นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 2/2563 โดยมีนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เป็นเลขานุการการประชุม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พม. และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (0-6 ปี) แบบถ้วนหน้า รายละ 600 บาทต่อคนต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยให้ พม. จัดทำข้อมูลรายละเอียดนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ พม.จัดประชุมหารือเรื่องการพัฒนาข้อมูลดิจิทัลด้านเด็กและเยาวชนร่วมกับ 14 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเพิ่มกระทรวงยุติธรรม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานที่ชัดเจนและเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการพัฒนาข้อมูลให้สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลในการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชนร่วมกันทุกหน่วยงาน โดยให้นำเสนอกรอบแนวคิดที่ชัดเจนในการประชุมกดยช.วันที่ 28 ต.ค.นี้
รมว.พม.กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการแต่งตั้งประธานอนุกรรมการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมกิจการสภาเด็กและเยาวชน รวมถึงการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ขณะเดียวกันยังเห็นชอบให้มีการทบทวนคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ กดยช.จำนวน 15 คณะ หากคณะใดไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานหรือไม่มีการประชุม ให้พิจารณาทบทวน โดยให้กำหนดภายในระยะเวลา 3 เดือน หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์และมีความเห็นเพิ่มเติมว่าเป็นรูปแบบที่ดี โดยหน่วยงานอื่นๆสามารถนำหลักสูตรหรือเนื้อหาที่มีความสำคัญในหัวข้อต่างๆมาผนวกไว้เข้าด้วยกัน เช่น การรู้เท่าทันสื่อ การป้องกันการถูกล่อลวงในโลกไซเบอร์ การค้ามนุษย์ เป็นต้น
...
ด้านนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัวจากที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่จำนวนเงินจะลดลงตามจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลง.