โควิด–19 กลัวแต่ต้องกล้า สถานการณ์โควิด-19 แม้ในประเทศไทยจะยืนระยะได้ดีที่รักษามาตรฐานการควบคุมเอาไว้ให้อยู่ในความเป็นปกติ

คือควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 อย่างที่มีการคาดการณ์กันว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้

คุณหมอท่านหนึ่งถึงกับระบุว่าเดือน พ.ย.63 ได้เจอแน่

อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกนั้นล่าสุดมีผู้ติดเชื้อถึง 30 กว่าล้านคน ผู้เสียชีวิตทะลุไปถึงล้านกว่าคน

หลายประเทศเจอรอบ 2 เข้ามาพัวพันหนักบ้างเบาบ้างแต่ก็ส่งผลที่จะต้องเพิ่มมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น

จึงต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น

อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องบอกว่ามาทีหลังแต่ดังกว่า เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายวงมาถึงเมียนมาประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ยังรุนแรงอยู่

ก่อนหน้านี้ไทยป้องกันด้วยมาตรการเข้มต่อผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพราะตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจากทางอากาศไม่ใช่จากภาคพื้นดิน

แต่กรณีของเมียนมา ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับไทยทางพื้นดินจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างเต็มที่เพราะโอกาสที่จะแพร่เชื้อเข้าไทยนั้นมีสูง

น่ากลัวที่สุดก็ตรงนี้แหละ...

แต่เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและไทยก็จำเป็นต้องแก้ไขและเยียวยาอย่างเร่งด่วน

มิฉะนั้นจะล้มพับดับหายไปทั้งประเทศได้

การท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้เข้าประเทศจากสถิติที่ผ่านมามีตัวเลขถึง 2 ล้านล้านบาท เพียงแค่ปีเดียว

เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศรายได้ส่วนนี้ก็หายไปกับสายลม

แม้พยายามจะพยุงในรูปแบบต่างๆ อย่างไทยเที่ยวไทย การส่งออกที่ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็เป็นรายได้ที่ไม่มากนัก

...

พูดง่ายๆ ไม่พอที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เห็นผลได้ในระยะเวลาสั้นๆ

จึงต้องมุ่งไปหาการท่องเที่ยวด้วยการเปิดประเทศในระดับค่อยเป็นค่อยไปด้วยมาตรการควบคุมที่รัดกุม

แน่ล่ะ...พูดง่ายแต่ทำยาก

ทว่าความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจเพราะขืนรอต่อไปโดยไม่ได้ดำเนินการอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันก็ยิ่งจะหนักเข้าไปอีก

จึงต้องปักหมุดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักธุรกิจ ผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ สามารถเดินทางเข้าประเทศได้

“ภูเก็ต” ถูกกำหนดให้เป็นจังหวัด “ต้นแบบ” เพื่อทดลองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่เรากำหนด

ภาคเอกชนซึ่งได้รับผลกระทบสูงต่างก็พยายามที่จะผลักดันอย่างเต็มที่รวมถึงประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าพร้อมที่จะรับสถานการณ์ได้

พูดง่ายๆ คือ “ไม่กลัวโควิด” แต่กลัว “อดตาย” มากกว่า จึงให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและภาคธุรกิจและสร้างมาตรฐานการควบคุมทั้งระบบ

ดูท่าแล้วพอจะเกิดความหวังเห็นอนาคตอยู่ข้างหน้า.

“สายล่อฟ้า”