ทีมแพทย์ รพ.จุฬาฯ เล่าเบื้องหลัง การผ่าตัดผู้ป่วยโควิด-19 ครั้งแรกของโรงพยาบาล โชคดีใช้เวลาไม่นาน แต่ตอนใส่ ถอดชุด PAPR อาจจะนานกว่า
นพ.ภูภัฐ วงศ์วัฒนกิจ แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก "Phuphat Vongwattanakit" เล่าประสบการณ์ การผ่าตัดในคนไข้โควิด-19 ครั้งแรก ที่ โรงพยาบาลจุฬาฯ เริ่มตั้งแต่การเตรียมตัว การใส่ชุด PAPR ควรมีการฝึกวิธีใส่ชุดมาก่อน โชคดีที่ครั้งนี้ผ่าตัดตอนช่วงเย็นจึงมีคนช่วยเยอะ แต่ถ้าผ่าตอนดึกๆ อาจจะมีคนช่วยน้อยกว่านี้
หมวก (หรือ เรียกว่าหน้ากาก) ไม่จำเป็นต้องใส่ mask ข้างใน เพราะมันเป็นระบบ positive pressure อยู่แล้ว แต่ทีมวิสัญญีก็ใส่ N95 ไว้ด้วย หลังใส่ชุด PAPR เสร็จ ก็จะล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หลังจากนั้นจึงใส่ชุด sterile แบบ disposable กันน้ำ แล้วใส่ถุงมือ sterile ตามปกติอีก 2 ชั้น
เมื่อพาคนไข้เข้ามาในห้องผ่าตัด ดมยาสลบ และผ่าตัดตามปกติ แต่ต้องทำแบบดีที่สุด และให้เร็วที่สุด ชุด PAPR นี่ใส่แล้วสบาย ไม่เหมือนใส่ N95 แต่หัวจะพองๆหน่อย เวลาผ่าก็อาจจะหัวชนกันไปชนกันมา ที่เป็นปัญหาคือ เสียงพูดจะอู้อี้ อาจจะสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง
นอกจากนี้ ต้องพยายามเตรียมเครื่องมือทุกอย่างให้พร้อม โดยเฉพาะไหมต่างๆ เพราะการจะต้องเปิดประตูเพื่อไปเอาของ ค่อนข้างลำบาก และอาจทำให้เชื้อกระจายออกไปนอกห้องผ่าตัดได้
หลังจากผ่าตัดเสร็จ ก็ช่วยกันย้ายเตียงผู้ป่วย แล้วค่อยถอดชุด sterile ออกแบบม้วนเอาด้านในออกมา ป้องกัน contaminate ชุดหมีข้างใน จากนั้นก็เดินออกมาที่ห้อง anteroom เพื่อถอดชุด PAPR ซึ่งขั้นตอนนี้ยากที่สุด โดยเฉพาะในคนที่ขาดความชำนาญในการถอดชุด จะต้องกักตัวเองไหม ก็อยู่ที่ตอนถอด
...
ในขั้นตอนนี้จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่จะไม่มี mask บนหน้าเลย เพราะเราจะถอดหมวกออกก่อน แล้วจึงถอดชุดหมี นั้นถ้าเราใส่ mask ไว้ด้วยตั้งแต่แรกแบบวิสัญญี ก็น่าจะสบายใจมากกว่า หรืออย่างน้อยให้มันมี mask ในห้องนี้ พอถอดหมวกปุ๊บ ก็กลั้นหายใจรีบใส่ mask เลยก็อาจจะดีกว่า
เมื่อถอดชุดเสร็จ ก็เปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ ออกมาจากห้อง anteroom แล้วรีบไปอาบน้ำสระผม เสร็จแล้วค่อยกลับมาเขียนชาร์ท กลับมาถึงบ้านก็อาบน้ำ สระผมอีกรอบ โชคดีที่วันนี้ผ่าตัดไม่ยาก ใช้เวลาไม่นาน ตอนใส่-ถอดชุดอาจจะนานกว่า.
(อ่านโพสต์ต้นฉบับ ที่นี่)
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Phuphat Vongwattanakit