“กระดูกสันหลัง” เป็นแนวกระดูกที่ทอดยาวอยู่บริเวณด้านหลังของร่างกาย ทั้งยังเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆ ที่มาจากสมอง มีหน้าที่ช่วยปกป้องไขสันหลังไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือน และเป็นโครงหลักให้กระดูกทางด้านหลัง นอกจากนี้กระดูกสันหลังยังมีส่วนของ “หมอนรองกระดูก” ซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน โดยมีคุณสมบัติยืดหยุ่นทำให้ร่างกายขยับได้ รองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลังในเวลาที่เคลื่อนไหว ซึ่งหมอนรองกระดูกนี้จะเริ่มเสื่อมไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการของ “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” นั่นเอง

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท คืออะไร?

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท คือ การที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมาและไปกดทับเส้นประสาทในโพรงประสาททางด้านหลัง ซึ่งสาเหตุของโรคนั้นอาจเกิดจากอุบัติเหตุ หรือความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังที่เป็นไปตามวัย

อาการ

คนไข้จะมาด้วยอาการปวดหลัง โดยจะปวดร้าวไปข้างหลัง และปวดร้าวลงไปที่ขาใต้ข้อพับเข่า อาจมีอาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เริ่มมีความเสื่อมของหมอนรองกระดูก หากมีการออกแรง หรือก้มๆ เงยๆ ยกของ ก็จะยิ่งทำให้มีภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนง่ายยิ่งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค

คนที่ทำงานในที่ที่มีแรงสั่นสะเทือนมากๆ คนที่ก้มๆ เงยๆ ยกของมากๆ และยกของหนักเป็นประจำ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภาวะนี้ได้ง่ายขึ้น

อันตรายของโรคนี้

ในกลุ่มคนที่มีอาการน้อย แค่พัก ก็ทำให้อาการหายไปเองได้ แต่ในกลุ่มที่มีอาการปวดแล้วไม่ได้รับการรักษาทันที ก็จะส่งผลให้อาการปวดเรื้อรัง และยากต่อการรักษา

...

ในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการมาก มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้ ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้จะต้องทำการผ่าตัดรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดแล้ว ยังทำให้คนไข้ใช้ชีวิตประจำวันได้ค่อนข้างลำบากหากเส้นประสาทเสียหายอย่างถาวร

คนไข้ที่มีอาการปวดหลังส่วนหนึ่ง อาจมีอาการนำที่คล้ายคลึงกับอาการของหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท แต่อาจจะเป็นภาวะโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคมะเร็งระยะลุกลามมาถึงกระดูก หรือกระดูกสันหลังติดเชื้อ ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายของคนไข้ ซึ่งคนไข้มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดร้าวลงขาดังที่กล่าวมาข้างต้น และมีอาการแสดงที่สำคัญคือ เมื่อให้นอนเหยียดขาแล้วยก คนไข้จะมีอาการปวดจนไม่สามารถยกขาขึ้นสุดได้ในข้างที่มีการกดทับของเส้นประสาท อย่างไรก็ดี การวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดคือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (MRI) เพื่อยืนยันการเป็นโรคและวินิจฉัยและวางแนวทางการรักษาต่อไป

การรักษา

โดยมากแพทย์จะให้คนไข้พัก และลดการใช้งานหนักๆ บริเวณกระดูกสันหลัง ร่วมกับการใช้ยาแก้ปวด และการทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่คนไข้มีอาการของเส้นประสาทอ่อนแรง ก็จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทเสียหายอย่างถาวร

การป้องกัน

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอาจเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเกิดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแรงสั่นสะเทือนมากๆ การยกของหนักมากๆ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล
รศ.นพ.พงศธร ฉันท์พลากร ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล