กระทรวงต่างประเทศ เผยช่วงสถานการณ์โควิด-19 พาคนไทยกลับประเทศแล้ว 1.2 แสนคน ล่าสุด ปลดล็อกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกประเทศเข้าราชอาณาจักรได้...
“ไทยรัฐออนไลน์” 27 พ.ย.2563 รายงานว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เสนอแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน (ธ.ค.2563-ม.ค. 2564) สำหรับนักท่องเที่ยวประเทศตะวันตก โดยอยู่ระหว่างพิจารณาให้เข้ามาเป็นกลุ่มโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ
และ...ให้กักตัวในรีสอร์ตหรือสถานที่ที่จะมาท่องเที่ยว เป็นที่พักที่มีความสะดวกสบาย
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการผ่อนคลายเรื่องการตรวจลงตราประเภทต่างๆ ในกลุ่มนี้มี วีซ่าประเภท STV ที่เดินทางเข้ามาทั้งทางเครื่องบินและเรือสำราญ (ยกเลิกเงื่อนไข 500,000 บาท) ทำให้มีการเดินทางเข้ามายังไทยแล้ว 711 ราย...วีซ่ารัส TR กลุ่มนักท่องเที่ยว โดยสามารถขยายอายุพำนักได้ไม่เกิน 2 ครั้ง
ครั้งละ 90 วัน รวม 270 วัน...ยกเลิกการแสดงหลักฐานบัญชีเงินฝากธนาคารวงเงิน 500,000 บาท รวมถึงปลดล็อกให้ชาวต่างชาติเข้ามาได้ ทุกประเทศทั่วโลก จากเดิมที่อนุญาต 23 ประเภท
โดยมีผลตั้งแต่ 2 พ.ย.2563 ซึ่งกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาแล้ว 260 ราย
อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เจ้าของธุรกิจนำเที่ยวประเภทอินบาวน์ รับต่างชาติเที่ยวไทย อยากทำความเข้าใจฝ่ายสาธารณสุข และประชาชนที่กลัวการระบาดซ้ำ เขามองว่า การบริหารความเสี่ยงรับต่างชาติครั้งนี้ ถือเป็นการทดสอบสถานการณ์ หากคืนสู่ปกติจะได้เดินหน้าต่อไป...
...
ถ้าเกิดปัญหาก็ยกเลิกเหมือนอังกฤษเคยทำมา ซึ่งดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
“กรณีรัฐดึงเศรษฐีมีเงินและเวลา มาอาศัยบ้านเราที่มีการป้องกันอย่างดี ถ้าช้อนคนเหล่านี้มาได้จริง 300 คนใช้เงินคนละ 1 ล้านฯ นั่นหมายถึง...ไทยจะทำเงินเข้าประเทศ 300 ล้านบาททันที”
ม.ล.สุรวุฒิ ทองแถม อดีตรองประธานฝ่ายขาย เครือโรงแรมใหญ่ เสริมว่า เศรษฐกิจประเทศที่กระทบมาร่วมปี ไม่ควรจับแต่ปลาในบ่อบ้านตัวเองกิน มันต้องหาปลาจากบ่อนอกมาหนุน...
ข้อสำคัญจะจับปลาจากตลาดแบบเดิมๆไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดมากกว่าพูด
“รัฐต้องกวดขันวินัยให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ห้างต่างจังหวัดหลายแห่งหละหลวมมาก ต่างชาติเข้ามาก็ต้องพร้อมต้อนรับ ตั้งแต่สิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบิน บุคลากรด้านภาษาแต่ละชาติก็ต้องมีสำหรับกลุ่มลองสเตย์...พวกนี้ต้องการสวนสาธารณะออกกำลังกาย และมีป้ายบอกทางสื่อภาษากันได้...”
ประเด็นสำคัญยิ่งที่ขาดไม่ได้คือ...“ความปลอดภัย”
“ตลาดคนไทยคงโตได้ระดับหนึ่งเพราะขาดแหล่งจูงใจใหม่ๆส่วนใหญ่ยังนิยมเที่ยววันหยุด วันธรรมดามีไม่เกิน 10% เมื่อคิดจะใช้ท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ จำเป็นต้องอาศัยตลาดต่างประเทศเป็นหลัก”
กางแผนยุทธศาสตร์แนวรับป้องกันไวรัสร้าย “โควิด–19” อย่างยั่งยืน... “ฟื้นเมืองท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนด้วยการปลูกภูมิคุ้มกันเชิงพื้นที่ เสริมระดับการบริการและสร้างความเชื่อถือระยะยาว”
จัดทำโดย ผศ.คมกริช ธนะแพทย์, ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล, อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้, มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์, ปรีชญา นวราช, ธนพร โอวาทวรวรัญญู
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา “การท่องเที่ยว” มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมในด้านต่างๆ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวนั้น คิดเป็นร้อยละ 10.3 ของ GPD โลก...
