อยากเขียนเรื่องขนมแชงมา...สภาวะสังขารผม การค้นหาหนังสือ กระยานิยาย ของ ส.พลายน้อย หรือหนังสือของอาจารย์บุญมี พิบูลสมบัติ จากเพชรบุรี มาอ่านอีกที เป็นเรื่องเหนื่อย
โชคดีมีอากู๋อยู่ใกล้มือ ถามปากเปล่าประโยคเดียวคำตอบเรื่องขนมแซงมาก็พรั่งพรูออกมา
ยังพอจำกลอนสุนทรภู่ติดสมอง “ทำขนมแชงมาเวลาค่ำ” ได้กลอนเก่าต่อ “โอละเห่ โอละหึก ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมแชงมา...” ก็จับความได้ คนไทยโบราณทำขนมแชงมาเป็นกันทั้งนั้น จะทำตอนหัวค่ำหรือตอนดึกก็ได้
แต่ชื่อขนมแชงมา...ทำท่าจะไม่ค่อยมีใครรู้จัก สมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี พระโอรส ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ทรงเคยถาม “ขนมอะไร”
กำเนิดขนมแชงมาที่ผู้ใหญ่เคยเล่าเดิมทีเป็นแป้งต้มสุกทำให้ม้ากิน แต่พอทำๆไปดัดแปลงรสแป้ง เติมน้ำตาลให้หวาน เติมเกลือให้เค็ม กินกับน้ำกะทิรสมัน
ขนมทั่วไปมีแต่รสหวาน...มากินขนมสามรส หวาน เค็ม มัน คนก็ติดใจ ทำกินกันเรื่อยมา
อนุสรณ์เรื่องเล่านี้ อยู่ที่ชื่อขนมเดิมเรียก “แชงมา...แฉ่งม้า” พอคนกินกันนานๆเข้าลืมเรื่องดั้งเดิมว่าเป็นอาหารม้า ชื่อม้าก็หายไป
เรื่องชื่อก็เป็นเช่นนี้ เป็นเช่นที่สุนทรภู่เคยรำพันไว้ในนิราศภูเขาทอง
“ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเหนียก เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี ไม่เคลื่อนที่ชลทานบาดาลดิน จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง เออ ชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้นนี่หรือรักจักมิน่าเป็นราคิน แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ”
กลับมาเรื่องแป้งที่ปั้นทำขนมแชงมา...ผมเคยได้ความรู้จากครูเก่า เป็นครูผู้หญิงสอนภาษาไทย เขียนเป็นจดหมายสอนมาว่า สำนวน “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” ที่อธิบายกันด้วยธรรมชาติของปลา...นั้น
...
จริงๆแล้วเป็นคำอธิบายเคล็ดวิธีปั้นแป้ง
ถ้าใช้น้ำร้อนก็ปั้นแป้งให้ขึ้นรูปเป็นตัว จะให้กลมๆยาวๆเหมือนตัวหนอน จะทำให้เป็นลูกกลมๆก็ทำได้ง่ายๆ
อย่าเผลอปล่อยให้น้ำเย็น หรือร้อนน้อยลงเป็นอันขาด เพราะทำให้ปั้นแป้งไม่เป็นตัว
คำสอนน้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย คนทำขนมเก่งรู้กันทุกคน จะเรียกให้ขลังว่าเคล็ดลับก็ไม่ถูก
แต่ในทัศนะผม วิชาทำขนมแชงมา...เป็นทีเด็ดสำคัญทางการเมือง จะเรียกเป็นกลยุทธ์สุดยอดก็ได้ ถ้าผู้นำใช้กับคน ก็คุมคนที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ให้อยู่ในโอวาท
เหมือนปั้นแป้งให้เป็นรูปร่างได้ไม่ยาก
เคล็ดลับที่ยากที่สุด ปั้นแป้งสีเหลือง ทำเป็นตัวขนมกลมๆยาวๆ ได้แล้ว ปั้นแป้งสีขาวให้เป็นลูกกลมๆได้แล้ว ต้องระวังวางรสหวานรสเค็มให้พอดีๆ
หวานไปก็ไม่ดี เค็มไปก็ไม่ดี เมื่อกินกับน้ำกะทิหวานมัน “ลงตัว”
ขนมแชงมาสูตรที่ว่านี้ ที่จริงชื่อที่เรารู้จักกันดีก็คือ ขนมปลากริมไข่เต่า ก็จะเป็นขนมดัง...ขายได้เป็นเทน้ำเทท่า ลูกค้าติดใจตามมาเป็นลูกค้าขาประจำ
พรรคการเมืองทั้งพรรคมาจากลูกผสม...สมมติให้หวานเป็นด้านดี เค็มเป็นด้านเลว ถ้าผู้นำมือหนักไปทางเค็ม เอาคนเลวๆ ผสมเข้าไปมากๆ...เลือกตั้งครั้งต่อมาผู้คนเบ้หน้า พรรคการเมืองนี้ก็ขายไม่ออก
คนอาจจะลืมชื่อพรรคที่เพิ่งตั้งใหม่ เหมือนลืมชื่อขนมแชงมาก็ได้
ก็เป็นอันเข้าทางเด็กๆรุ่นใหม่ที่กำลังนิยมขนมสมัยใหม่ด้วยความเบื่อของเก่าเต็มที...พอดี.
กิเลน ประลองเชิง