ถกสนั่นโซเชียล หนุ่มถูกงูกัด คิดว่าถึงโรงพยาบาลแล้วปลอดภัย แต่กลับต้องเสียชีวิต ผู้เกี่ยวข้องตั้งคำถาม ทุกวันนี้มีกี่โรงพยาบาลที่พร้อมจะรับมือกับสถานการณ์แบบนี้
แฟนเพจเฟซบุ๊ก Snake Wrangler by Pinyo โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า ถ้าคุณถูกงูพิษกัด คุณจะไปโรงพยาบาลไหนดี .. ถึงจะไม่ตาย" ฟังดูแปลกๆๆ ใช่ไหม แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงมันไม่แปลก เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณตอนเที่ยงกว่า ได้มีเจ้าหน้าที่เขตสะพานสูงของ กทม. ทำงานลงพื้นที่ เห็นชาวบ้านนำงูเห่าที่แทงโดยฉมวกเข้ามาถามว่า "จะให้ .. เอาไหม" ได้คำตอบจากน้องคนหนึ่งว่า "ผมเอาครับ"
จากนั้นทำการปลดงูออกจากฉมวก แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ทันใดนั้นงูได้แว้งบิดคอเข้ากัดที่โคนนิ้วซ้ายหนึ่งเขี้ยว และพยายามใช้ปากดูดพิษ บริเวณรอยเขี้ยวพร้อมกับใช้ผ้ารัดเหนือบาดแผล และเอางูเห่านำมาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแถวถนนพัฒนาการ ซึ่งใกล้กับที่เกิดเหตุ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น และระหว่างนำส่งน้องยังพูดจาได้ปกติ ไม่มีอาการน่าเป็นห่วงใดๆ ซึ่งพวกเราก็คิดว่าถึงมือหมอแล้วน่าจะปลอดภัย และให้นอนรอสังเกตการณ์ จนอาการเริ่มแย่ลงมา รู้สึกหายใจไม่ออก จึงได้ย้ายเข้าห้อง ICU
...
สุดท้ายไม่สามารถยื้อชีวิตน้องได้ ขอแสดงความเสียใจกับน้องและทางครอบครับด้วยนะครับ จึงเกิดเป็นคำถามในใจว่า โรงพยาบาลมีเซรุ่มไหม? และหมอมีความรู้ความชำนาญการรักษาเกี่ยวกับการถูกงูพิษกัดไหม? เพราะทุกวันนี้มีกี่โรงพยาบาลที่พร้อมจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้กับสิ่งที่ไม่น่าจะให้เกิดความสูญเสีย และที่สำคัญมันดันเกิดขึ้นในพื้นที่ กทม.
ทางด้าน เฟซบุ๊ก Jarukit Thitiphornphong ได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวว่า ขออนุญาตตอบในฐานะแพทย์นะครับ ปกติการฉีดเซรุ่มแก้พิษงูนั้นจะให้ในกรณีที่มีอาการแสดงทั่วร่างกาย (ไม่ได้แสดงเฉพาะบริเวณที่โดนกัด) เพราะเซรุ่มที่ได้นั้นมีโอกาสแพ้สูง และก่อนให้ควรทดสอบอาการแพ้ก่อนครับ
ทั้งนี้ ในการให้เซรุ่มก็ไม่ได้ยืนยัน 100% ว่าจะสามารถช่วยผู้ป่วยได้ทั้งหมด แต่เพิ่มโอกาสจะลดความรุนแรงของพิษได้ ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ห้ามดูด กรีด นาบไฟบริเวณแผลที่ถูกกัด เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยขับพิษแล้วยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ และการบาดเจ็บอวัยวะนั้น ๆ ได้ครับ
แต่ให้ช่วยด้วยการพันบริเวณที่ถูกกัดให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุดเหมือนการดามกระดูก เพื่อลดการไหลเวียนเลือด (พร้อมทั้งบอกให้ผู้ป่วยอย่าตื่นตกใจ) การมัดเหนือแผลไม่ได้ช่วยให้พิษลามช้าลง แต่กลับทำให้บริเวณที่ถูกกัดมีอาการเฉพาะที่จากพิษมากขึ้น (โดยเฉพาะพิษงูที่มีการทำลายเนื้อเยื่อ)
อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยรายนี้ ผมไม่ทราบประวัติการรักษาใดๆ จึงไม่ขอเอ่ยถึงครับ สุดท้ายขอแสดงความเสียใจแก่ญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยครับ