เป็นข่าวดีอย่างยิ่งเมื่อ ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชฯสามารถผลิตยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ Favipiravir 200 mg ในระดับอุตสาหกรรมได้แล้ว ล่าสุดผลิตได้แล้ว 200,000 เม็ด เพิ่งทดสอบตัวยาไปเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ กำหนดแล้วเสร็จและยื่นขอขึ้นทะเบียนยากับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประมาณเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2564 เมื่อได้ทะเบียน อย.แล้วก็เริ่มผลิตจำหน่ายได้ทันที

ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็น ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 รัฐบาลซื้อจากญี่ปุ่นลอตละ 5 แสนเม็ด 2 ล้านเม็ด วันนี้ไทยผลิตได้เองแล้ว แต่กลับไปติดขัดที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ของไทยเอง

ภญ.ศิริกุล เปิดเผยว่า ในสถานการณ์โรคระบาด รัฐบาลสามารถใช้มาตรการ “สิทธิตามสิทธิบัตรยา” หรือ CL นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่ยังติดสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรยา พ.ศ.2542 มาตรา 51-52 โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าของสิทธิบัตรยา เช่น เกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขขึ้นในประเทศ แต่ต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า ดังนั้น ในขณะนี้นายกรัฐมนตรีโดยการอนุมัติจาก ครม. สามารถประกาศใช้ CL ได้ทันที

ผมเชื่อว่า การใช้มาตรการซีแอล เพื่อ ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเร่งด่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. ย่อมต้องรู้เรื่องดี แต่ทำไมจึงไม่ประกาศใช้มาตรการ CL ทันที ผมก็ไม่ทราบได้ ทั้งที่ไทยอยู่ในภาวะวิกฤติโรคระบาด มีผู้ป่วยจำนวนมาก ยาฟาวิพิราเวียร์ กระจายไม่ทั่วถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ปัญหาที่ติดขัดในเวลานี้ ภญ.ศิริกุล เปิดเผยว่า อยู่ที่ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรยา ของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่ไปแก้ไข เพิ่มอำนาจให้เจ้าของสิทธิบัตรยา หากไม่พอใจการประกาศใช้มาตรการ CL ก็สามารถจะอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อคัดค้านได้ หากเป็นเช่นนี้ การผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ของไทยก็จะมีปัญหาในอนาคตทำให้ไม่สามารถผลิตและจำหน่ายยาได้เอง ฟังแล้วก็ละเหี่ยใจ อุปสรรคที่ทำให้ประเทศไทยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาจากรัฐบาลไทยอีกแล้ว น่าเศร้าใจจริงหนอ

...

เรื่องนี้ “ชมรมแพทย์ชนบท” เคย คัดค้านการจดสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ของญี่ปุ่น มาแล้วโดยระบุว่า ยานี้ไม่มีสิทธิบัตรยาตั้งต้นในประเทศไทย แต่บริษัทมายื่นขอ “จดสิทธิบัตรรูปแบบเม็ด” ต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งคำขอสิทธิบัตรในลักษณะนี้ “ไม่มีทั้งความใหม่และนวัตกรรมที่สูงขึ้น” จึงไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร แต่กรมทรัพย์สินฯก็ไม่ปฏิเสธคำขอนี้

คุณวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (กรมนี้คนไทยที่จดลิขสิทธิ์ต่างก็เจ็บปวดหัวใจกันมาแล้ว) แถลงว่า สิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์มี 2 ฉบับ ฉบับแรกเกี่ยวกับโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักของยา ซึ่ง ไม่เคยยื่นขอสิทธิบัตรในไทย ปัจจุบัน หมดอายุคุ้มครองทั่วโลกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ผู้ผลิตยาสามารถนำสูตรโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักนี้ไปพัฒนาเป็นสูตรยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ทันที

ฉบับที่ 2 ขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ในรูปแบบยาเม็ด (ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ที่ขายกันทั่วไปก็เป็นยาเม็ดอยู่แล้ว) กรมได้ตรวจสอบและแจ้งไปยังผู้ขอเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2564 ว่า สิทธิบัตรยาดังกล่าวไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ผู้ขอมีเวลาชี้แจงถึง 30 สิงหาคม 2564 หากไม่มาชี้แจงตามกำหนดจะถือว่าละทิ้งคำขอ

แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ในมือ ใช้ความเป็นผู้นำประเทศหน่อยครับ ประชาชนขอร้อง เพื่อช่วยชีวิตคนไทยทั้งประเทศ สั่งถอนคำขอสิทธิบัตรยาเม็ดญี่ปุ่น ซึ่งไม่ควรให้จดสิทธิบัตรยาแบบนี้อยู่แล้ว องค์การเภสัชฯจะได้ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์มารักษาคนไทยด้วยกันเอง จะได้ไม่ต้องซื้อจากญี่ปุ่นเม็ดละ 150 บาท (อินเดียขายเม็ดละไม่ถึง 1 ดอลลาร์ ราว 31 บาท) ไทยผลิตเองถูกกว่าราคาอินเดียแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”