“หมอประสิทธิ์” เตือนโควิดระลอกนี้ถึงจุด วิกฤติที่แท้จริง วอนคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน ย้ำให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดแม้อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆยังจำเป็นที่สุด ในการป้องกันโรค ขอให้ผู้ประกอบการทำตามรัฐบาล กำหนด ถ้าร่วมมือกันเต็มที่จะฉุดช่วยชาติพ้นวิกฤติได้ เผยฉีดวัคซีนไม่อันตรายเท่าติดเชื้อ ด้าน “หมอยง” เผยฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกพบภูมิต้านทานสูง เสนอปูพรมฉีด 3 เดือน เดือนละ 10 ล้านคน ให้ได้ “อนุทิน” ยันไม่ปิดกั้นเอกชนซื้อวัคซีน แจงการขอ สิทธิ์เลือกวัคซีน “คลัสเตอร์คลองเตย” ไม่ธรรมดา ออกฤทธิ์รุนแรงป่วยติดเชื้อกันนับร้อยคน ผู้ว่าฯ กทม. ยังล็อกดาวน์ไม่ได้เร่งฉีดวัคซีนด่วนและค้นหาเชิงรุก 3 ชุมชนที่ระบาดหนัก สุดอาลัย “เลิศ อัศเวศน์” ผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมนักข่าวฯ และร่วมกับ “กำพล วัชรพล” ก่อตั้ง นสพ.ไทยรัฐ โควิด-19 พรากชีวิต จากครอบครัวในวัย 100 ปี

พื้นที่ กทม.กลายเป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยจากคลัสเตอร์ใหม่คือ “คลัสเตอร์คลองเตย” ที่พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 300 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในวันที่ 3 พ.ค.พุ่งขึ้นถึง 31 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ใน กทม.และนนทบุรี ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความหวั่นวิตกต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน

“บิ๊กตู่” ถกทีม ศก.เร่งเยียวยา

ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 3 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกประชุมคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่ปรึกษานายกฯ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี ประเมินสถานการณ์และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่และกำหนดแนวทางฟื้นฟูช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ

...

ให้เร่งเสนอมาตรการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในที่ประชุมนายกฯขอให้ทุกฝ่ายเร่งนำเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยา เรื่องใดแล้วเสร็จเสนอได้ทันทีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พ.ค.หรือเสนอเป็นหลักการมาก่อนได้ หากมีมาตรการชัดเจน จะมอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์และนายอาคมจะเป็นผู้แถลง

ลุ้นคนละครึ่งเฟส 3 เข้า ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เบื้องต้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบในหลักการโครงการคนละครึ่งเฟส 3 เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ มีสิทธิ์สมัครเพิ่มเติมจากผู้มีสิทธิ์เดิม 14.79 ล้านคน เพราะรัฐบาลมองว่าเป็นโครงการที่รัฐออกเงินส่วนหนึ่ง และเวลาใช้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมจ่าย ยังจำกัดวงเงินการใช้จ่ายจากรัฐบาลที่วันละ 150 บาทเท่าเดิม ส่วนวงเงินที่จะเพิ่มให้เป็นเท่าใดต้องรอ ครม.เคาะออกมา ในกรณีเพิ่มให้คนละ 3,500 บาทจะใช้วงเงินประมาณ 44,730-45,000 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลจะเติมเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.57 ล้านคน เท่ากับวงเงินคนละครึ่ง เพื่อจะได้ให้นำเงินดังกล่าวไปใช้จ่าย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ลดหย่อนภาษีรอก่อน

ส่วนมาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ที่มีรายได้สูง และมีเงินฝากในบัญชีจำนวนมาก ให้ออกมาจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ต้องรอให้กรมสรรพากร สรุปแนวทางการดำเนินการอีกครั้ง ในเบื้องต้นจะเสนอให้ ครม.อนุมัติเห็นชอบในหลักการก่อน หลังจากนั้นกระทรวงการคลัง จะกลับมาจัดทำรายละเอียด เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย.2564 เป็นต้นไป

ยอดตายพุ่งไม่หยุดดับอีก 31 ราย

ต่อมาเวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 2,041 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,040 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,943 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 97 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 รายเป็นชาวกัมพูชา กำลังตรวจสอบสายพันธุ์ของเชื้อ ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 71,025 ราย หายป่วยสะสม 40,984 ราย อาการหนัก 981 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 278 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 13 ราย อยู่ใน กทม.และนนทบุรี จังหวัดละ 10 ราย ปทุมธานี นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 2 ราย ฉะเชิงเทรา อ่างทอง เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ ระนอง จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว สาเหตุการติดเชื้อมาจากสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้า 15 ราย ใกล้ชิดสมาชิกครอบครัว 6 ราย มี 3 รายที่เสียชีวิตก่อนทราบว่าติดเชื้อ ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 182 ราย

ขันนอตแนวชายแดนทุกด้าน

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรกในวันที่ 3 พ.ค.ได้แก่ กทม. 675 ราย นนทบุรี 277 ราย สมุทรปราการ 161 ราย ชลบุรี 153 ราย สุราษฎร์ธานี 96 ราย ถ้าดูแผนที่ประเทศไทยแสดงจังหวัดพบเชื้อรายวันของวันที่ 3 พ.ค. มีจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 13 จังหวัด มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย 36 จังหวัด มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 50 ราย 21 จังหวัด มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 100 ราย 3 จังหวัด มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย 4 จังหวัด ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ขอความร่วมมือหน่วยงานด้านความมั่นคงให้เฝ้าระวังชายแดนป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ จากเดิมที่เป็นห่วงคือ แนวชายแพนเมียนมา แต่ตอนนี้ขอให้เพิ่มเข้มข้นในบริเวณชายแดนติดกับมาเลเซีย กัมพูชา ลาวด้วย

กทม.ลามหนักจากครอบครัว

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า สำหรับการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อมีมากในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย. ทั่วประเทศ มีทั้งสิ้น 41,933 ราย แต่อยู่ใน กทม.ปริมณฑล 19,220 ราย สาเหตุการติดเชื้อหลักจากเดิมมาจากสถานบันเทิง แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน มีทั้งคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตในพื้นที่ กทม.ระลอกเดือน เม.ย. ข้อมูลถึงวันที่ 29 เม.ย.ที่มี 52 ราย ในจำนวนนี้ 16 ราย มีติดเชื้อมาจากการร่วมบ้านกับผู้ป่วยยืนยัน

คลัสเตอร์คลองเตย 304 คน

พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก หารือถึงสถานการณ์ในเขตคลองเตย ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการระบาดระลอก เม.ย. ถึง 304 ราย อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด 193 ราย อาศัยอยู่แหล่งอื่นๆ เช่น คอนโด หอพัก 111 ราย สำหรับการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่คลองเตยโดยรถพระราชทานที่ชุมชนเจ็ดสิบไร่เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ตรวจเชื้อ 436 ราย พบเชื้อ 21 ราย ชุมชนริมคลองวัดสะพานตรวจเชื้อ 489 ราย พบเชื้อ 29 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน พัฒนาใหม่เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ตรวจเชื้อ 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย หลังจากนี้จะมีการจัดตั้งจุดพักคอยที่ริมคลองวัดสะพาน เมื่อพบเชื้อให้อยู่รอในจุดดังกล่าวก่อนนำตัวไปส่งต่อที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปบ้านที่อาจจะแพร่เชื้อได้อีกและมีการปูพรมตรวจเชิงรุก นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงชุมชนเคหะบ่อนไก่ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ที่พบผู้ติดเชื้อถึง 59 รายก่อนหน้านี้และจะดำเนินการค้นหาเชิงรุกต่อไป

พยายามลดวันรอเตียง

เมื่อถามว่า ระหว่างรอเตียง สามารถซื้อยามารับประทานเองได้หรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ขณะนี้เราพยายามลดวันรอเตียง ตัวเลขจากศูนย์แรกรับ ส่งต่ออาคารนิมิบุตร กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 2 พ.ค. สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้สำเร็จ 186 ราย คิดเป็น 96.9% สำหรับผู้ที่รอเตียงอยู่ที่บ้าน การซื้อยามารับประทานเองในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว มียาที่ต้องกินอยู่เป็นประจำนั้น ต้องระมัดระวังเพราะอาจมี ปฏิกิริยาต่ออาการของโรคประจำตัวได้

เปิดคลิปหมอใหญ่เตือนวิกฤติ

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวประจำวันของ ศบค.วันเดียวกัน ได้มีการนำคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาเปิดก่อนการแถลงข่าว นพ.ประสิทธิ์ระบุว่าวันนี้ครบรอบ 1 ปี ที่เราเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่หนึ่งปีให้หลัง 3 พ.ค. ทุกอย่างเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้เราอยู่ในช่วงขาขึ้นของวิกฤติ มีอัตราการเสียชีวิตเมื่อ 1 เดือนก่อนหน้านี้ ประมาณแค่ 0.12% แต่ในวันนี้ตัวเลขของเมื่อวานขึ้นไปถึง 0.36% ค่าตัวเลขต่างๆไม่ลดลง เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น หมายความว่าเรากำลังวิ่งเข้าไปถึงจุดวิกฤติที่แท้จริง

ให้ใส่หน้ากากอนามัยแม้อยู่บ้าน

“ผมขอความกรุณาคนไทยทุกคน เราต้องช่วยกันแล้ว การใส่หน้ากากอยู่ตลอดเวลา ผมขอย้ำว่าการใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลาไม่เว้นแม้กระทั่งอยู่บ้าน ตัวเลขในสัปดาห์นี้อัตราการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในบ้าน ในครอบครัวกับเพื่อนฝูงตอนนี้ถึงแม้อยู่บ้าน เราไม่รู้หรอกว่าใครจะนำเชื้อเข้ามาหรือเปล่า รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดมือ ผมย้ำอีกครั้ง เป็นหน้าที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันแล้ว และขอให้ผู้ประกอบการทำตามที่รัฐบาลกำหนด เพราะเป็นมาตรการมาจากข้อมูลต่างๆแล้วมี กระบวนการในการทบทวนว่าอันไหนจำเป็นอันไหนไม่จำเป็น” นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ฉีดวัคซีนไม่อันตรายเท่าติดเชื้อ

