นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของตั๊กแตนทะเลทราย (Desert Locus) จากรายงาน นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม และประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) ว่า
ขณะนี้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำลังติดตามสถานการณ์การระบาดของตั๊กแตนทะเลทรายนับพันล้านตัว อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของตั๊กแตน ทำให้การแพร่ระบาดที่มีความรวดเร็วและรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปีได้แพร่ระบาดไปแล้วใน 7 ประเทศของทวีปแอฟริกา เคนยา เอธิโอเปีย เอริเทรีย โซมาเลีย ซูดานใต้ ยูกันดา จิบูตี และได้ระบาดข้ามทวีปมาถึงเอเชียแล้ว ไล่มาตั้งแต่ เยเมน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน ปากีสถาน และภาคตะวันออกของอินเดีย ไม่ต่างอะไรกับการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด บุกมาถึงไทยเมื่อปลายปี 2561 มีเส้นทางการระบาดเริ่มมาจากแอฟริกาเข้าสู่อินเดียเหมือนกัน

...
ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายนับพันล้านได้สร้างความเสียหายให้ผลผลิตการเกษตรอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เพราะขนาดของฝูงตั๊กแตนมีขนาดเท่ากับกรุงโรม ภายในวันเดียวสามารถกัดกินอาหารได้เท่ากับการบริโภคอาหารของประชากรทั้งประเทศเคนยาในหนึ่งวัน นอกจากนี้ ฝูงตั๊กแตนยังส่งผลกระทบต่อเครื่องบิน โดยพบว่าตั๊กแตนจำนวนมากพุ่งชนบริเวณส่วนหัวและใบพัดของเครื่องบิน

นายระพีภัทร์ เผยอีกว่า ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายสามารถกัดกินพืชได้ทุกประเภท ฉะนั้น หน่วยงานภาครัฐของไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการยกระดับการตรวจสินค้าเกษตรที่ผ่านเข้า-ออก และตรวจแมลงศัตรูพืช ณ ด่านกักกันพืช ในทุกช่องทาง เพื่อป้องกันไข่หรือตัวอ่อนของตั๊กแตนที่ปนเปื้อนมากับสินค้าเกษตร รวมถึงการวางแผนเตรียมการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ พืชที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของตั๊กแตนทะเลทราย ได้แก่ พืชที่จะเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน อาทิ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์.