มก.ชี้ยึดประโยชน์ชาติงานคล่องตัว

จากกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติส่งหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อคัดค้านการจัดตั้งกรมการอุดมศึกษาในกระทรวงที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนรู้สึกผิดหวังอย่างแรง เพราะเจตนารมณ์การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯมุ่งหวังว่าการอุดมศึกษาจะถูกยกระดับ มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ การออกแบบโครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงออกแบบให้มีกรมเพียงกรมเดียว โดยปรับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปทำหน้าที่ เพื่อให้กระทรวงใหม่มีความคล่องตัว การมีกรมการอุดมศึกษาจึงผิดหลักการที่ทำไว้แล้ว ซึ่งทราบว่าเป็นการเพิ่มในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทางฝั่งอุดมศึกษาบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็อยู่ สกอ.เดิมดีกว่า

ด้าน ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดี มทร. กล่าวว่า กลุ่ม มทร.รู้สึกไม่สบายใจที่จะมีกรมการอุดมศึกษาฯ จึงได้หารือกับกลุ่ม
ทปอ.และกลุ่ม ทปอ.มรภ. ซึ่งก็คิดแบบเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การทำงานติดกรอบราชการ ไม่คล่องตัว ทั้งนี้ วันที่ 21 ก.พ. กลุ่ม มทร.และกลุ่ม ทปอ. มรภ.จะยื่นหนังสือถึงประธาน สนช. และประธานกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมฯขอให้มีการทบทวน

ขณะที่ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สกอ.ควรจะปรับบทบาทไปเป็นสำนักงานปลัดกระทรวง เพียงหน่วยงานเดียวเพื่อให้สายการบังคับบัญชาสั้น เพราะมหาวิทยาลัยก็
มีสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นคณะกรรมการดูแลอย่างเข้มข้นในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อส่งเรื่องถึงสำนักงานปลัดก็มีบอร์ด หรือคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) อยู่ด้วย โดยมีสำนักงานปลัดทำหน้าที่เลขานุการของ กกอ. หากมีกรมการอุดมศึกษาขึ้นมาอีก สายการบังคับบัญชาจะยาวมากและทำให้ขั้นตอนการทำงานล่าช้า ทปอ.
จึงเห็นว่าไม่ควรต้องมี

...

“เมื่อเราจะมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ก็ควรถือโอกาสนี้พัฒนาให้เกิดระบบราชการรูปแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่น ผมเห็นว่ามหาวิทยาลัยและกระทรวงวิทย์เดิมในขณะนี้มีการบริหารงานที่เป็นอิสระก็น่าจะเป็นผู้นำร่องการบริหารงานรูปแบบใหม่” ดร.จงรัก กล่าวและว่า หวังว่าสมาชิก สนช.จะช่วยพิจารณาเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในการพัฒนาการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมจะได้ทำได้อย่างรวดเร็ว.