นพ.ประสิทธิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับทุกคน วัคซีนเป็นหนึ่งในเครื่องมือตัวหนึ่งที่จะทำให้เราปลอดภัย มีข่าวลือเยอะมากในเรื่องของวัคซีน อยากให้ข้อมูลว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับตัวเลขอัตราการเสียชีวิตหรือความเสี่ยงจากโควิด-19 นั้น แตกต่างกันอย่างมากมาย ฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมีตัวเลขประมาณ 4 คน ผลข้างเคียง หรือผลไม่พึงประสงค์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ติดโควิด-19 ตัวเลขของโลกในวันนี้ 100 คน เสียชีวิต 2.2 คน เป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมากมายเหลือเกิน

ร่วมมือกันจะช่วยให้พ้นวิกฤติ

นพ.ประสิทธิ์ยังกล่าวอีกว่า ขอความกรุณาในวันนี้การฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อคนที่ท่านรัก เพราะท่านจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนเหล่านั้น ถ้าเราฉีดกันได้เยอะพอและทันเวลา เรากำลังจะช่วยประเทศ เพราะโควิด-19 จะอยู่ไม่ได้ถ้าคนในประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันเยอะขึ้นในระดับหนึ่ง ขอความกรุณามั่นใจ สิ่งเดียวที่มีอยู่ในสมองเราอย่างเดียว ทำอย่างไรให้คนไทยเราปลอดภัยจากโควิด-19 ขอให้ช่วยกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเราร่วมมือกันจริงๆเชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤติอันนี้ไปได้ด้วยดี อย่ารอจนวิกฤติรุนแรงจนแก้ไขไม่ได้

ประเมินสถานการณ์รายวัน

จากนั้นเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้เรียกประชุม ศบค.ชุดเล็ก ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เลขาธิการ สมช. ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรการที่ได้มีการยกระดับ รวมถึงผลกระทบการดำเนินการ

เอกชนสั่งซื้อฟาวิพิราเวียร์ได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การระบาดของโควิดระลอกนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้บริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ กระจายไปตาม รพ.ต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอและทั่วถึง พร้อมสำรองใน รพ.แม่ข่าย ทั้งใน กทม. และภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 26-30 เม.ย. รวม 765,600 เม็ด ทั้งยังวางแผนจัดส่งยาฉุกเฉินโดยองค์การเภสัชกรรม ผ่านทางสายการบินพาณิชย์ รถโดยสารในจังหวัดที่ไม่มีสนามบินไว้พร้อม กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า รพ.เอกชนยังสามารถนำเข้ายาชนิดนี้ได้ โดยรัฐไม่ได้ผูกขาดการนำเข้า

สั่งทุกวัดรับเผาศพโควิด

ด้านนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอความร่วมมือวัดทุกวัดทั่วประเทศอย่าปฏิเสธการประกอบพิธีฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในการฌาปนกิจศพให้ประสานกับสาธารณสุขพื้นที่ เพื่อปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดและต้องสร้างความเข้าใจกับญาติ เกี่ยวกับการประกอบพิธีที่ต้องกระทำทันที ไม่ให้มีจัดสวดอภิธรรมศพ เป็นระยะเวลานาน ขอให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเผาทันทีหลังเสียชีวิตไม่เกิน 1 วัน ผู้ร่วมพิธีให้มีเฉพาะญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ จากรายงานของ พ.ศ.วัดทั่วประเทศให้ความร่วมมือรับศพผู้ป่วยประกอบพิธีแล้ว 21 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. 10 ราย ที่เหลือกระจายตามจังหวัดต่างๆ

แม่บ้าน–คนสวนทำเนียบฯ ติด 11 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า มีเจ้าหน้าที่กองสถานที่ยานพาหนะ และรักษาความปลอดภัย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แม่บ้านและคนสวนประจำทำเนียบฯ ติดเชื้อโควิด-19 อีก 9 ราย รวมกับแม่บ้าน 2 คน ที่พบติดเชื้อก่อนหน้านี้ทำให้เป็น 11 ราย ทำเนียบฯได้ประสานไปยังบริษัทเอกชนต้นสังกัดของแม่บ้าน ขอให้ทุกคนหยุดเข้ามาทำความสะอาดในทำเนียบฯ จนกว่ามีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ขณะที่สำนักเลขาธิการฯกำลังพิจารณาขยายเวลางดให้สื่อ มวลชนเข้าทำเนียบฯและให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทำงานต่อที่บ้านออกไปอีก จนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย

เร่งตั้ง รพ.สนามคลองเตย

ขณะเดียวกัน หลังจากที่กระทรวงกลาโหมมีหนังสือถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขอใช้พื้นที่จัดตั้ง รพ.สนาม ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กระทรวงกลาโหม ไปสำรวจพื้นที่ตั้ง รพ.สนามคลองเตย โดยจะใช้อาคารคลังเก็บสินค้าท่าเรือคลองเตย รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 250-300 เตียง ขณะที่กองทัพบก ยืนยันว่ามีความพร้อมช่วยสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุนทันทีหากมีการประสานร้องขอมา ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะใช้แพทย์และบุคลากรของ รพ.จุฬาฯ เข้ามาช่วยดูแลใน รพ.สนามคลองเตยที่จัดตั้งขึ้น

แอสตราฯเข็มแรกพบภูมิสูง

วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงโควิด-19 ภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม ว่า ศูนย์ได้ศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในคนไทย หลังเข็มแรกเป็นระยะเวลา 1 เดือน จำนวน 61 คน เป็นการรายงานเบื้องต้น ภูมิต้านทานที่ตรวจพบมีการตอบสนอง ตรวจวัดภูมิต้านทานได้ถึงร้อยละ 96.7 เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจวัดภูมิต้านทาน ในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ เป็นระยะเวลา 4- 8 สัปดาห์ ตรวจพบได้ร้อยละ 92.4 ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจวัดได้ มีค่าตัวกลางเรขาคณิตเท่ากับ 40.61 u/ml เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ มีค่าเท่ากับ 60.86 u/ml พบว่า ระดับภูมิต้านทานที่พบเพศหญิงจะให้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าเพศชาย อายุที่น้อยกว่า 60 ปีจะมีระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

แม้เข็มเดียวภูมิก็น่าพอใจ

ศ.นพ.ยงระบุด้วยว่า ขณะนี้กำลังรอวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นกว่านี้ และจะมีการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานก่อนฉีดเข็มที่ 2 อีก 1 ครั้ง หลังเข็ม 2 แล้ว 1 เดือนภูมิต้านทานน่าจะมีระดับสูงมากและอยู่นาน จากข้อมูลดังกล่าวพอสรุปได้ว่า แม้จะฉีดวัคซีนแอสตราฯเพียงเข็มเดียว ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจวัดได้ก็เป็นที่น่าพอใจ มีอยู่ 1 ราย ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกแล้วเกิดอาการแพ้ เลยฉีดเข็มที่ 2 ใน 3 อาทิตย์ต่อมาด้วยวัคซีนแอสตราฯ และตรวจเลือดเมื่อ 1 เดือนหลังฉีดวัคซีนแอสตราฯ พบระดับภูมิต้านทานสูงมากถึง 241 u/ml

เสนอปูพรมฉีดเดือนละ 10 ล้านคน

ศ.นพ.ยงกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาการฉีดวัคซีนเปลี่ยนชนิดกัน ในกรณีที่เกิดเหตุการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ขอความกรุณาติดต่อผมขอตรวจภูมิต้านทานด้วย เพื่อเก็บเป็นข้อมูลและรวมถึงอาการข้างเคียงที่อยากทราบมาก การเปลี่ยนชนิดของวัคซีนเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง การปูพรมฉีดเข็มเดียวไปก่อนให้ได้ประชากรมากที่สุดด้วยวัคซีนแอสตราฯจะได้ประโยชน์สูงสุดแล้วตามด้วยกระตุ้นอีก 10 ถึง 12 สัปดาห์ต่อมา หรือนานกว่านั้น หมายความว่าในช่วง 3 เดือนแรกน่าจะปูพรมการฉีดวัคซีนไปเลย ถ้าฉีดได้เดือนละ 10 ล้านคน ก็สามารถปูพรมไปได้ถึง 30 ล้านคนทีเดียว แล้วหลังจากนั้นก็ตามกระตุ้นรวมทั้งฉีดรายใหม่เพิ่มขึ้นด้วย จะได้เป้าหมายอย่างรวดเร็ว ถ้ามีวัคซีนชนิดอื่นมาเสริมด้วยแล้ว จะทำให้การให้วัคซีนกับประชาชนหมู่มากประสบผลสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น

