เมื่อราวสามสิบปีที่แล้ว ผมเริ่มรู้สึกตัวเองว่า สื่อสารกับบัณฑิตวิชาหนังสือพิมพ์ไม่รู้เรื่อง เมื่อเธอทำหน้างง เพราะสงสัย คำว่า“ม้าอารี” คืออะไร

และก็เดาได้ต่อ ถ้าคุยถึงเจ้าลาโง่ อยากเสียงเพราะเหมือนจิ้งหรีด จึงตั้งหน้าเลียน้ำค้างเป็นอาหารจนหิวตาย หรือคุยถึงคนตัดฟืนซื่อ ที่ได้ขวานทองแถมจากเทพารักษ์ เธอก็คงงงต่ออีก

ช่องว่างของการสื่อกันไม่รู้เรื่อง ก็เพราะเป็นเด็กนักเรียนคนละสมัย รุ่นผมอ่านเล่มนิทานอีสป แต่รุ่นเธอไม่ได้อ่าน ไม่ใช่ปัญหาใครโง่กว่าใคร

แต่ถ้าบังเอิญผมได้คุยกับ เด็กรุ่นลูก อาจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ผู้ใหญ่รุ่นผม อาจเหลอหลา

เด็กรุ่นนี้ ไปไกลกว่า เพราะมีพ่อที่มีภูมิระดับราชบัณฑิตเล่านิทานเรื่องเดียวกัน สองเวอร์ชัน ให้ฟังก่อนนอน

ในหนังสือเล่ม “สวนทางนิพพาน” (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2557) อาจารย์เสฐียรพงษ์ เกริ่นนำว่า ความจริงไม่ว่าคนหรือสัตว์ชนิดไหน ถ้าคิดไม่เป็นก็โง่เหมือนๆกัน

เพียงแต่โบราณท่านชอบยกสัตว์ชนิดไหน ก็มักยกสัตว์ชนิดนั้น เล่าเป็นเยี่ยงอย่างแค่นั้นเอง

อาจารย์เสฐียรพงษ์เล่าว่า เมื่อลูกชายยังเล็กๆท่านเล่านิทานเรื่องลาโง่ และคนตัดฟืนให้ฟังทุกคืนก่อนนอน จบเวอร์ชันนิทานอีสปแล้ว ท่านก็เล่าเวอร์ชันสอง เรื่องลาฉลาด และเรื่องคนตัดฟืนฉลาดต่อ

นิทานเรื่องลาฉลาด ท่านเล่าว่า มีลาตัวหนึ่งกินหญ้าชายป่า ได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องไพเราะจับใจ จึงเข้าไปถามว่า เจ้ากินอะไรจึงเสียงไพเราะอย่างนี้

“ข้ากินแต่น้ำค้าง” จิ้งหรีดพูดจบ ลาก็กระทืบจิ้งหรีดแบนแต๊ดแต๋ แล้วคำราม “นี่แน่ะ! มึงจะมาหลอกกู เหมือนจิ้งหรีดตัวในนิทานอีสปหรือ?”

...

นิทานเรื่องคนตัดฟืนฉลาด...ชายคนหนึ่งตัดฟืนอยู่ริมคลองลึก พลาดทำขวานตกลงไปในน้ำ เขาว่ายน้ำไม่เป็น จึงยืนร้องไห้อยู่ เทพารักษ์สงสาร จึงปรากฏกายอาสาลงไปงมให้

ก่อนลงน้ำเทพารักษ์ถอดเครื่องทรง เป็นถนิมพิมพาภรณ์มีราคากองไว้ เมื่อดำลงแล้วโผล่ขึ้นมา ชูขวานเงินถามคนตัดฟืนว่า “ นี่ขวานของท่านใช่ไหม?” “ไม่ใช่” คนตัดฟืนตอบ “ขวานของข้าเป็นขวานเหล็ก”

เทพารักษ์วางขวานเงินไว้ แล้วดำลงไปอีก โผล่ขึ้นมาคราวนี้ ชูขวานทอง “นี่ขวานของท่านหรือเปล่า?” “ไม่ใช่” ตนตัดฟืนตอบเหมือนเดิม “ขวานของข้าเป็นขวานเหล็ก”

เทพารักษ์วางขวานทองไว้ แล้วดำลงไปเป็นครั้งที่สาม ครั้งนี้ได้ขวานเหล็ก

ถามคำเดิม “ขวานของท่านหรือเปล่า?”

คราวนี้ ไม่มีเสียงตอบ ชายตัดฟืนหายไป พร้อมขวานเงินขวานทอง และเครื่่องถนิมพิมพาภรณ์ของเทพารักษ์ ที่กองไว้ด้วยกัน

อาจารย์เสฐียรพงษ์บอกว่า แรกๆลูกก็ฟังนิทานทั้งสองเวอร์ชัน แต่ต่อมา ก็เรียกร้องฟัง แต่เวอร์ชันหลัง

ท่านจึงตั้งชื่อนิทานสองเรื่องนี้ว่า คนตัดฟืนปริญญา กับลาฉลาด

นิทานสองเรื่องนี้ อาจารย์เสฐียรพงษ์ตั้งใจสอนลูกให้รู้ว่า ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าคน กระทั่งเทวดา ย่อมมีทั้งดีและเลว มีทั้งฉลาดและโง่ ลาฉลาดก็มี คนมีการศึกษาต่ำฉลาดก็มี คนโง่ก็ต้องฝึกฝนวิธีคิดให้เป็นคนฉลาดให้ได้

ไม่อย่างนั้น ก็เอาตัวไม่รอด

ผมไม่เคยถาม แต่พอเดาได้ เด็กรุ่นลูกอาจารย์ โตขึ้นจะฉลาดรอบรู้สักแค่ไหน และเชื่อได้ เป็นผู้ใหญ่ที่อ่อนน้อมถ่อมตน รู้กาลรู้สัณฐาน รู้ประมาณ

ไม่ไปไกลเหมือนเด็กรุ่นล่า ที่โตมากับกระแสโซเชียลฯ ซึ่งวันนี้ ไม่ว่าใครหน้าไหน ก็ยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่

ถ้าฉวยพลาดพลั้ง เป็นเรื่องในศาล เด็กรุ่นผมท่องจำอาขยานบท รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี น่าเวทนา เด็กรุ่นใหม่รู้วิชา แต่เอาตัวรอดไม่เป็น.

กิเลน ประลองเชิง