วงการแพทย์ถึงกับหดหู่ท้อแท้ใจด้วย “คำสั่งระเบียบ ว.318” กำลังพ่นพิษกระทบป่วน “โครงการสร้างอาคารโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ” ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินงานโค้งสุดท้ายใกล้เสร็จสมบูรณ์ ต้องมาสะดุดหยุดชะงักไม่สามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยได้ทันที
นับแต่ “กรมบัญชีกลาง” ออกหนังสือเรื่องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงิน และการใช้จ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาเก็บรักษาเงิน ที่เรียกว่า “ว.318” สรุปเนื้อหาว่าโครงการทุกกระทรวงปีงบ 2555-2562 ที่ทำไม่แล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 ก.ย.2563 งบประมาณจะถูกพับไปโดยไม่สามารถขอกันงบได้
เสมือนเป็นการรวบรวมงบประมาณกระจายทั่วประเทศ “กลับคืน” เช่นนี้ย่อมกระทบต่องานก่อสร้างขยายโรงพยาบาล ต้องเกิดภาวะการตกค้างสร้างไม่เสร็จ และในส่วนสร้างไปแล้วนั้นก็ไม่มีเงินจ่ายผู้รับเหมาตามมา...
ตามข้อมูล “ชมรมแพทย์ชนบท” มีงบพับ 82 รายการ จำนวน 2.2 พันล้านบาทและโรงพยาบาลอย่างน้อย 6 แห่ง กำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบากกลายเป็นปัญหาให้ “ผอ.รพ.” วิ่งหาเงินใช้หนี้ด้วยการเปิดรับบริจาค หรือนำเงินบำรุงโรงพยาบาลที่มีจำกัดมาใช้จ่ายชั่วคราว ล่าสุด “กรมบัญชีกลาง” ชี้แจงว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2563
...
ยังมีส่วนราชการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2555-2562 ไม่แล้วเสร็จจำนวนมาก จึงมีหนังสือด่วนที่สุดที่กค 0402.5/ว.318 เพื่อให้ทราบเร่งรับเบิกจ่ายให้เสร็จใน 30 ก.ย. มิให้งบประมาณถูกพับไปโดยผลกฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่กรณีมีคำสั่งเรียกงบประมาณกลับคืนเป็นงบกลาง...
ข้อมูลความทุกข์ผลกระทบ ว.318 นี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน “รพ.สังกัดหน่วยงานรัฐ” ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคคล้ายกันทั่วประเทศ
ต้องรับภาระดูแล “ผู้ป่วย” ที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงกว่าเดิมอีก แต่กลับได้รับจัดสรรงบประมาณสนับสนุน ที่เรียกว่า “งบค่าเสื่อม” ค่อนข้างน้อยเท่าเดิม ในเงินจำนวนนี้สามารถใช้ได้เฉพาะการซ่อมแซมบำรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่านั้น
ยกตัวอย่าง...“รพ.จะนะ จ.สงขลา” ได้รับงบค่าเสื่อมปีละ 5 ล้านบาท สามารถใช้จ่ายซ่อมแซมเครื่องมือชำรุดก็หมดแล้ว ถ้าอยากซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ ต้องของบประมาณตรงจาก “รัฐบาล” ที่มีค่อนข้างจำกัดได้ไม่ทั่วถึง ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์คุณภาพดีเยี่ยมให้บริการประชาชนได้
สาเหตุสำคัญอาจเพราะ...“รัฐบาลยุคนี้” ให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลน้อย แต่มุ่งเน้น “ด้านความมั่นคง” ในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นหลัก ถ้าพูดตรงๆก็คือ... “การซื้ออาวุธ” มีความสำคัญมากกว่า “ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์” ที่เป็นเครื่องมือรักษาช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีชีวิตรอด...
ทำให้ในบางครั้ง “โรงพยาบาลต่างจังหวัด” ต้องจัดโครงการรับบริจาคเงินสำหรับจัดซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่กำลังการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ “พื้นที่อำเภอใดมีพระเกจิชื่อดัง” มักต้องเข้าไปขอพึ่งใบบุญทางวัด ในการช่วยรับบริจาคจากลูกศิษย์ที่ได้เงินมากกว่าปกติ...
