"ไทยรัฐ" เผยพฤติกรรมการเสพสื่อโทรทัศน์-ออนไลน์ คนไทยเปลี่ยน เมื่อเจอสถานการณ์ "โควิด-19" คนตื่นตัว พร้อมตอบรับมาตรการป้องกันการระบาด
หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ แม้กระทั่งกิจกรรมการรวมกลุ่มกันหลายๆ กิจกรรมก็ต้องงดเว้นกันไปก่อนเพื่อลดการระบาดของไวรัสร้ายนี้ อีกหนึ่งในพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ก็คือการติดตามรับข่าวสารของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 นี้ผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งทางสื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์
ไทยรัฐทีวี เผยพฤติกรรมของผู้รับชมสื่อว่า ในขณะนี้มีประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัวติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิดเป็นจำนวนมาก สำหรับช่องไทยรัฐทีวี เรตติ้งสถานีเริ่มเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เนื่องจากมีข่าวใหญ่ตลอดทั้งเดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไทยรัฐทีวีอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศ
ส่วนภาพรวมในเดือนมีนาคมเติบโตขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์อีก 3.64% ซึ่งหากเจาะลงไปในแต่ละพื้นที่การรับชมแล้ว จะเห็นว่ากลุ่มผู้ชมในเขตกรุงเทพฯ เติบโตสูงที่สุดที่ 9.51% ตามด้วยผู้ชมในเขตหัวเมืองใหญ่ที่เติบโตขึ้น 6.77% สาเหตุหลักที่เรตติ้งเติบโตในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ค่อนข้างสูงมาจากการที่คนไทยตอบรับมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการทำงานจากที่บ้าน และการงดออกไปสังสรรค์นอกบ้าน เมื่ออยู่บ้านจึงเปิดโทรทัศน์เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆ และเปิดโทรทัศน์เป็นเพื่อนไว้ตลอดทั้งวัน
การเข้าถึงคนดูตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ มีการเข้าถึงสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ จนเดือนมีนาคม 2563 ข่าวโควิด-19 เริ่มระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทยก็ส่งผลให้การเข้าถึงรายการข่าวทุกเส้นเวลาของช่องไทยรัฐทีวีสูงกว่าเดือนมกราคม 2563 ถึง 18.76% และสูงกว่าเดือนมีนาคมในปี 2562 ถึง 24% โดยเฉพาะรายการไทยรัฐนิวส์โชว์ ซึ่งทำเรตติ้งเฉลี่ยทั้งเดือนเติบโตขึ้นเกือบ 10% โดยหากเจาะดูเฉพาะช่วงวันที่ 1-20 มีนาคม ไทยรัฐนิวส์โชว์ได้เรตติ้งเฉลี่ย 2.316 และขยับสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 20-31 มีนาคมอย่างต่อเนื่อง เป็นเรตติ้งเฉลี่ย 3.042 นับว่าเติบโตขึ้น 31.35% และมีเรตติ้งสูงสุดในวันที่ 26 มีนาคม ที่นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินวันแรกได้เรตติ้งสูงถึง 5.605 (ไทยรัฐนิวส์โชว์ปรับเวลาในเดือนมีนาคม 2563 จาก 20:20 น. ถึง 22:40 น. เป็นเวลา 19:00 น. ถึง 22:40 น. โดยถึงแม้ความยาวรายการเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมงในเดือนมีนาคม แต่ก็ไม่ส่งผลให้เรตติ้งลดลงแต่อย่างใด)
...
