อ.เจษฎา แนะรณรงค์ ห่างกันสักพัก "social distancing" ทางรอดสู้โควิด-19 ทำได้ก่อนเข้าเฟส 3 ชี้หากเข้า เฟส 3 การระบาดจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หยุดได้ไม่ง่าย และเกิดความสูญเสียในเวลาอันสั้น
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Jessada Denduangboripant" ได้โพสต์ข้อความ เรื่องการ "อยู่ห่างๆ กัน (social distancing) คือทางรอด ในการสู้กับโรคโควิด 19" โดยระบุว่า ตอนนี้อยากโปรโมตคำขวัญใหม่จริงๆ นะว่า "กินร้อน ช้อนกู ล้างมือถูสบู่ อยู่ห่างๆ กัน"
"แต่กับสถานการณ์แพร่ระบาดล่าสุด แบบเฟส 2.9999 (เค้าไม่ยอมให้เป็นเฟส 3 ฮะๆ) ที่โรคเริ่มกระจายไปในวงกว้างมากขึ้นเยอะ จนถ้าสามารถใช้ช้อนส้อม สำรับจานชาม เป็นของตัวเองได้ ก็จะมั่นใจมากขึ้นกว่าการใช้ช้อนกลาง
ประเด็นสำคัญ ที่ควรจะต้องมารณรงค์เพิ่มเติมกันได้แล้ว ก็คือเรื่องของ "การอยู่ห่างๆ กัน" ตามหลัก social distancing หรือการเว้นระยะห่างระหว่างผู้คนที่อยู่ในสังคม เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสได้รับเชื้อโรค"
โดยอาจารย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามหลักแล้ว เมื่อเข้าสู่เฟส 3 การระบาดของเชื้อโรคจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถหยุดได้โดยง่าย แล้วจะเกิดความสูญเสียตามมา ในช่วงเวลาอันสั้น แค่ไม่กี่วัน
แต่ถ้าเราสามารถทำ social distancing ได้ ก็จะช่วยชะลอการระบาดของเชื้อโรคลงไปได้อย่างมาก สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ตัวเราเอง ที่จะอยู่ห่างๆ จากคนอื่น ในระยะการกระจายของละอองน้ำลาย ที่ไอจามออกมา คือ ประมาณ 1 ถึง 1.5 เมตร ไปจนถึงการยกเลิกงานอีเวนต์ งานกิจกรรมต่างๆ ยกเลิกการนัดพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง เครือญาติ ปิดโรงเรียน และสถานศึกษาต่างๆ ไปจนถึงสั่งลดจำนวนผู้ที่เข้าไปในพื้นที่สาธารณะ และย่านธุรกิจ
...
แต่ถ้าเราไม่เริ่มรณรงค์เรื่อง social distancing นี้ เราจะได้เห็นการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วมาก ในแบบเอ็กซโพเนนเชียล
ตัวอย่างเช่น ถ้าคนที่ติดเชื้อ 1 คนสามารถทำให้คนอื่นติดเชื้อได้อีก 2.5 คนเป็นอย่างน้อย แล้วแต่ละคนที่ติดเชื้อใหม่นั้น ก็ทำให้คนอื่นติดเชื้อได้อีก 2.5 คน ทำอย่างนี้ซ้ำๆ กันเพียงแค่ 20 ครั้ง 30 ครั้ง ก็จะมีคนที่ติดเชื้อเป็นล้านคนแล้ว (ถ้าไม่มีกลไกใด มาแยกคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อ ออกไปจากประชากร)
นั่นคือสาเหตุ ที่ทำไมเราถึงมักจะเห็นการแพร่เชื้อของโรคนี้แบบช้าๆ ในช่วงแรกของการระบาด ก่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน เหมือนอย่างในประเทศจีน อิหร่าน เกาหลี (เมืองแทกู) หรือ อิตาลี ที่ไม่ได้รณณรงค์เรื่อง social distancing อย่างทันท่วงทีตั้งแต่แรก
แน่นอนว่าโรคโควิด 19 นั้นไม่ได้จะเพิ่มขึ้นพุ่งปรี๊ดไปอย่างเดียว ยังไงเสีย ถึงจุดหนึ่ง มันก็จะถูกจำกัดไว้ที่จำนวนประชากรนั้น และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนส่วนใหญ่ของประชากรจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้ว (ตามหลัก herd immunity) ซึ่งจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคที่เข้าถึงจุดพีคสูงสุด นั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ จนจบในที่สุด
อย่างไรก็ตาม อยากให้ทางสาธารณสุขไทยเริ่มมาจริงจังกับมาตรการ รณรงค์ให้คนไทยรู้จัก social distancing พยายามจัดสถานที่ให้คนอยู่ห่างกัน 1 เมตรถึง 1.50 เมตร ไม่เข้าไปแออัดชุมนุมกันในที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็น และยกเลิกกิจกรรม event ต่างๆ ที่จะเกิดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคในวงกว้าง.
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant