รพ.จุฬาฯ ออกประกาศ งดตรวจสุขภาพคนไทย-ต่างชาติ ป้องกันโควิด-19 พร้อมจำกัดการใช้หน้ากากอนามัย ของบุคลากร 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกประกาศ เรื่องการให้บริการผู้ป่วยเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ลงนามโดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ลงวันที่ 27 ก.พ.2563 ระบุดังนี้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติประกาศให้ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ของไทย นั้น ในการนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ในการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาด โรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) และลดความคับคั่งของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงให้ดำเนินการ ดังนี้

1. งดบริการตรวจสุขภาพคนไทย ณ คลินิกตรวจสุขภาพ อาคาร ภปร ชั้น 16 แต่ยังคงให้บริการคลินิกอื่นๆ ตามปกติ

2. งดบริการตรวจสุขภาพของคนต่างชาติ ณ คลินิกตรวจสุขภาพ อาคาร ภปร ชั้น 16

3. งดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่มีการชุมนุม หรือมีคนแออัดและคับคั่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ยังออกประกาศ การใช้หน้ากากอนามัยชนิดต่างๆ สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาล

1. ข้อบ่งชี้หน้ากาก ชนิด N95 หรือ สูงกว่า ร่วมกับหน้ากากป้องกันบริเวณใบหน้า/ ดวงตา บุคลากรที่ปฏิบัติงานในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการกระจายทางอากาศของเชื้อ ได้แก่ การช่วยฟื้นคืนชีพ การใส่/ถอดท่อช่วยหายใจ การดูดเสมหะ การพ่นยา การเก็บสิ่งส่งตรวจทางเดินหายใจ การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ หรือไอมาก

...

ระยะเวลาในการใส่ สามารถถอดเข้าออก ได้อย่างน้อย 5 ครั้ง โดยไม่จำกัดเวลาในการใส่ หรือพิจารณาตามความเหมาะสม

2. ข้อบ่งชี้หน้ากากอนามัย Surgical Mask

- บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่แผนกฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยนอก ห้องผ่าตัด และหอผู้ป่วยใน รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานรับส่งผู้ป่วย และพนักงานทำความสะอาดที่ปฏิบัติงานในบริเวณดังกล่าว
- บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่ EID Clinic และ EID ward กรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ต้องใส่หน้ากาก N95
- บุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลสัมผัสใกล้ชิด กับผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจที่จุดบริการอื่นๆ
- บุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการที่มีโอกาสสัมผัสเลือดและสิ่งคัดหลั่ง
- บุคลากรที่มีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ หรือ จาม
- บุคลากรที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด หรือ ยากดภูมิต้านทาน หรือ บุคลากรที่มีโรคทางเดินหายใจ
- บุคลากรที่อยู่ในระยะเฝ้าระวังว่า จะติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 เช่น กลับจากประเทศที่มีการระบาด หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่ได้ป้องกัน

ระยะเวลาในการใส่ : 1 ชิ้นต่อคนต่อวัน (หรือต่อเวร) ยกเว้นปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งจากตนเอง หรือผู้ป่วย ให้เปลี่ยนได้ก่อน