ติงอย่าดึงหลักสูตรผลิตครู 4-5 ปีมาคิด
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาตรา 44 (ก) (3) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เรื่องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เนื่องจากขณะนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ว่า ตนยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว แต่เมื่อมีการยื่นเรื่องมาถึงตน ตนก็รับที่จะพิจารณาแต่ก็คงต้องดูก่อนว่าการตีความเรื่องดังกล่าว เป็นการตีความเรื่องกฎหมาย หรือเป็นการตีความเรื่องการปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น เรื่องการรักษาทางการแพทย์ มีการระบุว่าให้ยารักษาไม่เกิน 1 เดือน แต่ในรายละเอียดจะให้วันละกี่ครั้ง และให้เมื่อไร ควรที่จะถามคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือควรจะถามแพทย์ เป็นต้น ดังนั้นเรื่องนี้เมื่อเกิดความไม่ชัดเจนในจุดใดก็ต้องมีการหารือกันในจุดนั้นๆ
ด้าน นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ. กล่าวว่า เรื่องนี้คณะอนุกรรมการมาตรฐาน และคณะกรรมการคุรุสภาได้เห็นชอบแล้วว่า การปฏิบัติการสอนไม่ใช่แค่การปฏิบัติในปีสุดท้ายเท่านั้น สามารถฝึกปฏิบัติการสอนตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ได้ แต่ใจความสำคัญของเรื่องนี้ คือ ไม่ควรที่จะนำกระบวนการจัดการเรียนการสอน วิธีการ หรือข้อกำหนดต่างๆ ของหลักสูตรผลิตครู 5 ปี มาใช้ในการพิจารณาหลักสูตร 4 ปี เพราะทั้ง 2 หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนและวิธีการมีความแตกต่างกัน และในหลักสูตรผลิตครู 4 ปี แต่ละมหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทั้งหมด โดยใช้ฐานสมรรถนะเป็นหลัก
นายเอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า เมื่อมีการปรับหลักสูตรผลิตครูให้เป็น 4 ปี ทั้งการจัดการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติการสอนจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อบ่มเพาะความเป็นครูก่อนที่นักศึกษาจะไปยืนสอนหน้าชั้นเรียน อีกทั้งการฝึกปฏิบัติการสอนที่กำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้หลักสูตรใหม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องฝึกสอนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหากมหาวิทยาลัยต้องการที่จะผลิตหลักสูตร 5 ปี ก็ยังสามารถดำเนินการได้เพราะไม่ได้มีการยกเลิก แต่ประเด็นที่ตนต้องการที่จะสร้างความเข้าใจ คือ คนที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าเรียนกี่ปี แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการสอน ดังนั้นการที่เราจะสร้างคุณภาพครูจะต้องมีการปรับการเรียนการสอน.
...