สพท.เรียกร้องผ่านสื่อออนไลน์ เนื่องใน วันแรงงาน 64 ถึง “บิ๊กตู่" 7 ข้อ โดยเฉพาะการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด เผยสถานการณ์น่าวิตกปี 64-65 อัตราว่างงานจะมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อแรงงานที่จะใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต เพราะองค์กรภาคเอกชนปรับกลยุทธ์ ปรับโครงสร้างลดต้นทุน ขณะที่กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ยื่นหนังสือถึง “จับกัง 1” เรียกร้อง 10 ข้อ หลังถูกเลิกจ้างและตัดเงินเดือนเพราะพิษโควิด ด้านนายกรัฐมนตรีป้อนคำหวานถึงผู้ใช้แรงงานผ่านเพจ “ไทยคู่ฟ้า” ยันห่วงใยความปลอดภัยและสุขภาพ เร่งควบคุมการ แพร่ระบาดของโควิดและกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือพี่น้องแรงงานให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้
“บิ๊กตู่” อวยพรผู้ใช้แรงงานผ่านเพจ “ไทยคู่ฟ้า” เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปราศรัยเนื่องใน โอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 2564 วันที่ 1 พ.ค.ผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ว่า ขอส่งมอบความรักและ ความปรารถนาดีมายังพี่น้องแรงงานไทยที่เป็นกำลังสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนตลอดมา เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ปีนี้ต้องงดจัดกิจกรรมอีกปี รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัย ด้านสุขภาพอนามัย มิได้นิ่งนอนใจดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดควบคู่กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน และการมีงานทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงานให้ผ่านพ้นวิกฤติและพร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็งในเร็ววัน และสนับสนุนด้านสวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และพัฒนาความสามารถศักยภาพแรงงานอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องต่อความต้องการตลาด แรงงานที่เปลี่ยนไปภายหลังสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น
...
ส่วนที่สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่ง ประเทศไทย (สพท.) และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) พร้อมเครือข่าย ตั้งโต๊ะแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อระลึกถึง ผู้ใช้แรงงานทั้งในระดับสากล รวมทั้งในประเทศไทย พร้อมเรียกร้องผ่านสื่อออนไลน์ไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อให้ รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ขอให้มีนโยบายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนด้านแรงงาน สร้างความมั่นคงในการทำงานของผู้ใช้แรงงาน และเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ 7 ข้อ
1.ขอให้รัฐบาลจัดหาวัคซีน และเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 เป็นการเฉพาะ ให้เร็วขึ้น ให้ครอบคลุมผู้ประกันตนถ้วนหน้า 2.ขอให้รัฐบาลตรากฎหมาย “จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง” กรณีที่สถานประกอบกิจการ ปิดกิจการ หลีกเลี่ยงการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน 3.ขอให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคมโดยแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ดังนี้ 3.1) ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญได้ และปรับฐานเงินรับบำนาญชราภาพไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน 3.2) ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับบำนาญชราภาพแล้ว สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และ ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ทดแทน 3 กรณี ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพและค่าทำศพ
4.ขอให้รัฐบาลขยายสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน หากลูกจ้างประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิตจากการทำงานให้ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนโดยไม่จำกัดวงเงินค่ารักษาพยาบาลให้จนสิ้นสุดการรักษา 5.ขอให้รัฐบาล สนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการ ในมิติการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ของคนงาน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและความเหลื่อมล้ำทางสังคม 6.ให้รัฐบาล “จัดตั้งธนาคารแรงงาน” เพื่อเป็นสถาบัน การเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมการออม ของผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะ และ 7.ให้รัฐบาลส่งเสริมอาชีพทางเลือก และประกันรายได้ให้กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ประกอบอาชีพทางเลือก
