เมื่อวันที่ 6 มี.ค.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการคิดค่าน้ำและจัดทำกฎหมายลำดับรองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ (หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) โดยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ ที่ให้มีการคิดและเก็บค่าใช้น้ำ ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจหรือผลกำไร แต่เป็นการเก็บเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ลงทุนลงไป ค่าบริหารจัดการ ซึ่งจะไม่กระทบกับเกษตรกรรายย่อย ที่ทำเพื่อการบริโภคอย่างแน่นอน รวมทั้งจะไม่เพิ่มภาระให้กับภาคเอกชน ธุรกิจ โดยจะมีคณะกรรมการควบคุมราคาการเก็บค่าน้ำเพิ่มให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ จะมี 3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บ คือ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งจะมีอัตราการจัดเก็บไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการจัดสรรน้ำ การใช้น้ำ เป็นต้น โดยกฎหมายดังกล่าว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการน้ำแห่งชาติจากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนประกาศลงในราชกิจจาฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือน ม.ค.2564
ด้าน ผศ.ดร.อักษรา พฤทธิวิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จุฬาฯ และ สทนช.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่เดือน ส.ค.2562-ม.ค.2563 มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งได้นำมาสรุปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ยืนยันว่าเกษตรกรรายย่อยจะไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราค่าใช้น้ำอย่างแน่นอน โดยที่เกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำวิเคราะห์ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วย ค่าใช้น้ำพื้นฐาน และค่าใช้น้ำที่แปรผันตามปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนในการบริหารจัดการน้ำ พิจารณาจาก 2 มิติ คือ ด้านอุปทาน พิจารณาจากกระบวนการจัดการน้ำต้นทุนในการผลิต จัดหา ขนส่งและบริหารจัดการรวมถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรน้ำ และด้านอุปสงค์ พิจารณาจากสมดุลระหว่างปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำระดับพื้นที่รวมถึงนำข้อคิดเห็นจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณากำหนดเกณฑ์โครงสร้างอัตราค่าใช้น้ำด้วย ได้แก่ ความสามารถในการแข่งขัน ความแตกต่างระดับพื้นที่ราบลุ่มน้ำและปัญหาคุณภาพน้ำ เพื่อให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ.
...