กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ ฝุ่นละออง PM2.5 ขณะนี้พบเกินมาตรฐานเกือบทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ แนะประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเพื่อเป็นการป้องกันฝุ่น

วันที่ 1 ต.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ airvisual.com เผยการจัดอันดับคุณภาพอากาศ และการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ ตามมาตรฐาน US AQI เมื่อเวลา 09.58 น. พบว่า อันดับ 1. ได้แก่ ฮานอย ประเทศเวียดนาม อันดับ 2. ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3. คูเวตซิตี้ ประเทศคูเวต ส่วน กรุงเทพฯ ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 13


ขณะที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก กรมควบคุมมลพิษ รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ดังนี้

1. ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 40–81 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบส่วนใหญ่เกินเกณฑ์มาตรฐาน (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เกือบทุกพื้นที่ ยกเว้น เขตพญาไท และเขตบางนา/ จังหวัดนนทบุรี บริเวณ อ.ปากเกร็ด, จังหวัดปทุมธานี บริเวณ อ.คลองหลวง, จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณ อ.บางเสาธง และ อ.เมือง, จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณ อ.เมือง, จังหวัดนครปฐม บริเวณ อ.เมือง ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้ามากนัก คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

...

2. กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศช่วงเช้าลมสงบ อากาศมีความชื้นสูง จึงทำให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น

3. จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินมาตรฐานดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการป้องกันไว้ก่อน

4. คพ. ได้แจ้งประสาน กทม. บก.จร. กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก กก.วล. แล้วรวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในที่โล่งทุกชนิด บำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทดแทนการใช้รถส่วนบุคคล ตรวจสอบและไม่ใช้รถขนส่งสาธารณะที่มีควันดำ และขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมและลดการระบายฝุ่นและมลพิษทางอากาศ.

(ขอบคุณ เว็บไซต์ airvisual.com, เฟซบุ๊ก กรมควบคุมมลพิษ)