จากการสัมมนา “ครอบครัวไทยยุคเกิดน้อยอายุยืน: ทางเลือกและข้อท้าทาย” ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวทั้งเชิงปริมาณ โดยมีครอบครัวอายุสูงขึ้น คนโสดมากขึ้น คนรุ่นใหม่อยู่กินเปิดเผยมากขึ้นแม้ยังไม่แต่งงาน การหย่าร้างเพิ่มขึ้น ขณะที่ในเชิงคุณภาพที่พบ สมาชิกในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ลดลง ครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงครอบครัวดังกล่าวเป็นข้อท้าทายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ สกสว.จึงสนับสนุนกลไกให้นักวิจัยผลิตผลงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดให้เห็นถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปใช้ได้จริงภายใต้บริบทสังคมไทย

ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การลดลงของประชากรเด็กและวัยแรงงานจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากในอนาคต เป็นโจทย์ท้าทายว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ครอบครัวมีบทบาทในการผลิตและสร้างคนให้มีคุณภาพอย่างเต็มที่ ขณะที่ผลสำรวจพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาสมอง แต่พบพัฒนาการล่าช้าต่ำกว่ามาตรฐานถึงร้อยละ 28 อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มผู้สูงอายุอยู่คนเดียวที่เพิ่มขึ้น หากไม่เตรียมความพร้อมตั้งแต่วัยแรงงาน ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวและยากจนจะเป็นกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ.