(ภาพจาก : Chien-Hsing Lee/Tzu-Ruei Yang/Thomas Engler)

หนึ่งในข้อสงสัยที่ว่าลูกไดโนเสาร์กลุ่มโอวิแร็ปเตอร์ (oviraptorid) ฟักออกจากไข่ในเวลาเดียวกันหรือไม่ คำตอบอาจมาจากช่วงระยะเวลาและการจัดเรียงของกระดูกตัวอ่อน ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการพัฒนาในไข่ไดโนเสาร์ แต่การจะมองเข้าไปในซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ได้นั้น นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอนน์ ในเยอรมนี เผยว่า ต้องใช้แหล่งกำเนิดนิวตรอนจากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิกเข้ามาช่วย

จากการตรวจสอบพัฒนาการของตัวอ่อนในซากฟอสซิลไข่โอวิแร็ปเตอร์อายุราว 67 ล้านปีที่พบในลุ่มแม่น้ำเมืองก้านโจวของมณฑลเจียงซี ประเทศจีน ทีมเผยว่าวิธีการใช้นิวตรอนทำให้ประเมินได้ว่า ตัวอ่อนไดโนเสาร์จะฟักตัวในเวลาเดียวกันหรือในช่วงเวลาที่ต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับระยะการพัฒนาของตัวอ่อนในไข่ และความยาวของกระดูกในไข่ สิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญ เพราะตัวอ่อนที่มีกระดูกค่อนข้างยาวกว่าจะพัฒนาได้มากกว่า สิ่งบ่งชี้อีกอย่างก็คือขนาดของกระดูกเชื่อมต่อถึงกัน โครงกระดูกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้นแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการขั้นสูงของตัวอ่อนไดโนเสาร์ ซึ่งบ้างก็บอกว่าโอวิแร็ปเตอร์ มีพัฒนาการด้วยความเร็วที่แตกต่างกันในไข่คล้ายคลึงกับนกยุคใหม่

ทั้งนี้ นักวิจัยสันนิษฐานว่าโอวิแร็ปเตอร์ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ที่เดินด้วย 2 ขา อาศัยอยู่ในเอเชียกลางช่วงยุคครีเตเชียส ประมาณ 88-66 ล้านปีก่อน น่าจะเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างจระเข้และนกยุคใหม่ เพราะจระเข้จะฝังไข่และฟักลูกในเวลาเดียวกัน แต่กับนกนั้นการฟักไข่ในรังมักเกิดขึ้นในเวลาต่างกัน.