ด้วยเหตุที่...“ประชาชนขยายตัวรับบริการเพิ่มขึ้น” ส่งผลให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่เผชิญกับ “ความแออัดให้บริการไม่ทั่วถึง” ทั้งผู้ใช้บริการมากกว่าครึ่งอยู่ในเขตเมือง และมีชาวบ้านตามชนบทเข้ารักษาตามหน่วยแพทย์ใกล้บ้านแล้วไม่ทุเลา หรือไม่ศรัทธาในคุณภาพ ต้องเดินทางมารักษาต่อในโรงพยาบาลขนาดใหญ่แทน
ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาความแออัดที่สำคัญ ก็คือ “การก่อสร้างอาคารทางการแพทย์เพิ่มเติมใหม่” ในการรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ลดปัญหาความแออัดลง ทำให้ “โรงพยาบาลหลายแห่ง” มีการดำเนินงานก่อสร้างขยายอาคารออกไป ในการรับการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วนี้ด้วย
กระทั่งมาเจอกับปัญหาใหญ่ “กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีคำสั่งว.318” โครงการก่อสร้างทุกกระทรวงในปีงบ 2555-2562 ดำเนินการไม่เสร็จ หรือจ่ายเงินไม่แล้วเสร็จก่อนในวันที่ 30 ก.ย.2563 งบประมาณนั้นจะถูกพับไปดึงกลับเป็นงบกลางทั้งหมด ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งที่กำลังก่อสร้างอาคารทางการแพทย์สะดุด
ทว่า...“งบประมาณถูกพับไปนี้” ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างอาคารอยู่ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก...เงินงวดที่ผู้รับเหมาส่งงานตรวจรับแล้วเบิกงบไม่ทันวันที่ 30 ก.ย.2563 ทำให้ผู้รับเหมาไม่ได้รับเงินงวดนี้ ดังนั้น “ผอ.รพ.” ต้องเป็นผู้จัดหาเงินจำนวนนี้มาชำระจ่ายให้แก่ “ผู้รับเหมา” เพราะงบประมาณถูกดึงกลับหมดแล้ว...
กลายเป็นความเดือดร้อนของ “ผอ.รพ.” ต้องจัดหางบอื่นมาจ่าย เพราะคงค้างชำระ 1-2 ล้านบาท ยังพอยอมรับจัดหามาได้ ถ้าเป็นเงิน 10 ล้านบาทอาจต้องเครียดหนักไม่รู้ว่าจะไปเอาจากไหนจ่ายผู้รับเหมาได้ด้วยซ้ำ
ส่วนใหญ่มักต้องนำ “เงินค่าบำรุง” ได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลคนไข้ทุกวัน หรือขอรับบริจาคจากผู้ใจบุญมาจ่ายแทน ทำให้โรงพยาบาลเดือดร้อน และรู้สึกเกิดความไม่เป็นธรรม ในทุกวันก็มีค่าใช้จ่ายรายวันเยอะอยู่แล้ว เมื่อนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายไปแล้ว “เงินเก่าเก็บหมด” ก็ไม่สามารถพัฒนาบริหารระบบส่วนอื่นได้
ประเด็นที่สอง...“การก่อสร้างล่าช้าไปอีก 1 ปี เป็นอย่างน้อย” เช่น รพ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด รับจัดสรรงบให้สร้างอาคารผู้ป่วยใน 114 เตียง 5 ชั้น ในวงเงินจัดสรรราว 44 กว่าล้านบาท ที่สร้างไปแล้วส่วนหนึ่ง และต้องมาเจองบที่พับไปงวด 7-10 เป็นเงิน 4 ล้านบาท งวด 11-17 เป็นเงิน 26 กว่าล้านบาท รวมเป็น 30 กว่าล้านบาท
เมื่องบประมาณถูกพับเช่นนี้การก่อสร้างอาคารต้องหยุดชะงักไปด้วยทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่ตัวอาคารได้ ส่งผลให้ต้องเผชิญกับปัญหาความแออัดเช่นเดิม ดังนั้นคงต้องรอการแก้ปัญหากันต่อว่า จะนำเงินจำนวนนี้มาจากที่ใด เพื่อดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จกันต่อไป
