แสงในเวลากลางคืนอาจสร้างความสะดวกสบายแก่มนุษย์ แต่เมื่อเร็วๆนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานผลวิจัยใหม่เกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางแสง โดยพบว่าแสงตอนกลางคืนนั้นส่งผลเสียต่อประชากรสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

เจสสิกา หัว นักวิจัยเรื่องนี้เผยว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทีมวิจัยจึงสร้างแบบจำลองสำหรับศึกษาว่ามลภาวะประเภทใดสามารถส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์อื่นๆ โดยทดลองกับกบไม้ให้อยู่ในการควบคุมของสภาพแสง 2 แบบ คือได้รับแสงสว่างในเวลากลางวัน และแสงเทียมในเวลากลางคืน ทีมวิจัยพบว่าทั้งการได้รับแสงสว่างจ้าอย่างรุนแรงในเวลากลางวัน และแสงเทียมในตอนกลางคืนจะลดความสำเร็จในการฟักเป็นตัวลูกอ๊อด และลูกอ๊อดที่เลี้ยงในสภาวะแสงดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ไวต่อมลพิษและมีปรสิตมากขึ้น

แต่โดยรวมแล้วการรับแสงในเวลากลางคืนมีผลทำให้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอ่อนไหวต่อความเครียดที่เพิ่มขึ้น และอาจมีผลกระทบทางอ้อมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีปฏิสัมพันธ์ในระบบนิเวศของมัน เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจว่ามนุษย์ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอย่างไร เพื่อที่จะตัด สินใจได้อย่างรอบคอบและมีความรับผิดชอบมากขึ้น เกี่ยวกับวิธีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้างเมือง เป็นต้น.


ภาพ ลูกอ๊อดของกบไม้ จาก : Jessica Hua