มีคุณพ่อคุณแม่คู่หนึ่งพาลูกชายมาปรึกษาครูเคทว่าด้วยปัญหาของการติดเกมของลูก ซึ่งปกติเคสเด็กติดเกมที่ได้เจอมักจะเกิดจากปัญหาครอบครัวทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาในการสื่อสารกันภายในครอบครัวที่ไม่เข้าใจกัน ปัญหาพ่อแม่คาดหวังหรือขี้บ่นกับลูกมากเกินไป พ่อแม่ตีกรอบลูกมากเกินไป ฯลฯ ซึ่งทำให้ลูกเกิดความเครียดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว และคนสมัยนี้วิธีคลายเครียดที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือการเข้าไปในโลกเสมือนจริงหรือโลกที่ทำให้เขาผ่อนคลายไม่ต้องคิดอะไรมาก นั่นก็คือโลกในโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นเกม หรือแชตหรือส่องใครสักคนในโซเชียลมีเดีย คนที่เครียดมากวันๆ หนึ่งอาจจะอยู่กับมือถือได้เป็นวันๆ ลืมกินข้าวกินปลา ตามหลักจิตเวชแล้ว การอยู่กับเกมหรือโซเชียลรวมๆ กันเกินวันละ 3 ชั่วโมง จัดว่ามีปัญหาทางอารมณ์ที่ควรจะได้รับการแก้ไข
เคสของลูกชายที่มาพบครูเคทนี้ เป็นเด็กเรียนดีอยู่แล้ว ตอนอยู่มัธยมเรียนได้เกรด 3.5 พอเข้ามหาวิทยาลัยคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เทอมแรกได้เกรด 1.6 ทำให้คุณพ่อคุณแม่ร้อนใจพยายามพูดคุยหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกบอกว่าเพื่อนๆก็ได้เกรดกันประมาณนี้ เนื่องจากการเรียนที่นี่มาตรฐานสูงมาก อาจารย์ไม่ได้ปล่อยเกรดเหมือนที่อื่นๆ เทอมถัดมาลูกก็เลยตั้งใจเรียนเพิ่มขึ้นอีกและทำเกรดขึ้นได้ถึง 2.5 ซึ่งลูกก็บอกพ่อแม่ว่านับว่าสูงมากแล้วสำหรับมาตรฐานคณะนี้ คุณพ่อซึ่งเป็นคนเรียนเก่งดูเหมือนจะยังไม่ค่อยเข้าใจและคิดว่าลูกซึ่งเป็นคนเก่งน่าจะทำเกรดได้ดีกว่านี้ ส่วนคุณแม่เรียนปานกลางและไม่ได้คาดหวังอะไรกับลูกมากนัก แต่ก็ยังมีความวิตกกังวลและมักจะบ่นเรื่องเรียนของลูกอยู่บ้าง
เมื่อครูเคทได้พูดคุยกับลูกชาย ก็พบว่าเขาเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดมาก พูดจาฉะฉาน มีเหตุมีผล อารมณ์ดี และมีเป้าหมายชีวิตตนเองสนใจอยากจะทำ ซึ่งดูจะแตกต่างจากเคสเด็กติดเกมคนอื่นๆ ที่เคยได้คุยมา ก็เลยคุยกันถึงพฤติกรรมในการเรียนรู้ของเขาที่มหาวิทยาลัย และที่บ้าน (ขอให้คุณผู้อ่านที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ต่างกัน) พบว่าเขาเป็นคนที่เวลาเรียนรู้ต้องใช้เวลาอ่านทวนสิ่งที่เรียนมาและค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เขายังเข้าใจไม่เต็มร้อย เวลาเรียนที่มหาวิทยาลัย เขาต้องอ่านตำราและบทความต่างๆจำนวนมากเพื่อนำมาถกเถียงกับอาจารย์และเพื่อนในห้องเรียน ดังนั้นเมื่อกลับถึงบ้าน เขาจึงต้องอ่านหนังสือปริมาณมากในทุกๆ วัน ขณะที่เขาอ่านหนังสือที่บ้านนั้น เขามีสมาธิดีมากกว่าการเรียนที่มหาวิทยาลัย เขาจึงอ่านจนดึกดื่นที่บ้าน แต่เมื่ออ่านไปได้สัก 2-3 ชั่วโมง เขาจะรู้สึกสมองล้า และเขาจะต้องงีบหลับสัก 5-10 นาที เมื่อตื่นขึ้นมาเขาจะรู้สึกสดชื่นมากสามารถอ่านหนังสือต่อไปได้อีกเป็นเวลานาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ พักหลังที่เขางีบหลับ ด้วยความเพลียทำให้เขาหลับเพลินไปจนถึงเช้า ทำให้เขาอ่านหนังสือไม่ทัน และเริ่มเครียด เขาเลยเปลี่ยนวิธีการใหม่ คือแทนที่จะงีบหลับ เขาเลยหยิบมือถือขึ้นมาดูซีรีส์หรือเล่นเกมประมาณหนึ่งชั่วโมง แล้วจึงจะกลับมามีสมาธิอ่านหนังสือต่อได้ ซึ่งเวลาที่เขาหยิบมือถือขึ้นมาดูซีรี่ส์นั้น ก็มักจะเป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ขึ้นมาเห็นพอดี ก็เลยโดนบ่นเรื่องการติดมือถือทุกครั้งที่เห็น
...
ครูเคทได้สังเกตเห็นว่าน้องคนนี้ แม้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสอารมณ์ดี แต่ดูรูปร่างจะผอมกว่ามาตรฐานทั้งๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนรูปร่างได้มาตรฐาน เลยพบสาเหตุว่า เวลาเขาอ่านหนังสือ เขาจะอินมากและไม่อยากอาหาร บางทีก็ไม่ได้ทานอาหารเย็น เราจึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าอาการสมองล้า และการไม่ยอมตื่นหลังจากงีบหลับ น่าจะเกิดจากการที่สมองขาดสารอาหารไปหล่อเลี้ยงสมอง จึงตั้งเป้าว่าเขาจะวางขนมขบเคี้ยวไว้บนโต๊ะอ่านหนังสือในห้องของเขา และจะทานขนมเมื่อรู้สึกสมองล้า ส่วนเรื่องการบริหารจัดการเวลาหลังเลิกเรียน ซึ่งเขาอยากมีเวลาไปออกกำลังกายและออกไปสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง จึงได้กำหนดวันเวลาที่เขาจะไปออกกำลังกายหรือออกไปเที่ยวกับเพื่อนโดยทำเป็นตารางซึ่งทำให้สามารถเห็นเวลาที่เหลือสำหรับการอ่านหนังสือได้ชัดเจน ภายใน 2 สัปดาห์ที่เขาเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและจัดตารางชีวิตใหม่ เขากลับมาพูดคุยกับครูเคทและรายงานว่าเขารู้สึกสดชื่นมากเมื่อได้มีเวลาไปออกกำลังกายและได้ออกไปพบเพื่อนบ้าง รวมทั้งมีสมาธิในการอ่านหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้เขาไม่รู้สึกสมองล้าต้องงีบหลับอีกแล้ว เพราะเขาทานได้อาหารเพียงพอ ที่สำคัญพฤติกรรมการติดมือถือของเขาหายไปเอง เขาไม่ได้อยากจะดูมือถือบ่อยๆ อีกแล้ว
ปัญหาเด็กติดเกมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าจะสรุปสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ต้องการให้ลูกทำ ก่อนที่จะด่วนสรุปความและดุด่าว่ากล่าวจนบานปลายทำให้สายเกินแก้นะคะ
ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