ปัญหานี้ก็มีอยู่ 2 แนวทาง คือ ทิ้งเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างไม่เสร็จ หรือพยายามหาเงินมาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เบื้องต้น “กระทรวงสาธารณสุข” มีแนวทางแก้ไขคร่าวๆ คือ อาจต้องรอของบปี 2565 มาดำเนินการก่อสร้างต่อเติมให้เสร็จ นั่นหมายความ...“ถ้าอยากสร้างต่อต้องรอ 1 ปี” กลายเป็นการถูกทิ้งร้างอีกปีโดยใช่เหตุ
เพราะเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องปล่อยทิ้งร้างไว้นานขนาดนั้นก็ได้ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องแก้ระเบียบคำสั่ง ว.318 ด้วยซ้ำ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญแก่โรงพยาบาล ด้วยการใช้ “งบกลาง” มาดำเนินงานสร้างอาคารทางการแพทย์ให้มีความต่อเนื่องแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบการบริการแออัดของผู้ป่วยที่กำลังขยายตัวนี้ “เข้าใจว่าคำสั่ง ว.318 มีการดึงงบก่อสร้างโครงการทุกกระทรวงทั่วประเทศน่าจะไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อเข้าสู่งบกลางที่มี ครม.ภายใต้การกำกับดูแลของนายกฯ ผู้มีอำนาจเบิกจ่ายได้ตามสมควร ส่วนการดึงงบกลับนี้มีเหตุผลอันใดคงเป็นหน้าที่ “รัฐบาล” ต้องออกมาชี้แจงให้สังคมกระจ่างมากกว่านี้” นพ.สุภัทรว่า
ตอกย้ำว่า...“การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลบางแห่ง” ดำเนินงานเกินกว่า 90% ไปแล้ว ลักษณะอีกนิดเดียวขาดเงิน 2-3 ล้านบาท ก็สามารถสร้างเสร็จเปิดใช้บริการได้ แต่กลับต้องรองบประมาณในปี 2565 เมื่อถึงวันนั้นอาจต้องเปลี่ยนผู้รับเหมาใหม่ และมีการร่างสัญญากันใหม่อีก ทำให้อาจเสียเวลาขยายออกไปอีก 2 ปีด้วยซ้ำ
เช่น รพ.กำแพงเพชร ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของตึกนี้โดยสมบูรณ์ เพราะงบพับไปจากหนังสือสั่งการของกระทรวงการคลัง ว.318 ทำให้ไม่มีเงินจะจ่ายผู้รับเหมาที่ยังตกค้าง 21.7 ล้านบาท แต่ด้วยมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัดต้อง “ขอผู้รับเหมา” ใช้อาคารไปพลางๆ บริเวณ 3 ชั้นก่อน
ปัจจุบันนี้ “ประชาชน” มีความคาดหวังกับโรงพยาบาลของรัฐ ในการได้รับบริการอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้น ทำให้อาคารทางการแพทย์สร้างใหม่ เป็นความหวังผ่อนคลายความแออัด สามารถลดความเครียดให้กับผู้ใช้บริการ และแพทย์ พยาบาล ที่จะส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในการบริการที่ดีตามมา...
เมื่อเป็นเช่นนี้ “งานก่อสร้างโครงการ” คงเป็นหน้าที่ “เจ้ากระทรวง” ต้องเป็นผู้แก้ปัญหาดิ้นรนหาทางออกกัน เช่น ดึงงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้ทดแทนก่อนก็ได้ มิเช่นนั้นอาจจะถูกดัดแปลงโครงสร้างตัวอาคารให้เหมาะสมจาก 10 ชั้นก็เหลือ 5 ชั้น หรือปล่อยทิ้งร้าง กลายเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังระลึกถึงต่อไปอีกหรือไม่
ทั้งหมดนี้คือ “เสียงขอความช่วยเหลือ” จากบุคลากรทางการแพทย์สะท้อนผ่าน “ชมรมแพทย์ชนบท” ส่งต่อข้อความถึง “รัฐบาล” ในการจัดหางบประมาณส่วนอื่น กลับคืนมาดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารทางการแพทย์ ให้มีความต่อเนื่องเสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อให้การบริการมีคุณภาพตามหลักสากล
ถ้าขืนเป็นแบบนี้ต่อไปอาจต้องเป็น “อาคารทิ้งร้าง” ถูกตั้งผงาดไว้อีกหนึ่ง “ค่าโง่” ให้ได้โจษจันกันไปไม่จบสิ้น...