มหาเถรสมาคม (มส.) องค์กรปกครองสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทยซึ่งมี สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน
เดิมการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมดำเนินการตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 12 ซึ่งระบุไว้ว่า มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกิน 12 รูปเป็นกรรมการ
และโดยธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่อดีต นอกจากกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งคือ สมเด็จพระราชาคณะ ฝ่ายมหานิกาย 4 รูป และสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุต 4 รูปแล้ว สมเด็จพระสังฆราชจะมีพระบัญชาแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมเต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในกฎหมาย คืออีก 12 รูป โดยแบ่งเป็นฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต ในจำนวนฝ่ายละ 6 รูป รวมเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหมด 20 รูป
แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 ซึ่งในมาตรา 5 ระบุว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 12 มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งและการดำเนินการตามมาตรา 15 (4) และวรรคสอง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้”
...
เมื่อมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายแล้วว่า การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงพิจารณาแต่งตั้ง
นั่นจึงเท่ากับว่าเป็นการยกเลิกการกำหนดให้สมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งไปในตัวด้วย
ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.2561 ก็เกิดกระแสข่าวลือต่างๆขึ้นมากมาย ถึงรายชื่อพระสงฆ์ที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
จนต่อมา เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม 20 รูป ดังนี้
1. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร
2. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส
3. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) วัดไตรมิตรวิทยาราม
4. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมงฺกโร) วัดยานนาวา
5. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
6. สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) วัดไตรมิตรวิทยาราม
7. พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ) วัดปากน้ำ
8. พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) วัดปากน้ำ
9. พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) วัดประยุรวงศาวาส
10. พระพรหมวิสุทธาจารย์ (มนตรี คณิสฺสโร) วัดเครือวัลย์
11. พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) วัดปทุมคงคา
12. พระวิสุทธาธิบดี (เชิด จิตฺตคุตฺโต) วัดสุทัศนเทพวราราม
13. พระพรหมมุนี (บุญเรือง ปุญฺญโชโต) วัดพระศรีมหาธาตุ
14. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
15. พระธรรมธัชมุนี (อมร ญาโณทโย) วัดปทุมวนาราม
16. พระธรรมบัณฑิต (อภิพล อภิพโล) วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
17. พระธรรมปริยัติโมลี (อาทร อินฺทปญฺโญ) วัดบพิตรพิมุข
18. พระธรรมปาโมกข์ (สุนทร สุนฺทราโภ) วัดราชผาติการาม
19. พระธรรมกิตติเมธี (เกษม สฺญญโต) วัดราชาธิวาสวิหาร
20. พระธรรมรัตนดิลก (สมเกียรติ โกวิโท) วัด อรุณราชวราราม
เมื่อดูจากรายชื่อแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ยังคงเป็นคณะกรรมการมหาเถรสมาคมชุดเดิมก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561
ส่วนรายชื่อกรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ประกอบด้วย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยาราม, พระพรหมเสนาบดี วัดปทุมคงคา, พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศนเทพวราราม, พระพรหมมุนี วัดพระศรีมหาธาตุ, พระธรรมไตรโลกาจารย์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, พระธรรมปริยัติโมลี วัดบพิตรพิมุข, พระธรรมปาโมกข์ วัดราชผาติการาม, พระธรรมกิตติเมธี วัดราชาธิวาสวิหาร และ พระธรรมรัตนดิลก วัดอรุณราชวราราม ก็เป็นการแต่งตั้งขึ้นแทนกรรมการมหาเถรสมาคมที่มรณภาพ และถูกปลดออก
