สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ความรู้ "สุริยุปราคาวงแหวน" และ "สุริยุปราคาบางส่วน" ต่างกันอย่างไร สามารถบอกอะไรได้บ้าง 


แฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับ "สุริยุปราคาบางส่วน" ที่จะเกิดในช่วงเวลาประมาณ 13.00-16.10 น. ของวันนี้ (21 มิถุนายน 2563) ซึ่งเป็นสุริยุปราคาส่งท้ายของประเทศไทย หากพลาดครั้งนี้จะต้องรอไปอีกถึง 7 ปี

โดยระบุว่า "สุริยุปราคาวงแหวน" และ "สุริยุปราคาบางส่วน" บอกอะไรกับเราบ้าง?

สุริยุปราคาวงแหวน คือ สุริยุปราคาที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมาก ในขณะเกิดสุริยุปราคา ทำให้ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไม่เต็มดวง คนบนโลกจะมองเห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ปรากฏออกมาให้เห็นโดยรอบ ลักษณะคล้ายวงแหวน

สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันพอดี ทำให้คนบนโลกมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งเพียงบางส่วน

เราจะศึกษาอะไรจากสุริยุปราคาทั้งสองชนิดนี้ได้บ้างนะ?

บรรยากาศโลกในช่วงเกิดสุริยุปราคา

สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ลดลงแล้วกลับมาสว่างขึ้นในเวลาค่อนข้างเร็ว นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาว่าความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจะมีผลต่อบรรยากาศของโลกหรือไม่ อาทิ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงระหว่างเกิดสุริยุปราคา (เช่น อุณหภูมิ) ความเปลี่ยนแปลงของสภาพการนำไฟฟ้าในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ หรือการเกิดโอโซนจากการเปลี่ยนแปลงของรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงอาทิตย์

...

ความเข้มแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงตามอัตราการบังของดวงจันทร์

การศึกษานี้สามารถทำได้เมื่อใช้อุปกรณ์วัดความเข้มแสง เพียงแต่อาจมีปัจจัยรบกวนอื่นๆ จากชั้นบรรยากาศโลก เช่น เมฆที่เคลื่อนเข้ามาบัง หรือมุมเงยของดวงอาทิตย์ อย่างกรณีเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใกล้กับขอบฟ้า แสงอาทิตย์จะส่องเป็นมุมเฉียงมากขึ้นและมีระยะเดินทางผ่านบรรยากาศโลกยาวขึ้น แสงจึงถูกกรองออกไปมากขึ้นด้วย ทำให้เราสามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าได้ในช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นและกำลังตก

พื้นผิวของดวงจันทร์

หากขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะเกิดสุริยุปราคาวงแหวนใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์มากๆ จนมองเห็นสุริยุปราคาวงแหวนมีวงแหวนที่ขาดช่วงไป นั่นคือปรากฏการณ์ "ลูกปัดเบลีย์" เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านหุบเหว ร่องหรือหลุมอุกกาบาตบริเวณขอบของดวงจันทร์ จนเห็นแสงอาทิตย์สว่างเป็นหย่อมๆ บนวงแหวนบาง ลักษณะปรากฏของ "วงแหวนขาดช่วง" ทำให้สามารถประเมินคร่าวๆ ว่าบริเวณใดเป็นภูเขาหรือหุบเหวบนดวงจันทร์ แล้วจึงนำไปเทียบกับแผนที่ดวงจันทร์ต่อได้

การโคจรของดวงจันทร์

เราสามารถคำนวณหาอัตราเร็วในการโคจรของดวงจันทร์จากการถ่ายภาพในช่วงเวลาต่างๆ ระหว่างเกิดสุริยุปราคาได้ ซึ่งในการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้ง ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์และโลกจะแตกต่างกัน อัตราเร็วก็จะไม่เท่ากันตามไปด้วย หรือทำได้จากการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนด้วยผู้สังเกตการณ์ 2 คน ที่อยู่ห่างกันในเวลาเดียวกัน แล้วนำมาหาระยะห่างของดวงจันทร์โดยใช้หลักการพารัลแลกซ์

พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตระหว่างเกิดสุริยุปราคา

แม้ว่าระหว่างเกิดสุริยุปราคาวงแหวนหรือสุริยุปราคาบางส่วน ดวงอาทิตย์จะไม่ได้สว่างน้อยลงเท่ากับการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เราสามารถสังเกตการณ์ว่าเมื่อความเข้มแสงอาทิตย์เปลี่ยนไปจากสุริยุปราคา จะส่งผลต่อพฤติกรรมสิ่งมีชีวิต อย่างไร เช่น นกพากันบินกลับรังเพราะคิดว่าเป็นเวลาเย็น

สุริยุปราคาทางดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรม

เราสามารถศึกษาเรื่องของสุริยุปราคาในบริบทดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรมได้หลายประเด็น เช่น

- ด้วยองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ในยุคกลางที่คิดว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ จะสามารถคำนวณสุริยุปราคาวงแหวนได้อย่างไร?

- การตรวจหาบันทึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนและวงแหวนในเอกสารทางประวัติศาสตร์

- การสำรวจความเชื่อดั้งเดิมหรือนิทานดาวในวัฒนธรรมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสุริยุปราคาเต็มดวงกับสุริยุปราคาวงแหวนหรือไม่? อย่างไร?

(ภาพและข้อมูลจาก แฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)