ได้สร้างงานให้กับคน 1 ใน 10 หรือคิดเป็น 330 ล้านคนทั่วโลก
“ประเทศไทย”...เรียกได้ว่า เป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับสูง แต่เราก็ได้สร้างความเชื่อมั่นจากมาตรการป้องกันต่างๆ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน...พลิกโควิดเป็นโอกาส กรณีศึกษาภูเก็ต มหานครแห่งการท่องเที่ยว “ไข่มุกแห่งอันดามัน” หรือเมืองภูเก็ต ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเมืองท่องเที่ยว...“ระยะสั้น”
การเว้นระยะห่างอย่างเดียว ไม่พอสำหรับการเปิดเมืองท่องเที่ยวหลังโควิด หากเราต้องออกแบบนิเวศน์แห่งการท่องเที่ยวเพื่อรองรับมาตรการสาธารณสุข ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่กำลังมองหาที่ “พักพิง” หรือ “ลี้ภัย” ในช่วงวิกฤติ โดยการสร้างให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวและอยู่อาศัยชั่วคราวที่ปลอดภัย สร้างระบบความเชื่อมั่น บนพื้นฐานของการปรับตัวของต้นทุนทรัพยากรเดิมที่มีอยู่
โดยใช้ยุทธศาสตร์หลัก 3 ข้อ ข้อแรก...ทำการตลาดและสร้างแบรนด์เมืองในฐานะพื้นที่ปลอดเชื้อ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวปลอดภัยและต้องการอยู่อาศัยระยะยาวเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการการกักตัว 14 วัน
ข้อสอง...จัดการตรวจสอบโรคตั้งแต่ต้นทางและปลายทาง รวมถึงสร้างระบบการเดินทางแบบปลอดเชื้อ ตลอดห่วงโซ่อุปาทานของการท่องเที่ยว ข้อสาม...สร้างพื้นที่ท่องเที่ยวปิดล้อมทางด้านสาธารณสุขพร้อมไปกับการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้อยู่อาศัย...นักท่องเที่ยวที่ต้องกลายมาเป็นพลเมืองในระยะสั้น
และนำมาซึ่ง “พลเมือง” ที่มีคุณภาพใน “ระยะยาว” ต่อไป
เพื่อให้การดำเนินตามยุทธศาสตร์สัมฤทธิผลสำเร็จ จึงต้องดำเนินมาตรการอย่างเป็นระบบใน 8 ขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางถึงพื้นที่ให้บริการ เริ่มจาก...ผู้เดินทางปลอดเชื้อ เพื่อโอกาสแห่งการพักผ่อนระยะยาว สอง...แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย สาม...สนามบินนานาชาติ ประตูแรกสู่ภูเก็ต
สี่...พื้นที่กักตัว ส่วนหนึ่งของการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ ฉีกกฎเกณฑ์การกักตัว 14 วันอย่างหดหู่ สู่การกักตัวอย่างผ่อนคลายด้วยจุดแข็งทางด้านภูมิศาสตร์ การมีลักษณะเป็น “เกาะ” ที่มีการเชื่อมต่อการคมนาคมทางบกจากแผ่นดินใหญ่เพียงจุดเดียว ในขณะที่การเชื่อมต่อทางอากาศบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตนั้นมีการวางตัวที่ห่างไกลจากเขตเมืองกว่า 20 กิโลเมตร อำนวยความสะดวกต่อการคัดกรอง
...ที่สามารถวางระบบการกักตัวได้อย่างรัดกุมมากกว่าจังหวัดที่ท่าอากาศยานตั้งใกล้ตัวเมือง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ...ผู้ประกอบการ กลุ่มโรงแรมใกล้สนามบินริมทะเลที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน อาจจะเป็นการสร้างโอกาสในวิกฤติให้เหล่าผู้ประกอบการ
พลิก “โรงแรม” ที่ไร้แขก สู่พื้นที่ “กักตัว” ที่สร้างรายได้แม้ในสถานการณ์วิกฤติ และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาด สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัด
ห้า...โครงข่ายการเดินทางอย่างปลอดภัย หก...ที่พักปลอดภัย เสริมกลยุทธ์การบริการรูปแบบใหม่ เจ็ด...สร้างเครือข่ายและแนวทางการปฏิบัติร่วมกันของผู้ประกอบการ แปด...สาธารณสุขที่เพียงพอ และรองรับระดับนานาชาติ
สุดท้าย...โอกาสในการฟื้นตัวการท่องเที่ยว “ระยะยาว อย่างยั่งยืน” ภายใต้แนวคิดหลักของการกระจายความหนาแน่นของพื้นที่บริการการท่องเที่ยวออกจากพื้นที่เขตเมือง สู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะ โดยมีพื้นที่ต้นแบบคือ...“กะตะ” “กะรน” ภายใต้กลยุทธ์หลักของการสร้าง “ระบบภูมิคุ้มกันระดับละแวก”
ร่วมด้วยช่วยกัน ส่งกำลังใจ...ให้ “ภูเก็ต” กับยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเมืองท่องเที่ยวระยะสั้น ระยะยาว...สามัคคีคือพลังฝันให้ไกลแล้วต้องไปให้ถึง กระตุ้น “ท่องเที่ยวไทย” ให้ฟื้นกลับคืนมา.