ครอบครัวแมทธิว ดีน และการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้คนออนไลน์ติดตาม โควิด-19 มากขึ้น และพุ่งสูงสุดจาก “เราไม่ทิ้งกัน”
ด้านไทยรัฐออนไลน์ (www.thairath.co.th) ที่เริ่มเกาะติดข่าวไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดหนักขึ้นในประเทศจีน ได้จัดทำหน้ารายงานสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น โดยวาง Section พิเศษนี้ในหน้าแรกของเว็บไซต์ เพื่อรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร สถานการณ์ล่าสุดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
ไทยรัฐออนไลน์ พบว่า ผู้บริโภคสนใจติดตามข่าวสารสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคม มีกลุ่มผู้ใช้งานรายวันที่เข้ามาอ่านข่าวโควิด-19 คิดเป็น 40% จากจำนวนผู้ใช้งานในแต่ละวัน และเมื่อคุณแมทธิว ดีน ดารานักแสดงพิธีกรชื่อดังออกมาประกาศในวันที่ 13 มีนาคม ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้คนไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก นับจากวันนั้น ยอดผู้อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 สูงขึ้นถึง 60% จากจำนวนผู้ใช้งานในแต่ละวัน โดยวันที่ยอดผู้เข้าชมสูงที่สุดในเดือนมีนาคม คือ วันที่ 28 มีนาคม จากข่าวลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ “เราไม่ทิ้งกัน” สูงถึง 9.2 ล้านคนในวันนั้น
นอกจากนั้น เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้จำนวนผู้อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สูงขึ้นถึง 75% จากจำนวนผู้ใช้งานในแต่ละวัน และทำให้เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดในประเทศไทยในหมวดเว็บไซต์ประเภทข่าวในเดือนมีนาคมด้วย
โซเชียลมีเดีย เติบโตตามเว็บไซต์เช่นกัน
หากดูตัวเลขสถิติของโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook Page Thairath Online แล้ว จะพบว่าผู้บริโภคในโซเชียลมีเดียเริ่มหันมาสนใจเรื่องโควิด-19 กันตั้งแต่มีข่าวการกักตุนหน้ากากอนามัย ส่งผลให้การเข้าถึงเพจ (Reach) เติบโตพุ่งสูงขึ้นถึง 43% และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และสูงที่สุดในวันที่ 16 มีนาคม เมื่อสถานการณ์การติดเชื้อเริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้มีผู้เข้าถึง เฟซบุ๊กเพจ "Thairath - ไทยรัฐออนไลน์" มากกว่า 77.8 ล้าน Impression
เช่นเดียวกับการใช้งานบนเว็บไซต์ เมื่อคุณแมทธิว ดีน ได้ประกาศตัวว่าติดไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอด Organic Reach ในวันนั้นวันเดียว เติบโตสูงถึง 80% และช่วยผลักดันให้ยอดวิวของวิดีโอใน เฟซบุ๊กเพจ "Thairath - ไทยรัฐออนไลน์" มียอดวิวรวมมากกว่า 100 ล้านวิว ในช่วงที่สถานการณ์ของประเทศไทยเริ่มมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
นอกจากเว็บไซต์แล้ว ช่องทาง ยูทูบ Thairath ก็มีตัวเลขที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนหันมาติดตามข่าวมากขึ้นก็จะสอดคล้องกับพฤติกรรมการรับชมข่าวทางโทรทัศน์ คือในวันที่คุณแมทธิวออกมาประกาศว่าติดเชื้อ และวันที่ 20 มีนาคม ที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 50 ราย ส่งผลให้วิดีโอของไทยรัฐออนไลน์ได้รับการแนะนำเพิ่มขึ้นมากถึง 82%
ส่วนยอดการรับชมวิดีโอสรุปสถานการณ์โควิด-19 ที่ไทยรัฐออนไลน์ได้ทำขึ้นเป็นพิเศษ ก็มียอดการรับชมมากกว่าวิดีโอข่าวอื่นๆ ถึง 10% อีกด้วย
หมายเหตุ:
อ้างอิงเรตติ้งโทรทัศน์จาก A.C. Nielsen, Target 15+
อ้างอิงอันดับเว็บไซต์ในประเทศไทยและจำนวนผู้เข้าชมจาก Truehits และข้อมูลการเติบโตจาก Google Analytics, Facebook และ YouTube