ใช้เครื่องหัวใจ-ปอดเทียมพยุงชีวิต

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กส่วนตัวของ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุว่า “เมื่อวาน (2 พ.ค.) ผู้ป่วยโควิดวิกฤติศิริราชรายแรกของ 20 กว่ารายในระลอกสาม ต้องพยุงชีวิตด้วยเครื่องหัวใจและปอดเทียม (ECMO) เนื่องจากใช้ไฮโฟลว์ไม่ได้ผล ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจแล้วใช้เครื่องช่วยหายใจมากว่าสองสัปดาห์ปอดก็ยังทรุดลงต่อไปอีก จึงต้องมาถึงทางเลือกสุดท้าย ผมแจ้งญาติผู้ป่วยทางโทรศัพท์ด้วยตนเอง อธิบายความคืบหน้าของโรคและความจำเป็นพร้อมขออนุญาตเพื่อดำเนินการ เข้าใจความรู้สึกคนที่อยู่ปลายสายดีว่ามันว้าวุ่นและสับสนเพียงใด ผมบอกถึงโอกาสที่ยังพอเหลือ สำหรับการยื้อชีวิตเขาไว้ถ้าแผนการรักษาได้ผล ปิดท้ายด้วยคำพูดที่ว่า “หมอและทีมสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุด จะทำทุกวิถีทาง และจะทำอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเซฟชีวิตของคุณ...ไว้ให้ได้” ไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับคนไทยรายใดเลย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนแห่งชนชั้นรากหญ้าหรือคนบนหอคอยงาช้าง”

แล็บตรวจเจอเชื้อให้แจ้ง ศปคม.

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประชาชนเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากคลินิกเอกชน เมื่อทราบผลว่าเป็นผู้ติดเชื้อ จะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ประสบปัญหาไม่มีเตียงรองรับ ข้อจำกัดดังกล่าวได้มีการแก้ไข โดยกรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบสายด่วน 1668 ในการประสานหาเตียงให้ผู้ป่วย ได้ตกลงกับแล็บเอกชนว่า จากนี้เมื่อแล็บเอกชนตรวจพบผู้ติดเชื้อ ให้รายงานไปที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (ศปคม.) กรมควบคุมโรค ขณะเดียวกันให้รายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อมาที่สายด่วน 1668 เพื่อที่ 1668 จะโทร.กลับมาหาผู้ติดเชื้อ สอบถามอาการและจัดหาสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด

เตือนระบาดในครอบครัวเกิดมาก

นายสาธิตกล่าวต่อว่า ได้รับรายงานว่า อสม. เมืองแกลง จ.ระยอง เสียชีวิตจากโควิด -19 ทั้งที่ไม่ได้ออกจากบ้านไปที่ไหน เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว แต่การสอบสวนโรคพบว่าลูกทำงานอยู่กรุงเทพฯกลับไปเยี่ยม ขณะนี้กำลังตรวจหาเชื้อจากลูกว่าติดเชื้อหรือไม่ จึงอยากเตือนประชาชนว่า ขณะนี้การระบาดในครอบครัวเกิดขึ้นจำนวนมาก จะต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษแม้แต่การรับประทานอาหารในครอบครัว โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯกลับไปเยี่ยมบ้าน

โทร.1668 ขอเตียงได้แล้วไม่เอา

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลโทร.สายด่วน 1668 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. มีประมาณ 1,000 สาย ในจำนวนนี้ติดต่อขอเตียง 100 สาย ส่วนใหญ่มีเตียงของโรง-พยาบาลที่ไปตรวจรองรับอยู่แล้วไม่ทันใจ บางส่วนมีการตกหล่นจริงๆ ทีมแพทย์จะคัดกรองและจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโดยเร็ว มีผู้ป่วยบางรายได้รับการติดต่อกลับไปแล้วปฏิเสธการรักษา เพราะคิดว่าสามารถดูแลตัวเองได้ กรณีเช่นนี้ หากเป็นการตรวจพบเชื้อใน 7 วัน แม้จะไม่มีอาการ แต่เป็นระยะของการแพร่เชื้อ มีความจำเป็นต้องกักกันโรค จะให้ตำรวจ 191 เป็นผู้ประสานเชิญผู้ป่วยที่ไม่ยินยอมเข้ารับการรักษาให้เข้ามารักษาให้ได้ จะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว แต่ถ้าไม่มีอาการมามากกว่า 7 วัน และอยู่ในเงื่อนไขที่อาจจะดูแลตัวเองที่บ้านได้ ต้องลงทะเบียนรับคำแนะนำจากทีมแพทย์ที่ไปตรวจ มีการติดตามอาการเป็นระยะจนกว่าจะพ้นระยะการแพร่เชื้อ คือ 14 วัน

เคลียร์เรื่องใส่ท่อช่วยหายใจ

ส่วนที่มีประชาชนสงสัยกรณีที่ ศบค.รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยระบุว่า มีผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แตกต่างกันอย่างไร นพ.ณัฐพงศ์กล่าวต่อว่า จะแบ่งอาการผู้ป่วยเป็น 4 ระดับ คือ 1.ไม่มีอาการ 2.มีอาการเล็กน้อย 3. อาการปานกลาง 4. ผู้ป่วยมีอาการหนักและรุนแรง กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก ข้อมูลวันที่ 3 พ.ค. มี 981 คน ในจำนวนผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 278 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจไม่ใช่ว่าจะเสียชีวิตทั้งหมด ตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรกถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจกว่า 400-500 ราย ตัวเลขเสียชีวิตยังอยู่ที่ 100 กว่าราย รอบนี้พบว่ามีเด็กติดเชื้อมาก เป็นไปตามสัดส่วนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนักเช่นกัน การดูแลรักษาเด็กใช้วิธีเดียวกันกับผู้ใหญ่แต่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือเฉพาะทาง ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ มีสถานพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กรองรับเพียงพอ

