ภาพจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
สดร. ชวนดู "สุริยุปราคาบางส่วน" 21 มิ.ย.นี้ พลาดแล้วรออีก 7 ปี ย้ำอันตรายดูด้วยตาเปล่า หากถ่ายภาพผ่านกล้อง DSLR ต้องระวัง เล็งดวงอาทิตย์จากช่องมองภาพโดยตรง เสี่ยงตาบอดทันที
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แนะนำการชม สุริยุปราคาบางส่วน เหนือฟ้าเมืองไทย วันที่ 21 มิถุนายนนี้ ช่วงเวลา 13.00 - 16.10 น. ซึ่งเปอร์เซ็นต์การถูกบังก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยพื้นที่ทางภาคเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุด ที่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ร้อยละ 63 เปอร์เซ็นต์ เวลาประมาณ 14.49 น.
โดยการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคานั้น เป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าเด็ดขาด เพราะการจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้

สำหรับวิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 วิธี
...
1. การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น
- กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ
- กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงดวงอาทิตย์
- แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นกรองแสงแบล็คพอลิเมอร์หรือแผ่นกรองแสงไมลาร์
- อุปกรณ์ง่าย ๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า
ทั้งนี้ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง ต้องใช้อุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ และไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง ควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
ส่ิงที่ไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ แม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ คือ
- ฟิล์มเอกซเรย์
- ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว
- แผ่นซีดี
- แว่นกันแดด
- กระจกรมควัน
- แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์
2. การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม โดยดูแสงของดวงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน ด้วยวิธีดังนี้
- ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา
- ฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป
- สังเกตจากแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง จะมองเห็นเป็นเงาเสี้ยวของดวงอาทิตย์ได้
- ประดิษฐ์กล้องรูเข็มอย่างง่าย ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ โดยเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปตั้งไว้กลางแจ้ง แสงแดดจะลอดผ่านรูดังกล่าวตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน ขนาดของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ
นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการบันทึกภาพขณะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนเก็บไว้เป็นที่ระลึก ต้องระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิทัล โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์กำลังขยายสูง โดยห้ามถ่ายภาพดวงอาทิตย์โดยปราศจากแผ่นกรองแสง และห้ามใช้ตาเล็งดวงอาทิตย์จากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด เนื่องจากเลนส์ของกล้องเหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้ตาบอดได้ทันทีและอาจเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน.
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