“ผมต้องกินยาครั้งละ 9 เม็ด...!! โดยเฉพาะช่วงแรกของการมีไข้สูง...” คำบอกเล่าของผู้ป่วยโควิดคนหนึ่งกับการกินยาต้านโควิด “ฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) หลายคนคงเคยได้ยินคุณหมอบอกเล่ากันบ้างแล้ว...ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนัก...หมอจะให้กินยา “ฟาวิพิราเวียร์”
ภาพสะท้อนข้างต้นนี้โพสต์โดย “ภัทราพร ตั๊นงาม-ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส” 24 เมษายน เวลา 23.19 น. ย้ำว่า โพสต์นี้ชวนผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว บอกเล่าข้อมูล...เผื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อยนะคะกับชีวิตในโรงพยาบาล ได้พูดคุยกับ “ผู้ป่วยโควิด”ชายคนหนึ่ง...อยู่ในวัยทำงาน เป็นพนักงานออฟฟิศ
เขาติดเชื้อโควิดจากการไปสถานที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้
เขาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.64 ในช่วงที่เตียงพอมีว่าง และออกมาอยู่โรงพยาบาลสนามอีก 6 วัน...ตอนนี้ออกจาก รพ.สนามแล้ว มาพักที่บ้านต่อตามคำแนะนำของแพทย์ หลังอาการดีตามลำดับเป็นปกติแล้ว แต่ยังต้องกักตัวต่อไปอีกจนครบ 28 วัน เพื่อให้แน่ใจ
เขาบอกเล่าถึงอาการโควิดในช่วงที่อยู่ในระบบการรักษาให้ฟังว่า ...“ก่อนวันจะเข้า รพ.ยังไม่มีไข้ยังไม่มีอาการใดๆทั้งนั้น แต่วันที่อยู่โรงพยาบาลเข้าวันที่ 2 เป็นต้นไป มีไข้ขึ้นสูงมาก และมีอาการหนาวสั่น...”
“...อาการโควิดมันก็แปลก อยู่ๆไปเข้าช่วงวันที่ 2 และ 3 เป็นต้นไป จะมีไข้ขึ้นสูงช่วงกลางคืนเริ่มตั้งแต่ราวๆ 5-6 โมงเย็น...วัดไข้ได้ 38+...39+ หนาวสั่น ปวดไข้ปวดตัว...กินข้าวไม่ได้ ไม่อยากกินอะไร แต่ยังได้กลิ่นเหมือนเดิม มีไอแห้งร่วมด้วย...”
...
ครั้งแรกที่ได้กินยา (ฟาวิพิราเวียร์) ผมรู้จักตามที่หมอบอกว่าเป็นยาต้านไวรัส ผมต้องกินครั้งละ 9 เม็ด โหยยย...มันแน่นมากกินจนจุกไปเลย 9 เม็ดนี่อิ่มแทนข้าวไปเลย พี่คิดดูปกติคนเราเวลาปวดหัวกินพาราก็แค่ครั้งละ 1-2 เม็ด แต่นี่กิน 9 เม็ด...มื้อละ 9 เม็ด รวม 2 มื้อ
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ac0PRCWsU7w64l8GrqmTRJZbaHi7nc.jpg)
แต่กินแล้วก็ดีขึ้นนะเหมือนอาการต่างๆมันค่อยๆ หายไปด้วย...แต่พอวันที่ 3 วันที่ 4 อาการไข้ก็กลับมาอีก แต่หมอก็ให้กินลดลงแล้ว เหลือมื้อละ 4 เม็ด กินต่อเนื่องในแต่ละมื้อ เช้ากับเย็น กินจนดีขึ้นเรื่อยๆ กินจนถึงวันที่ต้องออกจากโรงพยาบาล ก็เลิกกิน...อาการป่วยโควิดของชายคนนี้...เข้าโรงพยาบาล แต่หมอก็ไม่ได้ให้กินยาอย่างเดียว...การใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ยังต้องเฝ้าติดตามอาการใกล้ชิด
“เพราะผมมีไข้สูง หมอจึงให้วัดอุณหภูมิไข้ส่งแจ้งข้อมูลผ่านไลน์เจ้าหน้าที่เป็นระยะๆเลย ตั้งแต่ 6 โมงเช้า...10 โมง...บ่าย 2...ช่วง 5-6 โมงเย็น ส่วนดึกๆก็มีโทร.หาขอให้วัดไข้ ตอน 2 ทุ่ม...4 ทุ่ม หรือตี 1...ตี 2 ก็มี
แล้วแต่ช่วงที่ไข้มันขึ้นหรือลดลง บอกเลยว่า เจ้าหน้าที่ใส่ใจดูแลดีมากๆ แต่ช่วงไข้ขึ้นสูง 3-4 วัน ผมก็หลับๆ ตื่นๆ สะลึมสะลือ อาการเหมือนคนเป็นไข้ ทำอะไรไม่ค่อยได้”
ไม่เพียงแต่กินยาครั้งละ 9 เม็ด ในช่วงนั้น หมอยังให้ยาฉีดเข้าเส้นเลือดผ่านทางน้ำเกลือด้วย ทำให้อาการดีขึ้นมาด้วย แต่พอวันหลังไข้ขึ้นหนักอีก หมอก็เพิ่มยาเข้าไปอีก...