กินอาหารในรถเสี่ยงแพร่โรค

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีร้านอาหารมีการเสิร์ฟอาหารในรถ และมีการรับประทานอาหารในรถว่า การรับประทานอาหารในรถถือเป็นความเสี่ยง เพราะระหว่างรับประทานอาหารมีการถอดหน้ากาก ผู้รับประทานอาหารอาจเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน หรือเพื่อน ไม่มีการเว้นระยะห่าง อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ แนะนำประชาชนควรสั่งอาหารจากร้านกลับมาทานที่บ้านจะดีกว่า การรับประทานอาหารในรถไม่เป็นไปตามมาตรการของ ศบค.ที่ให้ ประชาชนสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ย้ำเอกชนซื้อวัคซีนได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ ผู้แทนบริษัทนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ว่า จากการหารือมีความเข้าใจกันอย่างดี กระทรวงพร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนของโมเดอร์นา แต่ผู้ผลิตต้องส่งเอกสารตามที่ อย.กำหนด เพื่อพิจารณา ขอยืนยันว่าไม่ได้กีดกันวัคซีนใดๆที่เข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก ตัวแทนบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทุกแห่งรวมทั้งโมเดอร์นา จะขายผ่านรัฐบาล หรือหน่วยงาน ภายใต้การกำกับของรัฐบาล ได้ให้คำยืนยันกับโมเดอร์นาว่าเมื่อเอกชนไม่สามารถซื้อได้ เพราะติดเงื่อนไขจากบริษัทผู้ผลิต กระทรวงก็พร้อมให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้นำเข้าวัคซีน แต่ภาคเอกชนต้องยืนยันยอดการซื้อให้องค์การเภสัชฯ เพราะองค์การเภสัชฯไม่สามารถซื้อมาสต๊อกรอเอกชนมาซื้อต่อได้ เอกชนซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนในไทยได้ตอนนี้ มีแอสตราเซเนกา ซิโนแวค จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนที่รอขึ้นทะเบียนอยู่ได้แก่ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา สปุตนิก V

แจงการขอสิทธิ์เลือกวัคซีน

นายอนุทินกล่าวอีกว่า วัคซีนที่ใช้ทั่วโลกขณะนี้ อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ผลิตที่ขึ้นทะเบียนออกตัวว่า ไม่สามารถเรียกร้องการชดใช้อะไรได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่นำวัคซีนไปใช้ ต่างรับสภาพอยู่แล้วว่านี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นการสั่งผ่านองค์การเภสัชฯจะมีบันทึกข้อตกลงไว้ว่าเป็นผู้นำเข้าเท่านั้น หากการนำไปใช้เกิดผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ องค์การเภสัชไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ เอกชนที่นำไปใช้ต้องแจ้งต่อผู้มารับการฉีดวัคซีนให้ทราบและมีมาตรการดูแลด้วย ในส่วนของภาครัฐจะมีมาตรา 41 ของ สปสช.ดูแลอยู่ ส่วนที่มีกระแสเรียกร้องขอสิทธิ์เลือกยี่ห้อฉีดวัคซีนเอง นายอนุทินกล่าวว่า เราไม่ได้สั่งวัคซีนทุกชนิดเท่ากันหมด ขึ้นอยู่กับ สถานการณ์ คุณสมบัติ วัตถุประสงค์ที่นำเข้ามา เช่น ซิโนแวคมีคุณสมบัติเรื่องระยะเวลาการฉีด ดังนั้นจึงฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์ คนทำงานหน้าด่าน ที่อายุต่ำกว่า 60 ปีก่อน ส่วนแอสตราเซเนกา ฉีดสำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากวัคซีนแอสตราเซเนกายังมีจำกัด ก็ขอให้คนที่มีอายุน้อยฉีดซิโนแวคไปก่อน สำหรับไฟเซอร์ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป หากมีการนำเข้ามา เด็กก็ควรได้รับวัคซีนนี้ก่อน ในระยะต่อไป หากวัคซีนไฟเซอร์มีมากพอก็จะพิจารณาให้กับกลุ่มอื่น

ค้นหาเชิงรุก 3 ชุมชนที่ระบาด

อีกด้านหนึ่ง ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า จากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อที่ทำงานในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ อยู่อาศัยในชุมชนเขตคลองเตย มีบ้านอยู่ติดๆกัน การระบายอากาศไม่ดี อาจจะทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง กทม. และ สปคม. ลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนที่มีการระบาดจำนวนมาก 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ในวันที่ 27-30 เม.ย. จำนวน 1,336 คน พบติดเชื้อ 99 ราย กทม.ต้องเร่งค้นหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดให้ได้มากที่สุด เพื่อยุติการระบาดให้เร็ว เป้าหมายการตรวจวันละ 1 พันคนและพยายามเพิ่มศักยภาพการตรวจให้ครอบคลุมทุกชุมชน