นายมนัสกล่าวต่อว่า แนวโน้มสถานการณ์ด้านแรงงานปี 64-65 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่าองค์กรภาคเอกชนด้านการอุตสาหกรรม ปรับกลยุทธ์และออกแบบการ ทำงานรูปแบบใหม่เพื่อลดต้นทุน ปรับโครงสร้างองค์กร และออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ ส่งผลให้รูปแบบ การจ้างงานมีความยืดหยุ่นจากการจ้างงานแบบประจำ มาเป็นรูปแบบการจ้างงานในระยะสั้นประเภทต่างๆ ทั้งการจ้างงานในรูปแบบ เอาต์ซอร์ส (Outsource) หรือให้รับงานไปทำที่บ้าน และนำเทคโนโลยีเข้ามา ทำแทนแรงงานคนมากขึ้น อาทิ พนักงานขายหน้าร้าน พนักงานบริการลูกค้า พนักงานส่งเอกสาร ธุรการ พนักงานขนส่ง เพื่อลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ ส่งผลต่อความจำเป็นในการที่ใช้แรงงานคนมีแนวโน้มลดลงไปด้วย
ประธาน สพท.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ จะใช้วิธีปรับโครงสร้างองค์กร เลิกจ้างคนงาน หรือจัดทำโครงการสมัครใจออกจากงาน (Early Retirement) ผลจากการลดแรงงานในระบบอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ทำให้ตัวเลขของอัตราการว่างงานมากขึ้น สร้างผลกระทบต่อความ ไม่มั่นคงในการทำงานของผู้ใช้แรงงานที่จะดำรงชีวิต ต่อไปในอนาคต สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สพท. เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) มูลนิธิหญิงชาย ก้าวไกล พร้อมองค์กรเครือข่ายด้านแรงงานทุกภาคส่วน ขอประกาศแถลงการณ์ข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2564 ให้นายกรัฐมนตรีได้ทราบต่อไป
วันเดียวกัน ที่ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อคนทำงาน ต.บางเกลือ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมคณะร่วมอ่านแถลงการณ์ ด้วยวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากล หรือวันแรงงาน ทุกปีจะมีขบวนแรงงานภาคส่วนต่างๆจัดกิจกรรมเดินขบวนเฉลิมฉลองและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานในประเด็นต่างๆ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ คสรท. และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีมติ ให้งดจัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมคนจำนวนมาก ปรับกิจกรรมให้สอดคล้องสถานการณ์ กำหนดร่วมประกาศ เจตนารมณ์ในวันกรรมกรสากล ประจำปี 2564 ไลฟ์สด ให้กับสมาชิกในกลุ่ม และอ่านแถลงการณ์เนื่องใน วันกรรมกรสากล 2021 แทน
ส่วนที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ จ.ชลบุรี มีกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก นำโดยนายบุญยืน สุขใหม่ อายุ 51 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มพร้อมสมาชิก ยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มีนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน มารับหนังสือแทน นายบุญยืนกล่าวว่า เนื่องในวันแรงงานสากล ทางกลุ่มเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานในภาคตะวันออกตระหนักว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานต้องประสบ ปัญหาถูกเลิกจ้างหรือตัดเงินเดือน ขอเรียกร้องให้ รมว.แรงงาน และรัฐบาลแก้ไขปัญหา 10 ข้อ อาทิ รัฐต้องฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้แรงงานและประชาชนทุกคนภายในเดือน มิ.ย.64 รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างที่ติดเชื้อโควิดได้รับการรักษา และไม่ถูกตัดสิทธิในการลาใดๆจากนายจ้าง รัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจโควิด ผู้ประกันตน ม.33 ที่เป็นแรงงานข้ามชาติต้องได้รับการเยียวยาผลกระทบจากโควิดเช่นเดียวกับแรงงานไทย รัฐต้อง เยียวยาแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ควบคุมโควิดของรัฐยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 117 ว่าด้วยการห้ามยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน
ขณะที่นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน เผยว่า หลังได้รับหนังสือจะนำให้ รมว.แรงงาน เพื่อนำเสนอรัฐบาล กระทรวงแรงงานมีนโยบาย เชิงรุกต่างๆในสถานประกอบการภาคตะวันออกอยู่แล้ว มีผู้แจ้งมาแล้ว 50 กว่าราย ได้นำเสนอต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง มี 7 ประเด็น 22 ข้อย่อย ทั้งหมด เป็นสวัสดิการของแรงงานตามมาตราที่กล่าวมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานนอกระบบด้วย
วันเดียวกัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก เนื่องในวันแรงงาน ว่า “วันแรงงานสากลรัฐบาลต้องเยียวยาถ้วนหน้าทันที” วันแรงงานปีนี้ แรงงานไทยกลับตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการป้องกันโควิด ส่งผลกระทบอย่างมหาศาล หลายคนตกงาน หลายคนโอทีลดลง หลายคนนายจ้างปิดกิจการชั่วคราว ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องกู้เพิ่มทั้งในระบบและนอกระบบ ที่ผ่านมารัฐบาลเยียวยาพวกเขาน้อยเกินไป ช้าเกินไป เลือกปฏิบัติ แสดงถึงทัศนคติที่ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของคนธรรมดาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐบาลควรเยียวยาพวกเขา อย่างถ้วนหน้าทันที โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกกลุ่มคนที่จะให้ ถือเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้ ไม่ใช่ความเมตตาหรือบุญคุณจากรัฐ ในช่วงที่ยากลำบากอย่างถึงที่สุดท่ามกลางวิกฤติโควิด รัฐบาลมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องดูแลเยียวยาประชาชนผู้สร้างชาติใช้เงินภาษีของพวกเรา ประคับประคองพวกเราประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้