รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้ความต่างแผนรับมือ "โควิด-19" จากระดับ 2 ยกระดับเป็น 3 เผยข้อมูลสำคัญ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ ปลายทางแล้วจะไม่ป่วยเลยก็ได้

วันที่ 16 มี.ค.63 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของระยะ 2 และ ระยะ 3 ในรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญว่า ทั้ง 2 ระยะ มีความต่างกันในเชิงยุทธศาสตร์ วิธีการดูแลคนไข้ก็ต่างกันสิ้นเชิง ในตอนนี้มีผู้ป่วยน้อยๆ จะพยายามรับผู้ป่วยทั้งหมดไว้ในโรงพยาบาล พยายามเจอคนไข้ให้เร็วเพื่อลดการแพร่เชื้อให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วย 80% มีอาการไข้เล็กน้อย ไอนิดหน่อย ปอดไม่อักเสบ ส่วนมากจะหายได้เอง ไม่ต้องใช้ยาต้าน เหมือนกับเป็นหวัดทั่วไป จะสามารถหายเองได้ แต่หากผู้ป่วยอาการเบาๆ เหล่านี้เดินเข้าโรงพยาบาลกันหมดก็จะเป็นภาระ

อาจจะทำเหมือนสิงคโปร์คือ ให้พักดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่หากมีความกังวลก็จะให้ไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้าน อาการน้อยพักที่บ้าน กินยาตามความเหมาะสม หากป่วยมากก็จะอยู่ที่โรงพยาบาล มีการรักษาแบบเข้มข้น นี่คือความต่างกันของทั้ง 2 รูปแบบ

นพ.ธนรักษ์ กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยยังไม่ประกาศเป็นระยะ 3 ว่า ต้องประเมินว่าวิถีชีวิตของแต่ละคนเมื่อออกไปนอกบ้านมีความเสี่ยงหรือไม่ คือ 1. ในแต่ละวันจะพบกับผู้คนมากน้อยแค่ไหน หากเจอคนเยอะก็จะมีปัจจัยเสี่ยงเยอะ 2. พื้นที่อยู่อาศัยมีผู้ป่วยติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน ถ้าเข้าสู่ระยะที่มีการแพร่ระบาดในสังคมมาก ก็จะมีโอกาสเสี่ยงสูงมากขึ้นตามไปด้วย

และต้องดูว่ามีปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ไหม เช่น ปกติเดินห้างทุกวัน แต่เมื่อรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อก็ลดความถี่ในการเดินห้างให้น้อยลง คือปรับเปลี่ยนชีวิตให้เจอผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด เช่น ทำงานที่บ้าน ปิดสถานศึกษา มาตรการนี้เรียกว่า มาตรการการเพิ่มระยะห่างทางสังคม เป็นมาตรการที่สำคัญมากเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค ซึ่งมาตรการแรงสุดคือปิดเมือง ไม่ให้คนออกจากบ้าน

...

"จริงๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สักพักก็จะไม่รู้ว่าต้นตอมาจากใคร แสดงให้เห็นว่า มีการแพร่ระบาดทั่วไปในชุมชน ส่วนระยะที่ 3 ที่มีการใช้กัน คือ มีการแพร่ระบาดกว้างขวางในชุมชน ส่วนระยะที่ 2 คือ การแพร่ระบาดในประเทศในวงจำกัด ความต่างกันคือ จากระบาดหย่อมเดียว เป็นการแพร่ระบาดไปเรื่อยๆ"

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับบางคนไม่ต้องรอทางการประกาศ เพราะวิถีชีวิตของแต่ละคนต้องพบกับคนจำนวนมาก อย่างผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เห็นสมควรว่าควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตแล้วก็สามารถเปลี่ยนได้เลย ไม่ต้องรอให้มีคนมาบอกว่าต้องทำ ยกตัวอย่าง ลดการพบปะผู้คน ลดการเดินห้างช็อปปิ้ง คำแนะนำคือ แต่ละคนควรวิเคราะห์ความเสี่ยงของตัวเองได้ เพราะความเสี่ยงของเราไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยอยู่ในชุมชนไม่เท่ากัน โรคนี้ติดจากคนไปคน และสามารถหยุดได้จากคนเหมือนกัน การไม่แพร่ไปให้คนอื่น ให้หยุดที่ตัวเอง เป็นคนสุดท้ายในสายนั้น

