ทนายรณณรงค์ ให้ความรู้ข้อกฎหมาย เผย นายจ้างให้ทำงานวันหยุด ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำจริง ฝ่าฝืนมีความผิด...


วันที่ 1 พ.ค.62 นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ เจ้าของเพจ ทนายคู่ใจ ได้โพสต์ให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมาย โดยระบุว่า ฝากไว้ให้คิด สำหรับวันนี้เป็น “วันแรงงาน” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า นายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างหยุดงาน

แต่กรณีที่นายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างหยุดงานได้ เนื่องจากลักษณะงานที่ทำซึ่งถ้าหยุดงานจะเกิดความเสียหาย กรณีนี้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำจริง

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 63 และถ้านายจ้างฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 144 วันแรงงาน ก็คือวันหยุด ถ้านายจ้างให้มาทำงานก็ต้อง ได้ค่าล่วงเวลาน่าเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16007/2553

อย่างไรก็ตาม มาตรา 65 ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (3) (4) (5) (6) (7) (8) หรือ (9) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ

(1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง

(2) งานเร่ขายหรือชักชวนซื้อสินค้าซึ่งนายจ้างได้จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าให้แก่ลูกจ้าง

...

(3) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ

(4) งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ

(5) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ

(6) งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ

(๗) งานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้

(๘) งานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง

(๙) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง

(ภาพและข้อมูลจาก แฟนเพจ ทนายคู่ใจ)