งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่เมืองทองธานี ยังมีถึงวันที่ 11 ต.ค.63 ครับ วันธรรมดา มีคนไปเดินหาซื้อหนังสือหนาตาพอสมควร...แม้มีเสียงบ่น คนไปงานหนังสือที่เมืองทอง น้อยกว่าที่เคยจัดในศูนย์สิริกิติ์
ผมโชคดี มีหนังสือกลุ่มศิลปกรรม สำนักพิมพ์มติชน...อยู่ในมือทั้งสี่เล่ม เล่มแรก ประวัติศาสตร์อยุธยา เล่มสอง รักนวลสงวนสิทธิ์ เล่มสาม มนุษย์อยุธยา จากประวัติศาสตร์สังคม และข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX
เล่มสี่ ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระนารายณ์งานค้นคว้าของ นพ.เอกชัย โควาวิสารัช
ผมอ่านแล้ว พลิกความรู้เดิมๆ นี่คือประวัติศาสตร์ ที่มองเป็นความจริงๆ ของตัวละครใหญ่ในประวัติอยุธยา ซึ่งไม่หรูหราโอ่อ่าสง่างามเอาเสียเลย ขอใช้ลีลาโฆษณา เล่มนี้ไม่ควรพลาด ไปหาอ่านกันให้ได้
หนังสืออีกเล่ม...หอมกลิ่นความดี 72 เรื่องราวคัดสรร สร้างแรงบันดาลใจ (โรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด พ.ศ.2563) ผมเผลออ่านติดพัน รวดเดียวจบเล่ม
คุณประสาร มฤคพิทักษ์ เขียนไว้แต่ละเรื่องสั้นๆ ผมตั้งใจเอาไปเขียนหลายเรื่อง วันนี้ขอเรื่อง คารวาลัยครูใหญ่ แห่งสาธารณสุขชุมชน ก่อน
แวดวงสาธารณสุขของประเทศไทย ต้องจารึกและแสดงคารวาลัย ให้กับ ศ.นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ 2 มิ.ย.63 ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่
ก่อนจะเป็น อสม.1 ล้าน 4 หมื่นคน ที่เป็นตาสับปะรดกระจายอยู่ ทั่วทุกหมู่บ้าน ทำหน้าที่เกาะติด จับตรวจ รายงาน ส่งต่อบุคลากรกลุ่มเสี่ยงในช่วงสถานการณ์ต้านโควิด จนองค์การอนามัยโลกประกาศยกย่อง
ต้องถือว่า ศ.นพ.อมร นนทสุต เป็นคนต้นคิด และลงมือทำ วางรากฐานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496
เมื่อครั้งที่ยังเป็นแพทย์ปริญญาคนเดียว ที่ไปอยู่จังหวัดแพร่
การลงไปพบปะชาวบ้านถึงบ้านช่อง น.พ.อมร เห็นถึงปัญหา ในการเดินทางจากท้องถิ่นไปหาหมอหายาในเมือง สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงคิดหาทางช่วยชาวบ้าน
...
เมื่อเข้าไปพบชาวบ้าน อาจารย์อมรจะมีวิธีการง่ายๆ โดยตั้งคำถามว่า “เวลาลุงป้าน้าอา เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา จะไปหาให้ใครช่วย” เมื่อเขาชี้ไปที่บ้านหลังไหน คนนั้นแหล่ะ ไปเชิญเขามาเป็นอาสาสมัคร
ไม่ต้องใช้เงินตอบแทน ทุกคนทำด้วยความภาคภูมิใจ ได้แสดงน้ำใจแบบบ้านๆ กับคนในหมู่บ้าน
ตอนแรกเรียกว่า ผสส.ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ตอนหลังจึงยกระดับเป็น อสม.
จากแพร่ นพ.อมร ไปขยายผลสร้าง อสม.ต่อที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ร่วมกับอาจารย์สมบูรณ์ วัชโรทัย และอาจารย์กำธร สุวรรณกิจ ซึ่งทำโครงการอนามัยชนบทอยู่ก่อนแล้ว จึงขยายทั่วไปทั้งจังหวัด
ถึงปี 2552 จึงมีการจ่ายเงินค่าเหนื่อยให้ อสม.คนละ 600 บาท และขณะนี้ปรับขึ้นเป็นเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการทำหน้าที่
การเกิดขึ้นของ อสม.จนกลายเป็นเนื้อนาบุญอันสำคัญยิ่งของระบบสาธารณสุขไทย เป็นกุศลกรรมที่แยกไม่ออกจาก “คนนำทาง” ที่ชื่อว่า ศ.นพ.อมร นนทสุต
อ่านเรื่องนี้จบ ผมรู้สึกหอมกลิ่นความดี ของหมออมรอบอวลเต็มหัวใจ เพราะหมอคนนี้ ประเทศไทยจึงสู้กับโควิด-19 ได้อย่างองอาจผึ่งผายไม่อายใครเลย.
กิเลน ประลองเชิง