อาการโควิดช่วงนี้...ที่เรารับรู้ คือ มีผลต่อปอดมากขึ้น...แล้วเคสของผู้ป่วยคนนี้...เป็นเคสที่เราสนใจเช่นกันว่า เขามีอาการทางปอดด้วยหรือไม่...?
“...มีครับ หมอจับผมตรวจเอกซเรย์ปอด ตั้งแต่ช่วงเข้าไปอยู่แรกๆ แล้วบอกว่าเหมือนเริ่มอักเสบแล้ว เขาถึงให้ยา (ฟาวิฯ) มากินด้วย เขาบอกว่า ปอดมีความผิดปกติ แต่ไม่ใช่ระดับรุนแรงมากจนวิกฤติ
รวมถึงเอาปัสสาวะผมไปตรวจ...มีการเจาะตรวจเลือด...เจาะแขนทั้งซ้ายและขวาอย่างละหลอด บอกว่าไปตรวจหาเชื้อ แทบวันเว้นวันหรือเว้นทุกๆ 2 วันติด เหมือนเจ้าหน้าที่เขาห่วงมากต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อันนี้ผมรับรู้ได้ และเข้าใจว่าเขาทำงานหนักกันแค่ไหน”
เพราะเขาต้องเฝ้าดูแล “คนไข้” ต้องคอยมอนิเตอร์ข้อมูลอาการกันตลอด...
นอกจากนี้ ยังต้องวัดค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้วทุกวัน เขามีเครื่องให้หนีบนิ้วครับ...เกณฑ์มาตรฐานเท่าที่จำได้ จนท.บอก คือ ไม่ต่ำกว่า 96% วัดค่าการเต้นของหัวใจ และระดับของออกซิเจนที่อยู่ในเลือด
เพื่อดูว่า...มีความผิดปกติหรือไม่
ขยายความข้อมูลเพิ่มเติม “ภัทราพร ตั๊นงาม” ระบุว่า กรมการแพทย์แบ่งเกณฑ์ผู้ป่วยโควิดออกเป็น 3 สี...ผู้ป่วยโควิดที่เข้าเกณฑ์กลุ่ม “สีแดง” คือ กลุ่มนี้จะมีอาการหอบเหนื่อย...หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง...มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96%
หรือ...ภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง (Exercise-induced Hypoxia)
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ac0PRCWsU7w64l8GmAaxFgcaRbeW0n.jpg)
คำบอกเล่าของผู้ป่วยรายนี้สะท้อนรายละเอียดของการรักษาได้อย่างดีเรียกได้ว่าทุกกระเบียดนิ้ว ไม่เว้นแม้แต่เวลาเอกซเรย์ก็จะใส่ชุด PPE เต็มที่ เข็นเครื่องเอกซเรย์โมบายเคลื่อนที่เข้ามาหาเรา คอยสอบถาม ถามไถ่ตลอด อย่างเวลาเราปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับระบบร่างกาย เขาก็ตอบก็ให้คำแนะนำว่า มันเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร ทุกคนทุ่มเทมากจริงๆครับ ดูแลผมจนดีขึ้นและย้ายมาพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลสนาม
หลังอยู่โรงพยาบาล 10 วัน...ก็ถูกส่งตัวมาอยู่ที่ รพ.สนาม อีก 6 วัน
“...ในทุกๆวันของ รพ.สนาม ผมยังต้องวัดค่าออกซิเจน และ เอกซเรย์ปอดด้วย รวมถึงวันสุดท้ายก่อนกลับ ผมขอเจ้าหน้าที่เอกซเรย์ ...เขาก็ทำให้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าปอดผมจะยังอยู่...ปอดยังไม่หายไปไหน...” การใช้ชีวิตใน รพ.สนาม เหมือนที่หลายคนเคยรับรู้กันครับ...เจ้าหน้าที่ก็ดูแลอย่างดีในรูปแบบความเป็นโรงพยาบาลสนาม การกิน การอยู่ การใช้ชีวิต ในช่วงนี้อาการดีขึ้นตามลำดับ...
แต่มีอยู่ๆ ช่วงหนึ่งที่ผมแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก รู้สึกแบบหายใจไม่ออกขึ้นมา รีบเรียกเจ้าหน้าที่เขามาช่วยดู แต่ผมก็บอกไปว่า หรือเพราะเป็นกรดไหลย้อน เพราะเคยมีอาการกรดไหลย้อนมาก่อน เขาก็ตรวจอาการ แล้วก็ยืนยันว่า เป็นไปในทิศทางที่เป็นกรดไหลย้อนมากกว่าอาการของโควิด
เพราะตอนนั้นอาการ “โควิด” ผมดีขึ้นมากแล้วจริงๆ...เขายังบอกว่า...เป็นเรื่องที่ตัดสินใจถูกมาก พอรู้ว่าติดโควิดก็ติดต่อโรงพยาบาล เพื่อขอเข้าอยู่ในระบบให้แพทย์ดูแล ดีกว่ากักตัวอยู่ที่บ้าน
ย้อนไปในวันที่รู้ว่าติดเชื้อ (6 เม.ย.64) ผมติดต่อโรงพยาบาลทันที เพื่อขอรับการรักษา เพราะไม่อยากอยู่บ้าน แม้ตอนนั้นติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการใดๆเลยก็ตาม แต่ก็คิดว่าอยู่โรงพยาบาลน่าจะดีกว่ากักตัวอยู่บ้าน ซึ่งก็ไม่เคยคาดคิดว่า พอเข้า รพ.วันเดียว แล้วจะมีไข้หนัก ต้องกินยา ต้องอยู่ในการดูแลของหมอขนาดนี้
กลับออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ผมยืนยันเลยว่าจะดูแลตัวเองให้ดีมากกว่าที่เคย...แต่ตอนนี้ที่พี่ถามว่า กลับมาบ้านแล้ว...ร่างกายผมปกติ 100% หรือยัง ผมก็ว่ายังนะ เหมือนมันยังมีอาการเหนื่อยอยู่
เมื่อก่อนไม่เคยเป็นเลยนะ เพราะออกกำลังกายเสมอ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเหนื่อย ยังไม่เต็ม 100 หรือ...เพราะผมเพิ่งซักผ้า เพิ่งจัดบ้านเสร็จไปเองในช่วงที่ผมไม่อยู่ก็ไม่รู้...ไม่รู้ว่าเหนื่อยเพราะปอด...หรือเพราะทำงานบ้านเสร็จกันแน่...นี่คือคำบอกเล่าของผู้ป่วยชายคนหนึ่ง...กับชีวิตในโรงพยาบาล...และโรงพยาบาลสนาม
“ภัทราพร ตั๊นงาม-ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส” ทิ้งท้ายว่า ไว้มีโอกาสจะไปขอความรู้จากคุณหมอเกี่ยวกับการกินยาต้านไวรัสโควิด-19 จำนวนปริมาณโดยเฉพาะ
“อย่าลืม...ใส่หน้ากากกันนะคะ...ใส่หน้ากาก 100%”.