หมอมิน เจ้าของเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" แนะวิธีเลี้ยงลูก ไม่ให้โตขึ้นไปฆ่าใคร บอกแม้จะมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง แต่ครอบครัวมีส่วนช่วยได้
จากกรณีข่าวสะเทือนขวัญ โจรปล้นร้านทองภายในห้างสรรพสินค้าที่ จ.ลพบุรี โดยคนร้ายยิงประชาชนเสียชีวิต 3 คน หนึ่งในนั้นมีเด็กเล็กด้วย และบาดเจ็บอีก 4 คน
ทั้งนี้ ในเฟซบุ๊กเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ของ "แพทย์หญิง เบญจพร ตันตสูติ" หรือ "หมอมินบานเย็น" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เล่าถึงเรื่องราวการทำร้ายคนที่อ่อนแอกว่า หรือไม่มีทางสู้ ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและมีส่วนหล่อหลอมเด็กที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในสังคม คือ การเลี้ยงดูของครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไปฆ่าใคร เป็นเพราะครอบครัวเลี้ยงดูไม่เหมาะสมอย่างเดียว มันมีหลายสาเหตุ อาจเป็นเพราะตัวเอง หรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ครอบครัว จะช่วยให้เด็กคนหนึ่งโตมาเป็นคนที่ไม่ไปทำร้ายหรือฆ่าใครได้ โดย
1. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
ความเสี่ยงหนึ่งของเด็กที่กลายเป็นอาชญากร ก็คือ พ่อแม่ทำในเรื่องผิดๆ ให้ลูกเห็นบ่อยๆ หรือเด็กเห็นตัวอย่าง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอาชญากรรม
2. พ่อแม่ต้องมีความใกล้ชิดผูกพัน ให้ความอบอุ่น
เด็กจะรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไว้วางใจพ่อแม่ เป็นพื้นฐานจิตใจที่จะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่ทำอะไรให้คนอื่นเสียใจ
3. รักลูกให้ถูกทาง
พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ความรักแบบมีสติเป็นเรื่องจำเป็น บางคนรักลูกมาก ตามใจทุกอย่าง อยากให้อะไรก็ให้ ลูกก็จะกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจถ้าทำในเรื่องที่คนอื่นเดือดร้อน
...
4. สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบและควบคุมตัวเอง
เด็กๆ จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ต้องรู้จักที่จะควบคุมตัวเองได้ รู้ว่าอะไรควรไม่ควรทำ มีวินัย รับผิดชอบ ถ้าพ่อแม่ไม่สอน เด็กๆ ก็จะไม่รู้
5. ให้รู้จักว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ
พ่อแม่ควรจะใจดี ใจเย็น แต่ไม่ควรใจอ่อนเกินไป เวลาที่บอกเด็กว่าอะไรที่ต้องทำ หรือห้ามทำอะไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
6. จับที่ถูก และชมเชย
เมื่อเห็นว่าเด็กทำอะไรที่ดี ก็ต้องรีบชมเชย เป็นกำลังใจและสร้างแรงจูงใจที่ให้เขาทำดีต่อไป
7. เอาใจลูก มาใส่ใจเรา
เด็กจะรู้สึกดีถ้าพ่อแม่เห็นอกเห็นใจ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเขา ในสถานการณ์ความขัดแย้งกัน การแสดงออกว่าพ่อแม่เข้าใจว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร จะทำให้คุยกันเข้าใจขึ้น และเมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ก็เข้าใจและเห็นใจเขา เขาก็จะมีความเข้าใจและเห็นใจคนรอบข้างต่อไป
8. สอนให้ลูกรู้จักจัดการกับความโกรธ
อารมณ์โกรธเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ที่สำคัญกว่าคือ การจัดการความโกรธนั้นของตัวเองอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วจะต้องทำร้ายทำลายคนอื่น พ่อแม่ก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง ว่าโกรธได้ แต่สามารถจัดการได้
9. สอนให้ลูกคิดอะไรไกลๆ มีเป้าหมายในชีวิต
หลายๆ ครั้งเด็กที่ทำผิดรุนแรง เป็นเพราะตามเพื่อน หรือคิดอะไรง่ายๆ สั้นๆ ถ้าเด็กมีเป้าหมายว่าอนาคตอยากทำอะไร เป็นอะไร เด็กก็จะมีแนวโน้มดูแลตัวเองเพื่อไปสู้เป้าหมายนั้นได้ ลองพูดคุยถึงความฝันความหวังของเด็กเมื่อมีโอกาส
10. ปลูกฝังทักษะการกล้าที่จะปฏิเสธในเรื่องไม่ถูกต้อง
เด็กๆ ส่วนหนึ่งที่ทำผิด เกิดเพราะการกดดันจากกลุ่มเพื่อน ว่าถ้ารักเพื่อนต้องทำตามๆกัน ดังนั้นควรปลูกฝังเรื่องความหนักแน่น กล้าที่จะปฏิเสธในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
11. รู้จักเพื่อนของลูก
ลองชวนเพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน ทำอาหารให้กิน พูดคุยกัน พ่อแม่จะได้รู้เขารู้เรา ว่าเพื่อนๆ ที่ลูกคบอยู่เป็นคนแบบไหนยังไงบ้าง
12. อย่าทำโทษลูกด้วยวิธีรุนแรง
เวลาลูกทำผิด บอกเขาว่าอะไรที่ไม่ควรทำ และเพราะอะไร หลีกเลี่ยงการทำโทษรุนแรง เช่น การใช้คำพูดรุนแรง การตีรุนแรง หรือการทำร้ายร่างกาย การถูกกระทำรุนแรงบ่อยๆ โดยเฉพาะจากพ่อแม่ จะทำให้ลูกเกิดบาดแผลทางใจ และซึมซับพฤติกรรมรุนแรง และอาจจะกลายเป็นคนรุนแรงที่ไม่เห็นอกเห็นใจใคร
ถ้าใครคิดว่ายาวเกินไป ขอบอกว่าข้อ 1 ถึงข้อ 3 เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก อย่างน้อยขอให้ทำให้ได้ และต้องทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก จะมาเริ่มตอนโต บางครั้งก็ไม่ทันเสียแล้ว
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา