บทความนี้ไม่ได้พูดถึงสาวอกหัก แต่ต่อเนื่องจากหมอดื้อก่อนหน้าเรื่อง “ความแตกต่างของเส้นเลือดตีบตันในชายและหญิง” ที่กล่าวถึงความเสี่ยงของโรคหัวใจระหว่างเพศซึ่งเริ่มต่างกันน้อยลง อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตของทั้งสองเพศเหมือนกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่ผู้หญิงใช้ยาลดไขมันสแตตินและยาต้านเกล็ดเลือดแอสไพรินน้อยกว่าผู้ชาย เลยพบอีกว่าผู้หญิงที่เป็นโรคหัวใจ จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าชายที่เป็นโรคเดียวกัน
และยังเป็นเพราะว่ามักมีอาการที่ไม่เหมือน กับที่หมอเรียนมา (atypical symptoms) ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่มาโรงพยาบาลช้า และไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยเร็วเพราะอาการไม่ได้ชี้ไปที่หัวใจ ตอนนั้นเราแนะนำว่าให้สนใจหัวใจผู้หญิงมากขึ้น
ในบทความนี้จะอยู่ในกรอบเดิมเรื่องหัวใจและก็ได้พูดถึงเรื่องโรคหัวใจในผู้หญิงซึ่งไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ฉับไว ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าทำไมโรคหัวใจในผู้หญิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยกลางคน ทั้งๆที่โรคหัวใจในผู้ชายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น มาดูกันว่าผู้หญิงทำอะไรผิด บทความนี้สรุปเรียบเรียงมาจากบทความ “Myocardial Infarction in Young Women : An Unrecognized and Unexplained Epidemic” จากวารสาร Circulation เดือนกุมภาพันธ์ 2019
โรคหัวใจ เป็นโรคที่ทุกคนกลัว เจ็บหน้าอกก็รีบไปโรงพยาบาลเพราะกลัวหัวใจขาดเลือด ณ ขณะนี้มีการรักษาและป้องกันที่มีประสิทธิ-ภาพมากขึ้น จึงทำให้คนเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยลง แต่จากที่ได้สังเกตการเกิดโรคหัวใจ โดยใช้ข้อมูลจาก Atheros-clerosis Risk in Communities surveillance study หรือความเสี่ยงโรคหัวใจในสังคมประเทศเจริญแล้ว ตั้งแต่ปี 1995 ถึง 2014 เป็นเวลา 20 ปี รวมแล้วดูประวัติคนไข้มากกว่า 15,000 คน พบว่าโรคหัวใจในวัยกลางคน (35-54 ปี) นั้นไม่ได้ลดลงเหมือนที่เห็นในกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 54 ปี
...
โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคนกลับเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (myocardial infarction) สูงขึ้น ทั้งๆที่โรคหัวใจในผู้ชายกลุ่มวัยเดียวกันนั้นเท่าเดิม เรามาดูรายละเอียดเพิ่มเติมกัน พบว่าในผู้หญิงระหว่าง ปี 1995-1999 ผู้หญิงวัย 35-54 ปี ที่นอนโรงพยาบาล 21% เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
พอมาในปี 2010-2014 ตัวเลขนั้นเพิ่มมาเป็น 31% ส่วนผู้ชายจาก 30% ไปเป็น 33% เมื่อมาดูรายละเอียดปลีกแยกตามเชื้อชาติพบว่าในผู้หญิงผิวขาว เพิ่มไปถึง 41% แต่แค่ 19% ในผู้หญิงผิวดำ ไม่มีความแตกต่างในผู้ชาย พอเข้าโรงพยาบาลผู้หญิงก็จะเป็นหนักกว่า และมีหัวใจล้มเหลวกับน้ำท่วมปอดเยอะกว่าผู้ชาย ส่วนการเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยา-บาลในกลุ่มนี้พบว่าลดน้อยลง แต่อัตราลดของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย
ข้อมูลที่กล่าวมานี้น่ากังวลเพราะเรายังไม่รู้ว่ามีอะไรที่แตกต่างกันระหว่างโรคหัวใจผู้หญิงและผู้ชาย และจะต้องมีมาตรการป้องกันที่แตกต่างหรือไม่ ทางนักวิจัยจึงเข้าไปดูโรคประจำตัวของกลุ่มวัยกลางคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันพบว่า ผู้หญิงมีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยง เช่นความดันสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง เส้นเลือดในสมองตีบตัน มากกว่าผู้ชาย ถึงผู้หญิงสูบบุหรี่น้อยกว่าบ้างก็เถอะ จะโทษโรคประจำตัวได้ไหมที่เป็นเหตุผลของการเพิ่มขึ้นอย่างมากของความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คิดว่าไม่ได้เพราะโรคประจำตัวในทั้งสองเพศเพิ่มขึ้นมาเท่าๆกัน และการสูบบุหรี่ก็น้อยลงเท่าๆกัน ลำบากแล้วทีนี้เพราะข้อจำกัดของการศึกษานี้คือดูข้อมูลจากในประวัติผู้ป่วยแต่ไม่ได้ดูในประวัติการเจ็บป่วยในชุมชน
ณ ตอนนี้คงต้องสืบหาต้นตอจากในชุมชน อีกบทความวิจัยหนึ่งพบว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในชุมชนผู้หญิงมีเบาหวานและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นมามากกว่าผู้ชาย นอกจากนั้นผู้หญิงยังไม่ได้รับการดูแลเรื่องลดความเสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบเท่าผู้ชาย (Primary prevention) เช่น ยาต้านเกล็ด เลือด ยาลดไขมัน และหมอก็สั่งตรวจดูเส้นเลือดในผู้หญิงน้อยกว่าจึงเจอเส้นเลือดที่ตีบแต่ยังไม่มีอาการน้อยกว่า และไม่มีการใช้ขดลวดในการขยายเส้นเลือด
สุดท้ายก็จบลงที่เส้นเลือดเส้นนั้นตันในที่สุด ฉะนั้นให้ทุกคนลบสิ่งที่เรียนมาว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงโรคหัวใจน้อยกว่า และจงปฏิบัติต่อทั้งสองเพศอย่างเท่าเทียมกัน ป้องกันให้ทั่วถึงดีกว่ามาแก้ทีหลังนะครับ
อย่างน้อยก็พอจะรู้แล้วว่าอาจจะเป็นการไม่ใส่ใจในการดูแลและป้องกันหัวใจของผู้หญิงที่ดีเท่าผู้ชาย และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในสาวๆ ร่างกายใคร สุขภาพใคร ก็ต้องรับผิดชอบตนเอง น้ำหนักเกิน ลงพุง กินแต่แป้งแต่หวานนั้นล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคสมอง ห้ามใจตัวเองซักนิดนึง หรือถ้ายังจะกินต่อก็ออกกำลังกายให้มากขึ้น ให้พลังงานที่ใช้ไปมากกว่าพลังงานที่กินเข้ามา
ถ้าคิดเริ่มออกกำลังกายต้องยืดกล้ามเนื้อให้เพียงพอ ใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง จะเล่าเรื่องลูกหมอดื้อให้เป็นอุทาหรณ์ ขยันไปปั่นจักรยาน แต่ไม่จัดท่าตัวเองให้ดี ไม่พันด้ามจับให้นุ่มพอ กระดูกมือจึงต้องรับน้ำหนักเกินไปอย่างต่อเนื่อง น้ำหนักนี้ก็ไปกดเส้นประสาท ulnar ที่วิ่งอยู่ บนกระดูกแฮมเมท พอกดทับนานเข้า ทำให้ปลอกฉนวน เส้นประสาท ulnar ขาดเลือด (entrapment neuropathy) และเสียหาย ยังดีน่าจะเป็นแค่ปลอกประสาท (neurapraxia) ชานิ้วก้อย ครึ่งนิ้วนาง มือหงิก (Claw hand จาก 3, 4 lumbrical เสีย) แถมนิ้วนางบีบเข้านิ้วกลางไม่ได้อีก (palmar interossei เสีย) ฉะนั้นค่อยๆเพิ่มการออกกำลังกายทีละนิดอย่าหักโหมจนเจ็บหรือจนเบื่อแล้วก็เลิก แบบนั้นไม่ได้ ต้องลงทุนในสุขภาพตนเองนะครับ
เรื่องการกินอีก เตือนไว้ก่อนตอนนี้ก็จะถึงหน้าทุเรียนแล้ว อย่าใช้ข้ออ้างว่ามันเป็นผลไม้ ไม่อ้วนหรอกกินได้ เพราะว่ามันอ้วน น้ำตาลเยอะ จะกินก็ให้มันพอดีอย่ามากเกินไปนะครับ ร้อนนี้ก็ดื่มน้ำให้เพียงพอ ด้วยความเป็นห่วงครับ.
หมอดื้อ