12 ขั้นตอน ซึ่งกระจัดกระจายเป็นส่วนๆกระท่อนกระแท่น ไม่ครบ ไม่เชื่อมต่อกันครบวงจร...วงจรไฟฟ้าที่ไม่เชื่อมต่อกันไฟก็เดินไม่ได้

“ฉันใดระบบนโยบายที่ไม่ครบวงจร ก็ฉันนั้น คือไม่เกิดผล”

“การเมือง” เป็น 1 ใน 12 ขั้นตอน เมื่อระบบไม่ครบวงจร การเมืองก็ไม่มีทางก่อผลสัมฤทธิ์ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล...“ประเทศไทย” อาจมีประเด็นใหญ่ ประมาณ 20-25 ประเด็น ก็ลองดูเอาเถอะว่า...ไม่มีทำสำเร็จสักประเด็น เพราะ ระบบนโยบายไม่ครบวงจร

ตั้งหวังเอาไว้ว่า “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม”...ขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจรทั้ง 12 ขั้นตอน จะเป็นกระบวนการที่นำคนไทยจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติจนสัมฤทธิผล

เป็น...ประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เป็น...กระบวนการทางปัญญาสูงสุด ผู้คนจะรัก เชื่อถือไว้วางใจกัน และสมานฉันท์อย่างสุดๆ

เมื่อ “การเมือง” เป็นส่วนหนึ่งของระบบนโยบายครบวงจร ก็ไม่มีทางที่จะไม่เป็นการเมืองที่ดี การเมืองจะ...สร้างสรรค์ ไม่มีความรุนแรงอีกต่อไป เพราะเมื่อเป็นระบบองค์ประกอบจะกำกับซึ่งกันและกัน ให้ทุกองค์ประกอบอยู่ในร่องในรอย เปรียบได้ดั่งฟันเฟืองนาฬิกาก็ได้

เมื่อประกอบเครื่องครบก็ไม่มีส่วนใดแตกแถว เกเร

ฉะนั้นประเด็นใหญ่ที่สุดประเทศไทยที่เป็นจุดคานงัดทำให้ทุกเรื่องสำเร็จ รวมทั้งระบบการเมืองด้วย คือ การขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ หรือที่เรียกว่า “สัมฤทธิศาสตร์”

เรื่องนี้ฟังดูเหมือนยาก แต่ไม่ยากและลงมือทำได้ทันที หากอ่าน “คู่มือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร” ที่บอกองค์ประกอบ หรือขั้นตอนไว้ 12 องค์ประกอบ ให้เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้

เชื่อมโยงวงจรต่อเนื่องถึงระบบการศึกษาได้กล่าวย้ำไปหลายต่อหลายครั้งแล้ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยยังขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบ...การจัดการ...ค่อนข้างอืดช้าในการตอบรับของใหม่ๆ

อาจารย์หมอประเวศ บอกว่า เราต้องมองสองภาคใหญ่ที่มีกำลังมาก และมีคนที่มีสมรรถนะสูงในการคิดเชิงระบบและการจัดการ นั่นคือ “ภาคธุรกิจ” กับ “กองทัพ” เพราะสองภาคนี้โดยภารกิจเขาต้องคิดเชิงระบบและการจัดการ มิฉะนั้นธุรกิจจะล่มสลาย และการทำสงครามจะแพ้ยับเยิน

“ในกองทัพมีนายทหารเสนาธิการจำนวนมากที่ฝึกมาในการคิดเชิงระบบและการจัดการ...ภาคธุรกิจมีบริษัทใหญ่ๆที่มีกำลังมาก และมีซีอีโอเก่งๆ ไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยบริษัท แต่ละบริษัทควรจะตั้ง... สถาบันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กองทัพก็เช่นเดียวกัน”

โดยมีอีกภาคหนึ่งที่ใหญ่โตและมีผู้นำเก่งๆจำนวนมาก นั่นก็คือ “ชุมชนท้องถิ่น”

ขณะนี้มีผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่เก่งๆหลายแสนคน ท่านเหล่านี้ทำงานเก่ง คิดเก่ง จัดการเก่ง จะคัดที่เก่งที่สุดได้หลายร้อยคน ก็ควรรวมตัวกันตั้ง “สถาบันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ” เช่นเดียวกัน

ทั้งหมดเหล่านี้ประกอบกันเป็น...สถาบันนโยบายสาธารณะ 3 ภาคส่วน...ภาคธุรกิจ กองทัพ ผู้นำชุมชนท้องถิ่น จะมีจำนวนมากหลายร้อยสถาบัน จะทำงานแยกกัน หรือร่วมกันเป็นบางประเด็น ก็จะเป็นกำลังมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

นำมาซึ่ง...“คนไทย” ทั้งมวลควรร่วมกันกำหนดว่าประเด็นใหญ่ประเทศไทยมีอะไรบ้าง เหล่านี้ คือประเด็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ สถาบันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะใด จะเลือกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือหลายประเด็นก็ได้ แต่ให้มีสถาบันขับเคลื่อนทุกประเด็น โดยแต่ละประเด็นขับเคลื่อนให้มีองค์ประกอบครบ

ทั้ง 12 ส่วนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และเชื่อมโยงกันเป็นวงจร เมื่อเชื่อมโยงกันครบ ก็ไม่มีทางที่จะไม่สำเร็จ จึงเรียกกระบวนการทั้งหมดนี้ว่า “สัมฤทธิศาสตร์”

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะรู้สึกตัดพ้อ...ทั้งหมดนี้เป็นแค่นามธรรมจับต้องอะไรไม่ได้ แต่กระนั้นแล้ว อาจารย์หมอประเวศ ก็ยังคงมีความหวัง ด้วยว่าองค์กรต่างๆ ทั้งของรัฐ...เอกชน สามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายได้ และวันหนึ่งมหาวิทยาลัยตั้งตัวได้ ทุกมหาวิทยาลัยก็สามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายได้

“เราก็จะมีพลังขับเคลื่อนนโยบายเต็มประเทศ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายประเภทและระดับต่างๆที่มีเต็มพื้นที่”

เร่ง...ประกอบเครื่องประเทศไทยเป็นระบบครบวงจรในเรื่องต่างๆ เราก็จะเป็นคนเก่งและคนดี

“เพื่อนคนไทยครับ เราเข้าใจผิดมานานว่า...คนไทยเราเป็นคนไม่เก่ง เป็นคนไม่ดี วิธีการคือการอบรมสั่งสอน แม้นิมนต์พระมาเทศน์ซึ่งไม่ได้ผลอันใด เพราะไม่ตรงกับสาเหตุ สาเหตุคือ...ระบบไม่ดี หรือ...ไม่เป็นระบบ” อาจารย์หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวทิ้งท้าย.