ที่สำคัญการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมชุดนี้ ยังคงยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเดิมทุกประการคือ แต่งตั้งพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นธรรมขึ้นไป ส่วนสมเด็จพระราชาคณะ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งแล้ว แต่สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปก็ยังคงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมเช่นเดิม
ยกเว้นแต่สมเด็จพระราชาคณะที่ชราภาพ และมีปัญหาด้านสุขภาพ ประกอบด้วย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม และ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) วัดโสมนัสราชวรวิหาร ซึ่งในเวลาต่อมาที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะทั้ง 3 รูป พร้อมด้วย พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) วัดกะพังสุรินทร์ จ.ตรัง ขึ้นเป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม
กรรมการมหาเถรสมาคมชุดนี้ นอกจากจะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 แล้ว
ยังถือว่าเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดที่อาจจะถูกจับตาในเรื่องการทำงานมากที่สุดด้วย
เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ภาพของมหาเถรสมาคมด่างพร้อยมาก หลังจากที่มีรายชื่อของ พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) วัดสามพระยา พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) วัดสัมพันธวงศาราม และ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) วัดสระเกศฯ กรรมการมหาเถรสมาคม เข้าไปมีชื่อเกี่ยวข้องในคดีเงินทอนวัด จนนำมาสู่การถูกถอดสมณศักดิ์ และปลดออกจากกรรมการมหาเถรสมาคม รวมถึงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ทุกตำแหน่ง ทั้ง 3 รูป
ที่สำคัญเมื่อดูรายชื่อกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่าแล้ว จะพบว่ามีทั้งสายบู๊ เช่น พระธรรมปาโมกข์ วัดราชผาติการาม พระธรรมกิตติเมธี วัดราชาธิวาส ซึ่งมีดีกรีเป็นประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ทั้งยังเคยเป็นเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการปกป้องพระพุทธศาสนาระดับต้นๆของประเทศ เป็นต้น และสายบุ๋น เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช พระพรหมบัณฑิต วัดประยุรวงศาวาส พระพรหมโมลี วัดปากน้ำ เป็นต้น
และที่ลืมไม่ได้คือ พระเกจิแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง “สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี” หรือ “สมเด็จธงชัย” วัดไตรมิตรวิทยาราม
จัดเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมที่ครบเครื่องชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยเลยทีเดียว
หลังจากนี้คงต้องรอดูกันว่า กรรมการมหาเถรสมาคมภายใต้การนำของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) จะมีผลงานเป็นอย่างไร เพราะงานสำคัญที่เข้าคิวรออยู่ล้วนมีความสำคัญต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยแทบทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาที่ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง, การส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562, ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้, การควบคุมวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรที่ยังคงพบเห็นพระภิกษุสามเณรประพฤติตัวไม่เหมาะสมอยู่โดยตลอด รวมไปถึงคดีความต่างๆเกี่ยวกับพระสงฆ์ ซึ่งที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมมักถูกมองว่าขาดความเด็ดขาด
และอีกสิ่งหนึ่งที่ “ทีมข่าวศาสนา” อยากฝากไว้คือ การเป็นที่พึ่งให้กับคณะสงฆ์ ที่เมื่อเวลาถูกภัยคุกคามแล้วยังมีมหาเถรสมาคมคอยให้ความช่วยเหลือ ชี้แนะว่าควรจะไปในทิศทางใด
ไม่ใช่ปล่อยให้พระเด็กๆต้องเคว้งคว้าง เหมือน “ลูกไม่มีพ่อ” ที่เมื่อเวลาเกิดปัญหาแล้วไม่รู้จะหันไปพึ่งพาใคร
ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจึงขอฟันธงเลยว่า ปี 2563 จะเป็นปีสำคัญที่กรรมการมหาเถรสมาคมชุดนี้จำเป็นต้องพิสูจน์ฝีมืออย่างเต็มที่ หลังจากได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งมาเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2562
เพื่อแสดงให้สมดังใจที่คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน ตั้งตารอคอย และฝากความหวังในการมาช่วยสร้างความมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยได้มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
สำคัญที่สุดคือ เพื่อลบคำครหา “มหาเถรสมาคมเป็นได้เพียงเสือกระดาษ” เสียที...
ทีมข่าวศาสนา