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การแบ่งระยะนั้น เป็นการแบ่งระยะด้วยตัวเองเพื่อการบริการจัดการ แต่หากไปดูวิธีการแบ่งระยะขององค์การอนามัยโลกจะแบ่งระยะเป็นรายประเทศ เช่น การแพร่ระบาดของจีน คือ ระยะที่ 4 ของการแพร่ระบาดใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อแพร่ระบาดในญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 2 ก็เข้าสู่ระยะที่ 5 เมื่อมีการระบาดในอิตาลี ก็เป็นระยะที่ 6

ส่วนเอกสารที่ออกมาของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเป็นการแบ่งของเราเองว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร ส่วนกรณีที่มีการถามว่า การแบ่งของไทยง่ายกว่าสากลไหม ต้องดูจำนวนคนไข้ว่าหากปล่อยกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านจะมีการแพร่ระบาดไหม เมื่อเข้าสู่ระยะ 3 ต้องบอกคนไข้ให้เข้าใจว่า วิธีที่จะไม่แพร่เชื้อให้คนที่บ้านต้องทำอย่างไร ในขณะเดียวกันจะต้องบอกคนที่บ้านว่าจะมีวิธีดูแลคนไข้ที่กลับไปอยู่บ้านอย่างไร

สำหรับตัวเลขคาดการณ์ที่จะทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 16.7 ล้านคน จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ต้องไม่ลืมปัจจัยสำคัญที่สุดคือปัจจัยการให้ความร่วมมือของประชาชนทุกคน ตอนนี้จะเห็นว่ามีคนไม่สบายแล้วไปผับกับเพื่อน 15 คน ติดเชื้อ 14 คน อีกคนก็ไม่รู้ว่าจะรอดไหม หรือ ไม่สบายแล้วไปสนามมวย

ถ้ารู้ตัวว่าไม่สบายแล้วหยุดแพร่ก็จะไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาเลย แต่หากป่วยแล้วไม่หยุดก็จะมีผู้ติดเชื้อตามมาอีกเป็น 10 คน เป็น 100 คน คาดการณ์ได้ว่า อัตราการแพร่เชื้อต่อคน 1 คน จะแพร่ให้คนอื่นเพียง 2.2 เท่านั้น ดังนั้น คน 1 คน แพร่ให้คนอื่น 2.2 คน จะเป็นไปตามกราฟคือ มีผู้ติดเชื้อ 16 ล้านคน

แต่หากคน 1 คน แพร่ให้คนอื่น 10 คน ตัวเลขของกราฟอาจจะสูงกว่านี้อีก ดังนั้นสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าจะหยุดที่ตัวเองหรือจะแพร่ต่อให้คนอื่น ถ้าคุณหยุดที่ตัวเองประเทศไทยจะสงบสุข

"ถ้าเราไม่มีอาการก็ใช้ชีวิตปกติ หากติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ก็ไม่เป็นอะไร สุดท้ายแล้วก็จะไม่มีอาการอะไรถึงแม้จะติดเชื้อก็ตาม เพราะมีไวรัสหลายชนิดที่ผู้ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ เช่น เมอร์ส อีโบลา ซึ่งปลายทางก็คือไม่ป่วย เพราะมีภูมิคุ้มกันโดยที่ไม่ต้องป่วย แบ่งได้คือ ผู้ติดเชื้อทุกคนไม่จำเป็นต้องมีอาการ ติดเชื้อแล้วมีภูมิคุ้มกัน จะไม่ติดเชื้ออีก และผู้ติดเชื้อมีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ

ดังนั้นผู้ที่มีอาการ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ควรไปตรวจ แต่หากในที่พื้นที่ที่อยู่ยังไม่มีผู้ป่วยเลย อยู่ดีๆ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจเพราะแทบไม่มีความเสี่ยงเลย"