เปิดหนังสือ เรื่องง่ายๆ ความหมายดีๆ (สุริยเทพ ไชยมงคล เรียบเรียง สำนักพิมพ์อินสไปร์ เครือนานมี พ.ศ.2553) เจอเรื่องถ้าโลกมีมนุษย์ 100 คน จำได้ว่า อ่านแล้วได้ความรู้สึกดี จึงลองอ่านอีกสักครั้ง

สมมติว่าโลกนี้เป็นหมู่บ้านที่มีคนอยู่ 100 คน ถ้าคิดตามอัตราส่วนแล้วจะเทียบเคียงจำนวนประชากรโลกออกมาได้ดังต่อไปนี้

57 คน เป็นชาวเอเชีย 21 คน เป็นชาวยุโรป 14 คน เป็นชาวอเมริกัน 8 คน เป็นชาวแอฟริกัน 52 คน เป็นผู้ชาย 42 คน เป็นผู้หญิง 98 คน ชอบเพศตรงข้าม 11 คน ชอบเพศเดียวกัน

คนอเมริกัน 6 คน เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 89 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมู่บ้าน

80 คน มีชีวิตอย่างลำบากยากแค้น 70 คน ไม่ได้รับการศึกษา 50 คน ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

1 คน กำลังจะตาย ขณะที่อีก 1 คน กำลังจะเกิด

มีคนเพียง 1 คนเท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ของตัวเอง และมีคนเพียง 1 คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือถึงระดับปริญญา

ถ้าหากคุณสามารถมองโลกในมุมนี้ได้ คุณจะเห็นหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป

เช่น ถ้าหากคุณตื่นนอนตอนเช้าขึ้นมาแล้วพบว่าคุณยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แสดงว่าคุณยังโชคดีกว่าคนอีกตั้งครึ่งหนึ่ง

ถ้าหากคุณไม่เคยใช้ชีวิตในช่วงสงคราม ไม่เคยถูกจับกุมคุมขังอย่างทรมาน ไม่เคยถูกคุกคามจากผู้ก่อการร้าย หรือไม่เคยลิ้มรสความอดอยาก แสดงว่าประเทศของคุณยังดีกว่าประเทศของคนอื่นอีกมากนัก

ถ้าหากในตู้กับข้าวคุณยังมีอาหาร ยังมีเสื้อผ้าสวมใส่ มีเตียงให้นอน มีบ้านให้อยู่

แสดงว่าคุณยังโชคดีกว่าคนอีก 75 เปอร์เซ็นต์บนโลกใบนี้

ถ้าหากว่าพ่อแม่ของคุณอาศัยอยู่ด้วยกัน ไม่ได้หย่าร้างหรือตายจากกัน คุณภูมิใจได้เลยว่าคุณเป็นคนโชคดีที่หาได้ยากจริงๆ

...

ถ้าหากคุณได้เรียนมหาวิทยาลัย แถมยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง คุณน่าจะไปขอบคุณฟ้าดิน

เพราะคุณเป็นคนโชคดีมากที่สุด

มีคำอธิบายความหมายดีๆ ที่จริงแล้วโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเราคิด แต่ความคิดของเราจะเปลี่ยนแปลง หากเรามองโลกในมุมที่ต่างออกไป

เมื่อลองเปรียบเทียบข้อมูลนี้กับตัวเองดู และถ้ารู้ว่าตัวเองมีดีขนาดนี้ ลองหยุดคิดสักนิดจะดีไหม?

คุณควรจะปฏิบัติตัวเองต่อไปอย่างไร

นอกจากจะภาคภูมิใจกับสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็น คุณควรจะสร้างสรรค์อะไรให้แก่โลกนี้บ้าง

ผมอ่านเรื่องนี้จบ...พอจะรู้สึกได้ ตัวเลขจากเรื่องง่ายๆเรื่องนี้ เป็นตัวเลขชุดเก่า ถ้าหากจะเปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์ เป็นโทรฯมือถือน่าจะเข้าเค้ากว่า แต่ในเมื่อเป็นเรื่องสมมติถือว่ายังใช้ได้

ผมพอมีคำตอบให้ตัวเอง อย่างน้อยคนแก่วัยที่ถูกแยกไว้เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่ได้ทำอะไรสร้างสรรค์ให้บ้านเมืองสักเท่าไหร่ จะช่วยชาติได้บ้าง ก็ตอนสงบเสงี่ยมอยู่กับบ้าน

การมีความสุขกับตัวเลขจำนวนคนป่วยลดลงทุกวันๆ เป็นความสุขเท่าที่พอจะหาได้ อย่างน้อยก็ในยามนี้.

กิเลน ประลองเชิง