การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นส่วนสำคัญในการ "สร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนของประเทศ" และเพราะการศึกษามีส่วนอย่างสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นโอกาสทางด้านการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งแม้ในประเทศไทยจะมีการปฏิรูปด้านการศึกษาแล้วระดับหนึ่ง แต่การด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสทางการศึกษา ยังเกิดกับคนไทย จำนวนไม่น้อย ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่อย่างหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ "การศึกษานอกระบบ-การศึกษาตามอัธยาศัย" จึงนับว่า "มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน"
ทั้งนี้ เรื่องการจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น ในประเทศไทยมี "สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย" หรือ กศน. เป็นหน่วยงานกลไกหลักในการดำเนินการ โดยมีพันธกิจคือ การจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้เหมาะสมทุกช่วงวัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง บริบททางสังคม และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนและประสานภาคีเครือข่ายในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งดำเนินกิจกรรมศูนย์การเรียนและแหล่งการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ

...
"สำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการที่มีความสำคัญ ที่สามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงกับความต้องการของบริบทพื้นที่ และตอบสนองตามยุทธศาสตร์ชาติ เรียนแล้วเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข และเรียนแล้วมีงานทำ" พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
จากรายงานผลการดำเนินงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของรัฐบาล ระหว่างปี 2557-2561 ได้ระบุถึงการดำเนินงานหลัก ๆ ของ กศน. ไว้ดังนี้คือ1. ประกันโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชากรวัยเรียนปกติทั่วไป เช่น จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มเป้าหมายนอกระบบที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ 3,446,448 คน เป็นต้น 2. สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชากรวัยเรียนกลุ่มด้อยโอกาสทางการศึกษา เช่น ประชากรวัยเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากลำบาก พื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เขตพื้นที่สูง เกาะ กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มประชากรวัยเรียนดังกล่าว ซึ่งในส่วนนี้ สำนักงาน กศน. มีโครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย

โครงการสนับสนุนเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ใน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน ลำปาง แพร่ พะเยา ราชบุรี กาญจนบุรี ลำพูน ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อ.คุระบุรี จ.พังงา จำนวนผู้เรียน 50,457 คน, โครงการส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มชาวเล ใน 10 อำเภอ 14 จังหวัด จำนวนผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 48 คน การศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตามอัธยาศัย 1,068 คน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ใน 18 อำเภอ 14 จังหวัด มีผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 904 คน กลุ่มบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ในปี 2561 ดำเนินการใน 55 จังหวัด มีผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1,578 คน การศึกษาต่อเนื่อง 8,172 คน อีกทั้ง กศน. ยังมีโครงการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของทหารกองประจำการ โดยมีจำนวน 55,283 คน รวมถึงได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพให้กับ กลุ่มแม่บ้านทหาร 399 หน่วยด้วย
3. สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักงาน กศน. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการ ใน 76 จังหวัด มีผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 11,424 คน การศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตามอัธยาศัย 6,892 คน, 4. สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชากรวัยเรียนกลุ่มเสี่ยงออกกลางคันและกลุ่มนอกระบบการศึกษา ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง - NO Child Left Behide" และข้อสั่งการของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ที่ให้ดำเนินการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 3-18 ปี กลุ่มที่ตกหล่นอยู่นอกระบบการศึกษา ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยใช้กลวิธี "เคาะประตูบ้านรุกถึงที่ลุยถึงถิ่น" เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ หาสาเหตุและความต้องการในการเรียนรู้ และจัดหาที่เรียน ทั้งในระบบ และนอกระบบ จนจบการศึกษา โดยให้มีการกำกับติดตามและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลนั้น พบ เด็กพิการ 25,681 คน เด็กปกติที่ไม่ได้เรียน 112,339 คน เด็กที่ออกกลางคัน 88,644 คน รวมทั้งสิ้น 226,664 คน และได้มีการนำกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบการศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2561 จำนวน 49,434 คน

5. จัดสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยทุนการศึกษา โดยมี โครงการทุนการศึกษาเด็กสภาวะยากลำบากในเขตพื้นที่สูงภาคเหนือ ตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชประสงค์จะให้เด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารพื้นที่สูงของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นพลเมืองดีของประเทศ โดยเป็นทุนให้เปล่าไม่มีเงื่อนไขผูกมัด ซึ่งสำนักงาน กศน. ได้จัดสรรทุนการศึกษาทุนละ 5,000 บาทต่อปีให้แก่ผู้เรียนกลุ่มเด็กชาวเขาพื้นที่สูงภาคเหนือที่มีฐานะยากจน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน พะเยา รวม 25,540 คน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ อาทิ โครงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านทีวีสาธารณะ (ติวเข้มเต็มความรู้) ทางสถานี ETV และสถานีโทรทัศน์อื่น ๆ, โครงการสร้างเครือข่ายดิจิทัลชุมชนระดับตำบล ดำเนินการร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, โครงการส่งเสริมการอ่าน เมืองนักอ่าน ห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด บ้านหนังสือชุมชน รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสด้านอาชีพ เช่น โครงการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บูรณาการร่วมกันระหว่าง กศน. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการฝึกอบรมทักษะอาชีพให้แก่ประชาชน ปี 2561 จำนวน 8,289 คน ปี 2562 (พ.ย. 2561 – ม.ค. 2562) มีผู้สนใจฝึกอบรมจำนวน 5,288 คน เปิดอบรม 63 หลักสูตร มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 2,020 คน

โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ฝึกอาชีพให้แก่ประชาชน เช่น ช่างพื้นฐานด้านต่าง ๆ โดยในปี 2561 ได้มีการจัดฝึกอาชีพให้ประชาชนจำนวน 849,914 คน, โครงการภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพ ในปี 2561 จัดฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้ประชาชนรวม 85,723 คน, โครงการพัฒนาอาชีพต่อยอดอาชีพประชากรวัยแรงงาน กลุ่มเป้าหมายพิเศษ และผู้สูงอายุ ดำเนินการให้สอดคล้องกับการพัฒนายุทธศาสตร์การผลิตกำลังคนของประเทศ ประชาชนสามารถพึ่งตนองได้ มีรายได้ มีอาชีพ มีทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพ มีผู้เข้ารับการพัฒนาทักษะอาชีพ 1,120 คน และกลุ่มอาชีพ 1,146 กลุ่ม (ผ่านการอบรม 22,934 คน)
ในพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงาน กศน. ก็มีการดำเนินการ โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะ มีสถาบันศึกษาปอเนาะที่เข้าร่วม 396 แห่ง ผู้เรียน 34,720 คน, โครงการฝึกอาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นจากพระราชหฤทัยห่วงใยประชาชนของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แนวทางการจัดการศึกษานั้นมุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียนเหล่านี้ออกไปประกอบสัมมาอาชีวะสร้างตนเอง ครอบครัว สังคม และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้ร่มพระบารมี โดยมีผู้เรียน 560 คน

โครงการเรียนรู้ภาษาเพื่อการสื่อสารสู่หมู่บ้านชายแดนใต้ เพื่อจะนำไปสู่สังคมสมานฉันท์และสันติสุข มีผู้เรียน 74,622 คน, โครงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ น้อมนำหลักปรัชญามงคลมาดำเนินงาน สร้างรูปธรรมในการดำเนินชีวิตตามวิถีการดำรงชีพที่สมบูรณ์ที่ยึดทางสายกลางของความพอดี มีผู้เรียน 3,973 คน, โครงการกีฬาสายสัมพันธ์ชายแดนใต้ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายเยาวชนนอกระบบโรงเรียนระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัดชายแดนใต้ เยาวชนนอกระบบ จำนวน 9,000 คน, โครงการลูกเสือ กศน.ชายแดนใต้ สำนักงาน กศน.จังหวัดชายแดนใต้ได้เห็นถึงความสำคัญของเยาวชนและกิจกรรมลูกเสือซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น โดยมีเยาวชนนอกระบบเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 9,084 คน
เหล่านี้คือตัวอย่างของ "สัมฤทธิผลในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย" ซึ่งทาง รมช.ศึกษาธิการ ระบุว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ก็เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งภาพรวมการดำเนินงานโดย สำนักงาน กศน. ที่เป็นหน่วยงานหลัก และบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน นั้น เป็นที่น่าพอใจ การดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในส่วนการ "สร้างโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชน"

"รวมถึงนำเด็กตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบได้ถึง 85% ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งองค์การยูเนสโก (UNESSCO) ชื่นชมว่าประเทศไทยเป็นตัวอย่างในการดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างดี และผลการดำเนินงานก็ได้รับเลือกให้นำเสนอในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 นี้ด้วย" พล.อ.สุรเชษฐ์ระบุ และว่า"การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย" ก็นับว่า "สำคัญมาก" สำหรับการ "ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" เพื่อการ "สร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนของประเทศ" ซึ่งนานาชาติต่างชื่นชมสนใจผลงานของประเทศไทย นี่ย่อมฉายภาพว่าประเทศไทยทำเรื่องนี้ได้ดี.