เร่งฉีดวัคซีนชุมชนคลองเตย

ทางด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งกระจายฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาดอย่างเร่งด่วน โดยจะฉีดให้ชุมชนคลองเตยในวันที่ 4 พ.ค. รวม 2 จุดคือที่โลตัสพระราม 4 และโรงเรียนคลองเตยวิทยาตั้งแต่เวลา 13.00 น. คาดว่าจะฉีดได้ 1 พันคน ขณะที่วันต่อไปจะฉีดได้วันละ 2-3 พันคน จนถึงวันที่ 19 พ.ค.คาดว่าจะได้ถึง 2 หมื่นคน จากคนในชุมชนกว่า 9 หมื่นคน ส่วนการล็อกดาวน์คลองเตยยังทำไม่ได้

พัฒนาระบบไลน์ค้นหาเชิงรุก

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้พัฒนาระบบสารสนเทศผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รอเข้ารับการรักษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Line : @bkkcovid19connect เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรับผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุก ผู้ที่แจ้งข้อมูลผ่าน Line : @bkkcovid19 connect ได้ คือผู้ป่วยหรือญาติ รวมทั้งผู้แจ้งอาจเป็นประธานชุมชน ผู้นำชุมชน หรือผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่เดียวกับผู้ป่วยซึ่งต้องทราบข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย ขอให้ผู้แจ้งเตรียมข้อมูลของผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อแล้วและกักตัวรออยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น และอย่ากรอกข้อมูลซ้ำ หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถกรอกข้อมูลใหม่ได้ ทั้งนี้ ระบบได้เปิดให้บริการแล้ว

อาลัย “เลิศ อัศเวศน์” โควิดพราก

วันเดียวกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความอาลัยอย่างยิ่งต่อการจากไปของนายเลิศ อัศเวศน์ อายุ 100 ปี นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประ เทศไทย ที่ถึงแก่กรรมเมื่อเช้าวันที่ 3 พ.ค. นับเป็นการสูญเสียบุคคลที่ทรงคุณค่าในวงการหนังสือพิมพ์ การถึงแก่กรรมของนายเลิศ สืบเนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19 และก่อนหน้านี้ครอบครัวได้นำนายเลิศเข้ารักษาที่ รพ.เกษมราษฎร์ -รามคำแหง ต่อมาอาการดีขึ้น แพทย์ให้กลับไปดูแลต่อที่บ้าน หลังจากนั้นเพียง 3 วันอาการทรุดส่งโรงพยาบาลอีกรอบ กระทั่งสิ้นลม ทั้งนี้ ครอบครัวอัศเวศน์ได้ทำพิธีฌาปนกิจศพนายเลิศในเวลา 15.00 น.วันเดียวกัน ที่วัดเทพลีลา

เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “ไทยรัฐ”

ประวัตินายเลิศ อัศเวศน์ เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2465 เป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส รุ่นราวคราวเดียวกับอิศรา อมันตกุล โชติ มณีน้อย มนุญ วัฒนโกเมน เริ่มงานหนังสือพิมพ์ครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษประชามิตรรายวัน ที่มีกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ ในปี 2488 ก่อนมาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลัก–ไทย ในปี 2491 นายเลิศได้ร่วมกับนายกำพล วัชรพล ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ข่าวภาพรายสัปดาห์ จากนั้นพัฒนามาเป็นข่าวภาพรายสามวันและข่าวภาพรายวัน ก่อนมาใช้หัวหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองและมาใช้หัวหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” จนถึงปัจจุบันและมีชื่อเสียงในฐานะที่มีจำนวนจำหน่ายมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ นายเลิศยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ปัจจุบันคือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับอิศรา อมันตกุล และเพื่อนนักข่าวอีกหลายคน ในปี 2499 ในบั้นปลายชีวิต นายเลิศเป็นที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด และกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 3 พ.ค. สิริรวมอายุ 100 ปี 1 เดือน 4 วัน

มาดามแป้งประกาศกักตัว

วันเดียวกันนี้ มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Madam Pang -มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ว่า เนื่องจากแป้งได้ทราบผลการตรวจเชื้อโควิดเป็นบวกของคนงานและแม่บ้านในบ้าน 3 คนเมื่อคืน (2 พฤษภาคม) โดยคาดว่าเกิดจากการไปจ่ายตลาดในวันที่ 21 และ 28 เมษายนค่ะ ทั้งหมดได้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาตามมาตรการของรัฐเรียบร้อยแล้วค่ะ ในจำนวนคนงานที่ติดเชื้อนั้นมี 2 คนที่ทำงานใกล้ชิดกับแป้งในบ้าน ทำให้แป้งเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น เช้าวันนี้ (3 พฤษภาคม) แป้งจึงรีบเดินทางไปตรวจเชื้อโควิดที่โรงพยาบาล ซึ่งผลออกมาเป็นลบค่ะ อย่างไรก็ตาม แป้งจะทำการกักตัว 14 วันตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยนะคะ โดยจะมาแจ้งผลการตรวจในครั้งต่อไปให้ได้ทราบเป็นระยะๆค่ะสำหรับคนอื่นๆที่บ้านได้มีการส่งตรวจหาเชื้อแล้วค่ะ กำลังรอผลตามลำดับ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีลูกชายอายุ 9 เดือนของคู่สามีภรรยาที่ติดเชื้ออยู่ด้วยค่ะ แป้งได้กำชับให้เฝ้าระวังอาการและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ แป้งขอขอบคุณทุกกำลังใจ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนในวิกฤติครั้งนี้เช่นกันนะคะ ขอให้ทุกคนปลอดภัยและผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ด้วยกันนะคะ

กาชาดหัวหินตั้งครัวพระราชทาน

ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพัลลภ สิงหเสรี ผวจ.เป็นประธานปิด “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” ณ สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติฯ นายพัลลภเผยว่า สมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงห่วงใยและทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้สภากาชาดไทย โดยสำนักงาน บรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ จัดตั้งครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ประกอบอาหารปรุงสุกใหม่นำไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชน โดยได้นำอาหารและน้ำดื่มไปมอบให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ผู้อยู่ระหว่างการกักตัว ผู้ยากไร้ ผู้พิการทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดประจวบฯ รวม 25,645 ชุด

ปิดตลาดกุ้งอยุธยาอีก 7 วัน

นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ประชุมพิจารณามาตรการเร่งด่วนในสถานการณ์โควิด-19 ถึงความก้าวหน้าการปรับปรุงตลาดกลางเพื่อการเกษตรหรือตลาดกุ้ง ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา โดยทีมศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ได้ตรวจประเมินร่วมกับทีมสาธารณสุขจังหวัดและ อบจ.เมื่อวันที่ 3 พ.ค.จำนวน 12 ร้าน พบว่าผ่านการประเมิน 1 ร้าน ไม่ผ่านการประเมิน 11 ร้าน ประเด็นที่ไม่ผ่าน ได้แก่ การควบคุมจำนวนลูกค้าการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ การติดตั้งบ่อดักไขมัน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด มีมติให้ปิดตลาดกุ้งต่อไปอีก 7 วัน

คลัสเตอร์ใหม่พระสมุทรเจดีย์

ที่ จ.สมุทรปราการ นายวันชัย คงเกษม ผวจ.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ใน จ.สมุทรปราการ วันที่ 3 พ.ค. ว่า มี 161 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ 148 ราย รับมารักษาต่อในสมุทรปราการ 13 ราย ติดเชื้อสูงสุดยังอยู่ในพื้นที่ อ.เมืองสมุทรปราการ 82 ราย อ.พระประแดง 37 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงอายุ 47 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไตวายและยังพบคลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่ อ.พระสมุทรเจีย์ บริษัท ซีเอสพี สตีลเซ็นเตอร์ จำกัด พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 128 ราย ส่วนใหญ่เป็นพนักงานชาวเมียนมาและกัมพูชา พื้นที่ อ.เมืองสมุทรปราการ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ พบ 11 ราย สำนักงานการไฟฟ้านครหลวงสมุทรปราการ 8 ราย บีกิน บาร์ 23 ราย ร้าน Desttination 3 ราย อ.พระสมุทรเจดีย์ บริษัท ไทยคอน 12 ราย โต๊ะสนุ้กเกอร์วัดแหลม 10 ราย

นนทบุรีเจอโควิดอีก 67 ราย

ทางด้านศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 3 พ.ค. รวม 67 ราย เป็นหญิง 30 ราย ชาย 37 ราย ต่างชาติ 2 ราย (เมียนมา 1 ราย ลาว 1 ราย) พื้นที่ อ.บางบัวทอง 22 ราย อ.เมืองนนทบุรี 19 ราย อ.บางใหญ่ 11 ราย อ.บางกรวย 10 ราย อ.ไทรน้อย 3 ราย อ.ปากเกร็ด 2 ราย ผู้ป่วยแสดงอาการ 51 ราย ไม่แสดงอาการ 16 ราย

ก้นร้อนโพสต์สั่งเร่งเยียวยา

เวลา 19.15 น. พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ว่า วันนี้ได้ประชุมกับคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการดูแล และเยียวยาประชาชนและธุรกิจต่างๆ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุด ในขณะที่เราจำเป็นต้องเข้มงวดในเรื่องสาธารณสุข และยับยั้งควบคุมโรค สิ่งสำคัญเน้นย้ำกับคณะทำงาน ต้องรีบออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนและการทำมาค้าขายอย่างรวดเร็วที่สุด ถึงตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนกันอย่างสาหัสและยิ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วน